SHORT CUT
จุฬาฯ ระดมผู้เชี่ยวชาญ ชวนสังคมเข้าใจ PM2.5 วิกฤตมลพิษทางอากาศที่ควรรีบแก้ ไม่งั้นจะเป็นมะเร็งกันถ้วนหน้า ในงานเสวนา Chula the Impact ครั้งที่ 30 จุฬาฯ ระดมคิด พลิกวิกฤต PM2.5
วันที่ 29 ม.ค. 2568 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานเสวนาทางวิชาการ Chula the Impact ครั้งที่ 30 ภายใต้หัวข้อ “จุฬาฯ ระดมคิด พลิกวิกฤต PM2.5” ณ เรือนจุฬานฤมิต ระดมผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขาร่วมแลกเปลี่ยนความรู้และนำเสนองานวิจัย เพื่อเป็นฐานในการขับเคลื่อน สื่อสารชี้นำสังคม และสนับสนุนมาตรการ นโยบายการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ ลดผลกระทบจากฝุ่น PM2.5 ซึ่งเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลต่อสุขภาพของประชาชน
เสวนา Chula the Impact ครั้งที่ 30 "จุฬาฯ ระดมคิด พลิกวิกฤต PM2.5"
อ.ดร.พญ.ภัทราวลัย สิรินารา ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกัน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ตนของยืนยันว่า PM2.5 มีผลต่อสุขภาพจริง อ้างอิงได้จากงานวิจัยทั่วโลกจำนวนมาก ที่ยืนยันผลตรงกันว่า PM2.5 มีผลกระทบต่อสุขภาพทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง ตัวอย่าง ผลกระทบเฉียบพลันจาก PM2.5 เช่น อาการระคายเคืองตา ไอแห้ง เจ็บคอ หายใจไม่สะดวก ผื่นคันตามตัว ผลกระทบเรื้อรัง เช่น หอบหืดกำเริบ หลอดลมอักเสบ มะเร็งปอด โรคหัวใจ อัลไซเมอร์ นอกจากนี้ PM2.5 เมื่อเข้าไปในร่างกายจะไปทำให้เซลล์ของร่างกายอักเสบบ่อย ๆ จนความสามารถในการซ่อมแซมของยีนส์เปลี่ยนแปลงไปจนกลายเป็นมะเร็งในที่สุด
อ.ดร.พญ.ภัทราวลัย สิรินารา ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกัน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ
นอกจากนี้ จากงานวิจัยพบว่า ฝุ่น PM2.5 ในกรุงเทพฯและปริมณฑลมีโลหะหนักที่เป็นสารก่อมะเร็ง เช่น สารหนู แคดเมียม และโครเมียมในปริมาณค่อนข้างสูง ซึ่งสารเหล่านี้ล้วนเพิ่มความเสี่ยงต่อมะเร็งปอด จึงอยากแนะนำให้ประชาชนใส่หน้ากาก N95 หรือสูงกว่าเพื่อป้องกัน และหลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้งเมื่อค่าฝุ่นอยู่ในระดับสูง
อย่างไรก็ตาม อาจารย์ ภัทราวลัย ยังเสนอเพิ่มว่า ประเทศไทยใช้ค่า cutoff ของ PM2.5 ที่ปลอดภัยมานานที่ <50 mcg/m3 และเพิ่งปรับเป็น <37.5 mcg/m3 ในปี 2566 แต่จากงานวิจัยพบว่า หากเราลดค่า cutoff ลงเท่าเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลกที่ <15 mcg/m3 จะช่วยลดอัตราการเกิดมะเร็งในประชาชนไทยได้ถึง 44% และหากลดลงมาอยู่ที่ <25 mcg/m3 ก็ยังช่วยลดอัตราการเกิดมะเร็งได้ 17%
รศ.ดร.ศิริมา ปัญญาเมธีกุล ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า การแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศต้องเริ่มต้นจากการตรวจวัดและวิเคราะห์ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ เพื่อให้เข้าใจต้นเหตุของปัญหา และต้องมีการแก้ไขที่แหล่งกำเนิด ควบคู่ไปกับการจัดการแบบบูรณาการในทุกมิติ เพราะแต่ละแหล่งกำเนิดมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากมาย การจัดการแบบแยกส่วนจะไม่ได้ผล นอกจากนี้ควรเป็นการจัดการที่มีส่วนร่วมจากชุมชน และมีตัวชี้วัดที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม
รศ.ดร.ศิริมา ปัญญาเมธีกุล ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ
อาจารย์ ศิริมา เน้นย้ำว่า ภาครัฐต้องมีความตั้งใจจริงในการแก้ปัญหาโดยคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญและต้องกำหนดกรอบเวลาการดำเนินงานที่ชัดเจน เพื่อให้การแก้ปัญหาเกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ
“ปัญหา PM2.5 ไม่ได้มีแค่ในกรุงเทพ กรุงเทพไม่ใช่ประเทศ ดังนั้น ก็อยากให้กระจายแนวทางการแก้ไขปัญหาหรือมาตรการไปยังพื้นที่อื่นๆ ด้วย”
“นอกจากนี้ เราต้องให้เครดิตภาคประชาสังคมและนักวิชาการโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ ที่เค้าได้รับผลกระทบและผลักดันเรื่องนี้มา 10-20 ปีแล้ว ในกทม. เพิ่งตระหนักและเริ่มรับรู้ในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา พอเกิดการผลักดัน มีกฎหมาย ก็แปลว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ต้องทำตามมาตรฐานที่ตั้งไว้”
“ตอนนี้เรารู้แหละว่า PM2.5 มันกระทบอย่างไรบ้าง แต่มลพิษทางอากาศ เรื่องฝุ่นมีความน่าสนใจตรงที่ว่า มันมีความแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ แต่ละช่วงเวลา ฉะนั้นเรื่ององค์ประกอบก็สำคัญมาก ที่จะช่วยให้หน่วยงานรัฐ แกไขที่แหล่งกำเนิดได้เหมาะสม แต่ไม่ใช่ว่า ให้แก้เฉพาะช่วงเวลานั้น ๆ แต่ต้องทำทั้งปี มาตรการต้องมีทั้งปี เพราะผลกระทบไม่ได้มีเฉพาะเรื่องสุขภาพ แต่ยังมีเรื่องสังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ สิ่งเหล่านี้ไปพร้อมกันหมดเลย” รศ.ดร.ศิริมา ปัญญาเมธีกุล ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าว
รศ.ดร.ทรรศนีย์ เจตน์วิทยาชาญ ผู้อำนวยการหลักสูตรสหสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า วิกฤตฝุ่น PM2.5 ที่มีค่าสูงต่อเนื่องหลายวันในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา สาเหตุการเกิดฝุ่นสามารถอธิบายด้วยหลักวิทยาศาสตร์ได้ 2 ปัจจัยหลัก ได้แก่ แหล่งกำเนิดมลพิษและสภาพอากาศ ฝุ่น PM2.5 เกิดจากการเผาไหม้เป็นหลัก ซึ่งแหล่งกำเนิดฝุ่นสำคัญในกทม. ได้แก่ การจราจร โรงงานอุตสาหกรรม การเผาชีวมวล และละอองลอยจากเกลือทะเล โดยเฉพาะลมอ่อน อุณหภูมิผกผัน และมวลอากาศเย็นที่มีความเร็วลมต่ำในช่วงฤดูหนาว ทำให้ฝุ่นสะสมและกระจายตัวช้า
รศ.ดร.ทรรศนีย์ เจตน์วิทยาชาญ ผู้อำนวยการหลักสูตรสหสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ
ด้าน รศ.ดร.สุทธิรัตน์ กิตติพงษ์วิเศษ สถาบันวิจัยสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน จุฬาฯ เผยว่า การจัดการคุณภาพอากาศเป็นเรื่องของทุกคน เราต้องตั้งรับ ปรับตัว และป้องกันตนเองและครอบครัว โดยเพิ่มการรับรู้ความเสี่ยงและทักษะ Data Literacy ให้แก่ประชาชนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะผู้ที่เปราะบางต่อปัญหานี้
อาจารย์ สิทธิรัตน์ ปิดท้ายว่า ควรมีการสื่อสารข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะข้อมูลเชิงคาดการณ์ที่สามารถช่วยให้ประชาชนเตรียมตัวรับมือกับปัญหาได้ล่วงหน้า และภาครัฐควรให้ความสำคัญเชิงคาดการณ์ที่สามารถช่วยให้ประชาชนเตรียมตัวรับมือกับปัญหาดังกล่าวล่วงหน้าได้ และภาครัฐควรให้ความสำคัญกับวิกฤต PM2.5 ในทุกมิติ ไม่ใช่แค่ด้านสิ่งแวดล้อม และต้องรวมถึงมิติทางสังคมและเศรษฐกิจ เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน
รศ.ดร.สุทธิรัตน์ กิตติพงษ์วิเศษ สถาบันวิจัยสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน จุฬาฯ