เมื่อแสงไฟรำไรอยู่ริมถนน อาจกลายเป็นภัยร้ายใจกลางเมือง ที่คุกคามกระบวนการสังเคราะห์แสงของพืช ทำใบต้นไม้เหนียว และแข็งขึ้น คุกคามวิถีชีวิตแมลงกินพืช
การศึกษาชิ้นใหม่โดยนักวิจัยจากสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสาร Frontiers in Plant Science ระบุว่าแสงประดิษฐ์ (Artificial Light) หรือแสงเทียมจากหลอดไฟที่ถูกเปิดใช้งานไว้ตลอดทั้งคืน อาทิ ไฟริมถนน ส่งผลให้ใบไม้แข็ง และเหนียวขึ้น ทำให้แมลงกินพืชกัดกันใบไม้ได้น้อยลง อีกทั้งยังปั่นป่วนกระบวนการสังเคราะห์แสงของพืช
Artificial Light กินความหมายถึง เทียน หลอดไฟ ตะเกียง เหล่านี้เป็นปัจจัยขั้นพื้นฐานที่ช่วยให้มนุษย์สามารถดำรงชีวิตได้ง่ายขึ้น แต่แน่นอนว่าเมื่อแสงเหล่ามีปริมาณมากเกินไป จนกระทั่งกลายเป็นมลภาวะทางแสง แสงเหล่านี้จะเป็นภัยทันที
ยกตัวอย่างเช่น นาฬิกาชีวภาพของสัตว์ถูกรบกวน ซึ่งส่งผลอย่างมากมายมหาศาล อาทิ รบกวนการสืบพันธุ์ของสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก ฝูงนกอพยพบินออกนอกเส้นทาง หรือแม้แต่หิ่งห้อยที่สื่อสารกันยากขึ้น เมื่ออยู่ท่ามกลางแสงเทียม
สิ่งที่นักวิจัยสังเกตเห็นคือทำไมใบของต้นไม้ในเมืองมีรอยแทะกินของแมลงน้อยกว่าใบของต้นไม้ที่โตอยู่นอกเมือง ด้วยเหตุนี้ นักวิจัยจึงเริ่มทำการศึกษาตัวอย่างใบต้นไม้ทั่วกรุงปักกิ่ง และตรวจวัดปริมาณแสงในบริเวณถนนหลัก 30 แห่ง
พร้อมเก็บตัวอย่างใบไม้ โดยเน้นไปที่ใบของต้นไม้ 2 ชนิด ได้แก่ ต้นเจดีย์ญี่ปุ่น (Styphnolobium japonicum) และต้นกรีนแอช (Fraxinus pennsylvanica) เก็บไปทั้งสิ้น 5,500 ใบ จากนั้นนำตัวอย่างใบไม้มาตรวจวัดขนาด ความเหนียว และความเข้มข้นของสารต่าง ๆ
สิ่งที่พบคือยิ่งบริเวณใดมีปริมาณแสงมาก ใบต้นไม้บริเวณนั้นจะเหนียว และแข็งขึ้น หมายความว่าใบไม้นั้นมีแมลงกินพืชมาแทะกินน้อยลง แตกต่างจากบริเวณที่มีปริมาณแสงน้อย ที่แมลงรุมแทะกินกันอย่างเอร็ดอร่อย
อย่างไรก็ตาม ทีมนักวิจัยยังไม่มีข้อสรุปต่อคำถามที่ว่าทำไมใบไม้ถึงแข็งขึ้น เมื่อต้องรับมือกับแสงไฟที่เปิดไว้ตลอดคืน แต่สันนิษฐานว่าแสงประดิษฐ์อาจไปปั่นป่วนกระบวนการสังเคราะห์แสงของพืช ให้มีระยะเวลานานกว่าปกติ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง