การมีความสุขในชีวิตในปัจจุบัน ไม่จำเป็นต้องรอรวยก่อน รอเกษียณ หรือต้องประสบความสำเร็จก่อนถึงจะมีความสุขได้ เราสามารถมีความสุขภายใต้เงื่อนไขของชีวิตในปัจจุบัน ผ่านการงานที่เราทำอยู่
เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินแนวคิด “อิคิไก” แปลเป็นไทยว่า “จุดมุ่งหมายของการมีชีวิตอยู่” เป็นปรัชญการดำเนินชีวิตแบบดั่งเดิมของชาวญี่ปุ่นที่มองเห็นคุณค่าแท้จริงและสิ่งดีๆ ในตัวเองทำให้มีความพึงพอใจกับชีวิตของตัวเอง
เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมากระแสของปรัญชา “อิคิไก” ถูกพูดถึงกันมาก มีหนังสือออกมาอยู่หลายเล่ม ทุกเล่มล้วนแต่เขียนถึงการมีความสุขในชีวิตในปัจจุบัน ไม่จำเป็นต้องรอรวยก่อน รอเกษียณ หรือต้องประสบความสำเร็จก่อนถึงจะมีความสุขได้ เราสามารถมีความสุขภายใต้เงื่อนไขของชีวิตในปัจจุบัน ผ่านการงานที่เราทำอยู่ สามารถมีสมดุลชีวิตที่หลายคนเรียกว่า Work-Life Balance ผ่านการทำความรู้จักตัวเอง เพื่อค้นความหมายของการมีชีวิตอยู่
เคน โมงิ (Ken Mogi) เจ้าของผลงานหนังสือชื่อ “อิคิไก ความหมายของการมีชีวิตอยู่” พูดถึง อิคิไก ว่าประกอบด้วย
เสา 5 ต้นนี้หมายถึงการทำงานหรือกิจกรรมใดๆ ก็ตามแล้วรู้สึกเพลิดเพลิน ลืมวันเวลาแม้จะเป็นเรื่องเล็กๆ แต่เมื่อทำแล้วกลับรู้สึกได้ปลดปล่อยตัวเอง มีความสุขที่ได้ทำสิ่งนั้น โดยไม่คำนึงถึงค่าตอบแทนหรือคำชมเชยยอมรับจากผู้อื่นซึ่งเป็นแรงจูงใจภายนอก อีกนัยหนึ่งคือตัวกิจกรรมที่ทำนั้นเป็นแรงจูงใจด้วยตัวของมันเอง นอกจากนี้เคน โมงิยังบอกว่าเสาหลักทั้ง 5 ต้นนี้ไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นตามลำดับ เกิดข้อไหนขึ้นก่อนก็ได้ หรือจะเกิดขึ้นพร้อมกันหมดก็ได้
อิคิไก วิถีชีวิตเรียบง่ายสไตล์ญี่ปุ่น หนังสืออิคิไกอีกเล่มที่เขียนโดย เอ็กตอร์ การ์เซีย (Hector Garcia) และฟรานเซสค์ มิราเยส (Francese Miralles) 2 นักเขียนชาวสเปนที่ศึกษาปรัชญาอิคิไกจากหมู่บ้านโอะกิมิทางตอนเหนือของเกาะโอะกินะวะซึ่งเป็นชุมชนที่มีประชากรอายุเกิน 100 ปีจำนวนมาก พูดถึงอิคิไกว่าเป็น “ความสุขอันเกิดจากการมีอะไรให้ทำตลอดเวลา”
ในหนังสือเล่มนี้มีหลายประเด็นที่น่าสนใจ ในบทความนี้จะเขียนเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวกับการทำงานและการใช้ชีวิตอย่างสมดุล หรือ Work-Life Banace เท่านั้น นั่นคือ การมีสมาธิกับทุกสิ่งที่ทำ และ หัวใจที่ไม่ยอมแพ้กับวะบิซะบิ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปรัชญาญี่ปุ่นที่พูดถึง “ความงดงามในความไม่สมบูรณ์แบบ” และเชื่อในความสุขที่เรียบง่ายโดยเอาสิ่งที่ไม่จำเป็นออกไป
การมีสมาธิจดจ่อกับสิ่งที่ทำคงไม่ต่างกับหลักการเสา 5 ต้นของเคน โมงิ ที่พูดถึงความสอดคล้อง ยั่งยืนและการได้ปลดปล่อยตัวเอง แน่นอนว่างานที่เราทำเลี้ยงชีพสามารถช่วยให้เราได้ปลอดปล่อยความเป็นตัวเอง แถมยังสอดคล้องกับวิถีชีวิต คุณค่า ความเชื่อของตัวเราเอง ย่อมทำให้เรามีความสุขและสามารถทำได้อย่างต่อเนื่องแบบลืมวันลืมคืน และที่ไม่มีกำหนดอายุเกษียณ ทำต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าเราจะทำไม่ไหว หรืออยากตื่นขึ้นมาทำงานทุกวัน เพราะเป็นงานที่ทำแล้วเพลิดเพลิน มีความสุข และยังทำให้เรามุ่งมั่นปรับปรุงพัฒนาการทำงานนั้นให้ดียิ่งขึ้นด้วยหัวใจที่ไม่ยอมแพ้อีกด้วย
แต่ไม่ใช่ทุกคนจะโชคดีที่จะได้ทำงานที่เป็น “อิคิไก” ของตัวเองหรือแย่กว่านั้นหลายคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่า “อิคิไก” ของตัวเองคือะไร
ปี 2014 ไลฟ์โค้ชชื่อมาร์ค วินน์ (Marc Winn) นำแนวคิดอิคิไกมาประยุกต์ใช้กับการเลือกงาน เลือกอาชีพบนเวที TED Talk ด้วยแผนภาพวงกลม 4 วงเป็นตัวแทนของสิ่งที่เราต้องค้นหาเพื่อหาอาชีพหรือรายได้ที่เหมาะกับอิคิไกของเรา ดังนี้
วงที่ 1: สิ่งที่เรารัก
วงที่ 2: สิ่งที่เราทำได้ดี
วงที่ 3: สิ่งที่ประโยชน์และโลกต้องการ
วงที่ 4: สิ่งที่พร้อมมีคนจ่ายเงิน
จะได้เห็นว่าวงที่ 1 และวงที่ 2 เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับตัวเรา สิ่งที่เราชอบ เรารักและมีทักษะความสามารถ ทำได้ดี เรารู้ได้จากการทบทวนสำรวจตัวเองอย่างพินิจพิจารณา ซึ่งสามารถใช้เทคนิค AAR (อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่) และเครื่องมือ PMI (อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่)
เมื่อเราหาพื้นที่ที่ซ้อนกันของ 2 วงนี้เจอว่ามีงานอะไรที่ถนัด ทำได้ดี และชอบทำ ทำได้แบบลืมวันลืมคืน มีสมาธิจดจ่อลื่นไหลเป็นธรรมชาติ เหมือนได้ปลดปล่อยตัวเองแล้ว ก็มาพิจารณาหาวงที่ 3 และ 4 นั่นคือเราจะใช้ทักษะและความสามารถนั้นให้เป็นประโยชน์ได้อย่างไร และมีใครยินดีจ่ายเงินเพื่อทักษะนี้บ้าง นั่นคือวงที่ 3 และ 4 ตามลำดับ มาร์ค วินน์ (Marc Winn) ให้ความหมายของพื้นที่ตรงกลางที่ซ้อนทับกันทั้ง 4 วงนี้ว่าเป็น “อิคิไก” ตามตัวอย่างในรูปด้านล่าง
ตัวอย่างเช่น ทักษะที่ผู้เขียนทำได้ดีมีความชำนาญ (วงที่ 1) และชอบมากๆ (วงที่ 2) คือการสัมภาษณ์ ซึ่งปกติแล้วจะใช้ทักษะนี้กับการสัมภาษณ์พนักงานเข้าทำงาน สร้างความสนิทสนมกับผู้ถูกสัมภาษณ์ได้รวดเร็ว ทำให้ไม่ประหม่ากับการตอบคำถาม ทักษะนี้มีประโยชน์ตรงที่ช่วยให้เราได้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับของคนๆ นั้น (วงที่ 3)
ทักษะนี้มีใครต้องการบ้าง มีใครยินดีจ่ายเงินบ้าง (วงที่ 4) นอกจากนายจ้างแล้วก็มีนักวิจัยที่ต้องการเก็บข้อมูลเชิงลึก งานหนังสือหรือคอนเท้นต์ที่ต้องสัมภาษณ์เพื่อเขียนบทความหรือทำคลิป VDO เป็นต้น ก็ยังจำเป็นต้องใช้การสัมภาษณ์ลักษณะนี้
การค้นหาพื้นที่ซ้อนทับกันของวงกลมทั้ง 4 วงเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและต้องใช้เวลา รวมถึงต้องให้โอกาสตัวเองได้ทดลองทำอะไรใหม่ๆ เพื่อขยายพื้นที่ในวงที่ 1 และ 2 ยิ่งพื้นที่ 2 วงนี้มีมากเท่าไหร่ก็ย่อมทำให้มีโอกาสที่จุดตรงกลางซ้อนทับกันในพื้นที่ทั้ง 4 วงขยายใหญ่มากขึ้น
ตอนผู้เขียนเริ่มทำงานเขียนเพราะคิดว่าเป็นงานที่ต่อยอดจากงานสัมภาษณ์ได้ดี จึงได้ทดลองทำดูและพบว่าเป็นอีกงานหนึ่งที่เป็นอิคิไกของตัวเอง ถึงแม้ไม่ได้เป็นงานที่ถนัดเหมือนงานสัมภาษณ์แต่เป็นงานที่ค่อนข้างชอบ ซึ่งความจริงแล้วความถนัดเป็นเรื่องของทักษะจำเป็นต้องอาศัยเวลาฝึกฝน เดิมที่ทำหน้าที่สัมภาษณ์เพียงอย่างเดียวและส่งไม้ต่อให้เพื่อนนักเขียนทำงานต่อ
ปัจจุบันสามารถรับงานเขียนพร้อมสัมภาษณ์และและลำดับเนื้อหาคลิป VDO กลายเป็นความสุขจากการทำงานตามนิยามของเอ็กตอร์ การ์เซีย (Hector Garcia) และฟรานเซสค์ มิราเยส (Francese Miralles) ที่บอกไว้ในหนังสืออิคิไก วิถีชีวิตเรียบง่ายสไตล์ญี่ปุ่น ว่า “ความสุขอันเกิดจากการมีอะไรให้ทำตลอดเวลา” แถมยังได้เงินอีกด้วย การทำงานและการใช้ชีวิตจะกลายเป็นหนึ่งเดียวกันโดยไม่จำเป็นต้องบาลานซ์ระหว่างการทำงานและการใช้ชีวิตอีกต่อไป
เพชร ทิพย์สุวรรณ
อดีต Corporate HR ที่ชอบเม้ามอยเทคนิคและเคล็ดลับการทำงานผ่านตัวหนังสือ
ปัจจุบันเป็นวิทยากรและที่ปรึกษาด้านการคัดเลือก พัฒนาบุคคลากรของ ALERT Learning and Consultant
บทความอื่นที่น่าสนใจ