โลกทุบสถิติ (อีกแล้ว) ล่าสุด นักวิทยาศาสตร์ เปิดเผยว่า ฤดูร้อน 2023 ถือว่าร้อนสุดในรอบ 2000 ปี โดยทำการศึกษาจากวงแหวนต้นไม้ แต่อย่างไรก็ดี นักวิทยาศาสตร์ก็ออกมาแสดงความคิดเห็นว่า ไม่เห็นแปลกเลย...
“ต้นไม้บอกเราว่าปี 2023 นั้นมีอากาศที่ ‘อบอุ่น’ เป็นพิเศษ ดังนั้น ผมไม่แปลกใจเลย นี่เป็นหนึ่งในภัยคุกคามที่ยิ่งใหญ่ที่สุด”
ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ หรือ Climate Change เป็นสาเหตุให้ “ฤดูร้อน 2023” มีอากาศอบอุ่นมากที่สุดในรอบ 2000 ปี
เรื่องนี้ถูกนำเสนอโดยนักวิทยาศาสตร์ชื่อว่า เจน เอสเปอร์ ที่ตีพิมพ์บทความผ่านวารสาร Nature และศึกษาการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิโลกผ่าน "วงแหวนต้นไม้"
แม้เทคโนโลยีสมัยใหม่จะมีการวัดที่เที่ยงตรงและแม่นยำ แต่ความดีงามคือวงแหวนต้นไม้สามารถบอกอุณหภูมิโลกที่ต้นไม้พบเจอในแต่ละยุคสมัยได้ จะเรียกว่าเป็น “นักจดบันทึก” แห่งธรรมชาติก็คงไม่ผิดนัก
อย่างไรก็ตาม ต้นไม้ของแต่ละภูมิภาคก็เจออุณหภูมิต่างกัน สภาพแวดล้อมแตกต่างกัน แจน แอสเปอร์ ผู้เขียนการศึกษาในครั้งนี้จึงจำกัดการศึกษาวงแหวนต้นไม้ที่เจริญเติบโตในซีกโลกเหนือเท่านั้น (ระหว่างละติจูด 30 ถึง 90 องศาเหนือ)
การศึกษาชิ้นนี้ สรุปได้ว่า อุณหภูมิโลกช่วงเดือนมิถุนายน ปี 2023 ถือว่าร้อนที่สุดตั้งแต่มีการเริ่มจดบันทึกในช่วงทศวรรษ 1940s
ก่อนหน้านี้ ปี 2016 ถือเป็นปีที่ร้อนที่สุด ในปีนั้นมีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงขึ้น 2.2 องศา เมื่อเทียบกับอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกตั้งแต่ ค.ศ. 1 – 1890s แต่สถิตินี้ก็ถูกโค่นลงเมื่อปีที่แล้ว เพราะการศึกษาชิ้นนี้นำเปิดเผยว่าฤดูร้อน 2023 มีอุณหภูมิสูงกว่า ปี 2016 ราว 0.5 องศา
บรรดานักวิทยาศาสตร์ออกมาแสดงความคิดเห็นถึงการค้นพบนี้ในเชิงว่า “ไม่แปลกใจ...เท่าไหร่” เพราะด้วยอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปี 2023 ที่พุ่งสูงกว่า 4 หมื่นล้านเมตริกตัน หากโลกจะร้อนทุบสถิติก็คงจะเป็นปี 2023 นี่แหละ สมเหตุสมผลแล้ว
ประกอบกับที่สำนักงานบริการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโคเปอร์นิคัสของสหภาพยุโรป ที่เปิดเผยว่า ปี 2023 มีแนวโน้มสูงมากที่จะเป็นปีที่ร้อนที่สุดในรอบ 1 แสนปี
ศาสตราจารย์ เอสเปอร์ ก็กล่าวทิ้งท้ายว่า ยังคงต้องรวบรวมข้อมูลวงแหวนต้นไม้เพิ่มเติม เพื่อสร้างแบบแผนระบุอุณหภูมิให้ชัดเจน ครอบคลุม เป็นระบบ และที่สำคัญต้องมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ยืนยันได้
ที่มา: Nature, Scientificamerican
ข่าวที่เกี่ยวข้อง