SHORT CUT
รัฐบาลเตรียมประกาศ "ฝุ่น PM 2.5" เป็นวาระแห่งชาติ เข้าวาระประชุมคณะรัฐมนตรี 28 ม.ค. 68 กำหนดแนวทางสั่งการแก้ปัญหาหมอกควัน ไฟป่า และฝุ่นละอองขนาดเล็ก ปภ.-กทม.-อุทยาน-ป่าไม้ รับผิดชอบหลัก
วันที่ 27 มกราคม 2568 นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันพรุ่งนี้ (28 มกราคม 2568) นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะมีข้อสั่งการในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เรื่องการแก้ไขปัญหา ฝุ่น หมอกควัน PM2.5 เพิ่มเติมในแต่ละกระทรวง และจะหารือกับรัฐมนตรีเพื่อรับทราบรายงาน และข้อสรุป รวมทั้งแนวทางปฏิบัติของทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับปัญหาฝุ่นละออง ในช่วงต้นของการประชุม ครม.
จากนั้นในวันที่ 29 มกราคม 2568 เวลา 10.00 น. ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.มหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บก.ปภ.ช.) ได้เชิญคณะกรรมการชุดใหญ่ โดยมีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และรมว.กลาโหม นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกฯ และรมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่ปรึกษา เข้าร่วมประชุม เพื่อกำหนดแนวทาง เพิ่มเติมในการดำเนินการเพื่อลดความเสี่ยงจากฝุ่นควันดังกล่าว และรับฟังการเตรียมความพร้อมรับมือในสถานการณ์อื่น ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น รวมทั้งข้อเสนอแนะในการปฏิบัติงานที่ผ่านมา
ทั้งนี้ในการประชุมครม. จะเน้นประเมินข้อสั่งการที่ดำเนินการมาตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน และการกำหนดแนวทาง เพื่อสั่งการและรายงานผลการดำเนินงานในมิติต่าง ๆ โดยเฉพาะสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก จากกรมควบคุมมลพิษ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) กรมอุตุนิยมวิทยา
นายจิรายุ กล่าวว่า ที่ประชุมพรุ่งนี้ยังให้ความสำคัญในการบริหารจัดการไฟ ในพื้นที่ป่าของ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมป่าไม้ และส่วนการบริหารจัดการไฟในพื้นที่เพาะปลูกทางการเกษตร ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์รวมทั้งกระทรวงอุตสาหกรรม โดยจะรายงานผลการดำเนินงานและแนวทางแก้ไขปัญหาต่อไป
ส่วนการจัดการฝุ่นละอองในเขตเมือง กรุงเทพมหานครและปริมณฑล จะมอบหมายให้กรุงเทพมหานคร กรมการขนส่งทางบก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทยรายงานการดำเนินการและผลของการปฏิบัติ รวมไปถึงการยกระดับการปฏิบัติการแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็กอีกด้วย
สำหรับในส่วนภูมิภาค คณะกรรมการ ปภ.ช.จะพิจารณาและดำเนินการแก้ปัญหาไฟป่าในจังหวัดที่มีการเผาป่าและหมอกควันสูง อาทิจังหวัดลพบุรี จังหวัดชัยภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดนครสวรรค์ และจังหวัดนครราชสีมา และ จังหวัดอื่น ๆ ส่วนจังหวัดที่มีผลสำเร็จในการแก้ปัญหา อาทิ จังหวัด เชียงใหม่ ก็จะให้รายงานผลการปฏิบัติ เพื่อเป็นต้นแบบในการแก้ไขต่อไป