ฟินแลนด์ส่งเสริมการอ่านผ่านห้องสมุดฟรีทั่วประเทศ พร้อมงบสนับสนุนจากรัฐ ทำให้ประชาชนเข้าถึงหนังสือได้โดยไม่เสียเงินสักบาท
เราพร่ำสอนกันว่า “หนังสือคือเครื่องมือพัฒนาคน” และ “การอ่านคือรากฐานของทุกสิ่ง” แต่กลับมีคำปรามาสว่า “คนไทยอ่านหนังสือปีละ 7 บรรทัด” บ้างสวนกลับว่า “ถ้าค่าแรงขั้นต่ำยังเท่าเดิม ไม่ต้องพูดถึงหนังสือหรอก มันแพงมาก” ล้วนจริงทุกประการ แต่กล่าวเท่านี้ยังไม่พอ
ถ้ามองในมุมเศรษฐกิจ หนังสือแพง อาจเป็นเพราะรายได้คนไทยยังไปไม่ถึงไหนหรือไม่? จากการสืบค้นข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ระหว่าง 2556-2564 รายได้ครัวเรือนคนไทย 25,000 บาท เป็น 27,000 บาทเท่านั้น ค่าแรงขั้นต่ำขึ้นปีละหลักหน่วยหลักสิบ หนังสือคือสินค้าฟุ่มเฟือยทันที
เมื่อหนังสือแพง ธุรกิจหนังสือเคยออกมาแจกแจงให้ดูแล้วว่าต้นทุนของหนังสือ 1 เล่ม มันเท่าไหร่ ค่าตรวจ ค่าแปล ค่าต้นฉบับ ค่าจ้างบรรณาธิการ หรือค่าพิมพ์ เป็นต้น รัฐ/เอกชน สามารถวางมาตรการเข้ามาช่วยในเหลือในส่วนใดได้บ้าง หรือควรมีงบสำหรับแปลหนังสือต่างประเทศเป็นภาษาไทยหรือไม่
สอบถามทุกคน คุณคิดว่ารัฐ/เอกชนสนับสนุนอุตสาหกรรมหนังสือมากพอหรือยัง ? หรือโลกมันเปลี่ยนไปสู่ดิจิทัลแล้ว การอ่านหนังสือมิใช่ Skill สำคัญในศตวรรษที่ 21 อีกต่อไป
ผายมือไปที่ฟินแลนด์ ประเทศที่ผู้คนอ่านหนังสือปีละ 16 เล่ม (ปัจจุบันลดเหลือ 6 เล่มต่อปี) รู้หรือไม่ว่า เดิมทีฟินแลนด์เมื่อ 100 กว่าปีก่อน เพิ่งได้เอกราชจากสวีเดนมาสด ๆ ล้าหลังกว่าไทยเสียอีก แต่ปักธงชัดว่าต้องเอาดีด้านการศึกษา และต้องปลูกฝังให้ประชาชนรักการอ่านหนังสือ กระทั่งพลิกประเทศผู้เป็นเลิศด้านการศึกษา
บทความชิ้นนี้จะพาไปไล่ดูการสนับสนุนประชาชนให้อ่านหนังสือของฟินแลนด์ ประเทศที่เคยล้าหลังกว่าใครเขา ทำไมถึงสามารถปลูกฝังวัฒนธรรมการอ่านให้ประชาชนได้ และย้อนกลับมองไทย !
คนฟินแลนด์ไม่มีปัญหาหนังสือถูกแพง เพราะรัฐบาลได้จัดตั้ง “ห้องสมุดสาธารณะ” กระจายอยู่ 723 แห่งทั่วประเทศ มีงบประมาณจากรัฐและเทศบาลท้องถิ่นหล่อเลี้ยง แถมระบบห้องสมุดเชื่อมต่อกันทั่วประเทศ อยากได้หนังสือเล่มใด สามารถส่งมาจากสาขาอื่นได้ (ฟรี)
ไม่กี่ปีมานี้ ฟินแลนด์ใช้งบประมาณลงทุนกับห้องสมุดมากถึง 320 ล้านยูโร 1.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งเงินก้อนนี้ก็จะถูกเจียดไปให้กับการจัดหาหนังสือใหม่ ๆ หลากหลายหมวด วรรณกรรม Non-fiction ประวัติศาสตร์ อาหาร หนัง เพลง หนังสือสำหรับเด็ก หนังสือแปล ฯลฯ ทั้งยังนำไปพัฒนาเจ้าหน้าที่ การประชาสัมพันธ์ พัฒนาพื้นที่ห้องสมุด เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีรถห้องสมุดราว 153 คัน ที่จะขับไปต่างจังหวัดไกลปืนเที่ยง เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนได้เข้าถึงหนังสือ หนังสือไปเคาะประตูหาคนฟินแลนด์ถึงบ้าน นั่นจึงก่อเกิดเป็นนิสัย หยั่งรากเป็นวัฒนธรรมของชาวฟินแลนด์
ลองจินตนาการทุกจังหวัดทั่วไทย มีห้องสมุดสาธารณะ (ที่ไม่ใช่แค่เก็บหนังสือ) ที่มีการประชาสัมพันธ์ มีการสร้างคอนเทนท์ดึงดูดใจ ให้ผู้คนอยากใช้เวลาอ่านหนังสือ ไม่เสียค่าใช้จ่าย แม้เป็นไปไม่ได้ที่ประเทศไทยจะพลิกผันในชั่วข้ามปี แต่อย่างน้อยควรทำให้หนังสือกลายเป็นสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่ประชาชนทุกคนได้รับทั่วกัน
ผลลัพธ์การปลูกฝังวัฒนธรรมรักการอ่านสะท้อนออกมาให้เห็นอย่างสิ้นสงสัย ฟินแลนด์มีอัตราการอ่านออกเขียนได้เต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ของประชากร นี่ก็ตอบทุกอย่างได้แล้ว อยากจะทิ้งท้ายไว้ด้วยท่อนหนึ่งจากรัฐธรรมนูญของประเทศฟินแลนด์ ความว่า
“ทุกคนต้องได้รับเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งศาสตร์ ศิลป์ และการศึกษา”
ที่มา:
ข่าวที่เกี่ยวข้อง