SHORT CUT
ด่ากันแบบไหน ถึงร้ายแรงเกินไปในสังคมทำงาน หรือหัวข้อคำหยาบแบบไหนที่ควรหลีกเลี่ยง หากไม่อยากสร้างศัตรูในที่ทำงาน
ในโลกของการทำงานที่เหมือนสนามรบเกือบทุกวัน การสื่อสารระหว่างเพื่อนร่วมงานจึงต้องรวดเร็ว เข้าใจง่าย ตรงไปตรงมา เพื่อให้ทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
แต่เมื่อไหร่ที่การสื่อสารมี ‘คำหยาบ’ ปนอยู่ด้วย ไม่ว่าจะตั้งใจ หรือไม่ตั้งใจ ผู้ฟังย่อมเกิดความสงสัยถึงเจตนาของผู้ที่พูดคำนั้นออกมาแน่นอน บางคนอาจมองว่าการใช้คำหยาบเป็นการแสดงออกถึงความจริงใจและความเป็นกันเอง ในขณะที่บางคนอาจมองว่า เป็นการสร้างความไม่พอใจและทำให้บรรยากาศในที่ทำงานแย่ลง
แต่ไม่ว่าจะต่างคนต่างคิดขนาดไหน ปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘คำหยาบคาย’ กลายเป็นเรื่องธรรมดามากขึ้นในชีวิตประจำวันที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในที่ทำงานไปแล้ว โดยในปี 2023 ผู้เข้าร่วมการสำรวจของ LinkedIn กว่า 30 % ยอมรับว่าพูดคำหยาบตลอดเวลาในที่ทำงาน อีกกรณีหนึ่ง พบว่าพนักงานในสหราชอาณาจักรโดยเฉลี่ยได้ยินคำหยาบประมาณ 11 คำต่อวัน
แม้คำหยาบจะดูไม่ดี แต่ผลกระทบ และความหมายของมันก็เป็นสิ่งที่คลุมเครือและไม่สามารถอธิบายด้วยบรรทัดฐานเดียวกันได้ ยกตัวอย่างเช่น คนหนึ่งอาจพูดว่า "ไอ้โง่" หรือ 'อีตอแหล' ใส่อีกคนหนึ่งในที่ทำงาน สามารถเป็นได้ทั้งคำดูถูกเพื่อนร่วมงาน และคำแสดงถึงความสนิทสนมในที่ทำงานได้เช่นกัน
ในหลายสังคมที่มีลักษณะการทำงานเคร่งเครียด และกดดันสูง เช่น ร้านอาหาร งานธนาคาร วงการบันเทิง ฯลฯ มีการปลูกฝังค่านิยม "ยิ่งใช้คำหยาบคายยิ่งสนุก" มาตลอด เพราะเป็นวิธีแสดงออกถึงอารมณ์และความรู้สึกอย่างชัดเจน สามารถเห็นได้จากตัวอย่างเช่น เชฟชื่อดังอย่าง ‘กอร์ดอน แรมซีย์ (Gordon Ramsay) ’ ที่พูดว่า “การด่าเป็นภาษาอุตสาหกรรม ตราบใดที่ยังมีชีวิตอยู่ มันจะไม่เปลี่ยนแปลง’ ซึ่งนิสัยชอบด่ากราดแบบไม่รักษาน้ำใจคนอื่นนี้เอง ที่สร้างเครื่องหมายการค้าให้ตัวเขามาตลอด
ในสังคมออฟฟิศก็เช่นกัน การใช้คำหยาบก็เป็นที่ยอมรับมากขึ้น โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่เคร่งเครียด ดูได้จากละคร ซิตคอมเกี่ยวกับหนักงานออฟฟิศทั้งหลายที่ต้องใช้คำหยาบเพื่อสื่อสารอารมณ์ ส่วนในโลกความจริง หากมีพนักงาน 1 คน ใช้คำหยาบในที่ทำงานอยู่เรื่อยๆ จะบีบให้ทุกคนรอบตัวใช้คำหยาบเพิ่มขึ้นโดยอัตโนมัติ เพราะพวกเขามองว่า เป็นบุคลิกที่ต้องรักษาไว้เพื่อที่จะเข้ากับวัฒนธรรมองค์กร หากไม่ทำจะดูแปลกแยกทันที
อ้างอิงการวิจัยของ BBFC (คณะกรรมการจัดประเภทภาพยนตร์แห่งอังกฤษ) พบว่ามีความแตกต่างอย่างชัดเจนระหว่างแต่ละเจเนอเรชัน โดย 46% ของกลุ่ม Gen Z คำหยาบทุกวัน ขณะที่มีเพียง 12% ของ Gen X เท่านั้น ที่พูดคำหยาบทุกวัน
ข้อมูลข้างต้น สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่ว่า แรงงานเริ่มมีอายุน้อยลง การใช้คำหยาบจึงมีแนวโน้มที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการสื่อสารในองค์กร ตามพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงในรูปแบบการทำงานหลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังส่งผลให้เกิดการผสมผสานระหว่างชีวิตส่วนตัวและชีวิตการทำงานมากขึ้น เนื่องจากหลายคนทำงานจากระยะไกลหรือต้องทำงานนอกเวลาทำการปกติ
การใช้คำหยาบไม่เพียงแต่เป็นการแสดงออกถึงความหยาบคายที่เป็นแง่ลบเท่านั้น แต่ในหลายโอกาสยังสามารถใช้เพื่อสร้างความสัมพันธ์และแสดงความเป็นตัวตนที่แท้จริงในกลุ่มเพื่อนร่วมงานได้
‘อเล็กซ์ อัลวาเรซ (Alex Alvarez)’ นักวิทยาศาสตร์ด้านการศึกษามนุษย์ จาก Culture Amp กล่าวว่า การสบถกับเพื่อนร่วมงานที่รู้ใจกันสามารถสร้างความใกล้ชิดทางจิตใจได้ และสร้างบรรยากาศที่ทำให้ผู้คนรู้สึกสะดวกสบายในการแสดงออกถึงตัวตนของตนเอง การได้ยินเพื่อนร่วมงานแสดงความรู้สึกอย่างตรงไปตรงมาอาจช่วยให้เราเห็นพวกเขาในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่มีข้อบกพร่อง
อย่างไรก็ตาม ควรใช้คำหยาบในกลุ่มเพื่อนร่วมงานที่ไว้ใจได้ มากกว่าใช้แบบไม่ระมัดระวังกับผู้ที่เป็นหัวหน้า
สิ่งที่ต้องระวังคือ การใช้คำหยาบในลักษณะที่เกินขอบเขตหรือก้าวร้าวสามารถสร้างปัญหาได้ เช่นทำให้เกิดความตึงเครียดหรือทำสร้างความเป็นศัตรูระหว่างกัน
โดยคำหยาบ คำด่า และมุกตลกที่ไม่ควรพูดในออฟฟิศคืออะไรก็ตาม ที่เกี่ยวข้องกับ ‘การล้อเลียนศักดิ์ศรีของบุคคล’ เช่นการกล่าวถึง เชื้อชาติ เพศ อายุ หรือความพิการ ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่ควรเป็นหัวข้อในการหยอกล้อกัน และถ้าพูดออกไป ไม่ว่าจะพูดเล่นหรือจริงจัง ผู้ฟังอาจไม่พอใจ และสูญเสียความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันไปตลอดกาล และเวลานั้นคำขอโทษก็คงไม่ช่วยให้สถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติได้
แม้หลายบริษัทจะมีการสร้าง รายชื่อคำที่ “ห้ามใช้” ภายในองค์กรแปะเอาไว้ แต่มันก็เป็นเรื่องยากที่ทุกคนจะปฏิบัติตามเหมือนกันหมด ดังนั้นหนทางง่ายที่สุดที่ผู้เชี่ยวชาญแนะนำคือ คำหยาบคายในที่ทำงานควรใช้ด้วยความระมัดระวัง และใช้ในกลุ่มเล็กๆ ที่ไว้ใจได้เท่านั้น เพื่อป้องกันความแตกแยกหรือทำให้ผู้อื่นขุ่นเคือง หรือดีที่สุดคือ เอาไว้ใช้กับเพื่อนหลังเลิกงานตอนสังสรรค์ในผับบาร์ นั่นแหละดีที่สุดแล้ว
ที่มา : independent
ข่าวที่เกี่ยวข้อง