ม.วลัยลักษณ์ เปิดตัวนวัตกรรมรักษ์โลก "หมุดถนนเรืองแสง" ใช้วัสดุรีไซเคิล ถูกออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหาถนนในพื้นที่ ซึ่งไม่มีแสงไฟ และมีความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ
ถนนหนทางเส้นไหนมืดมาก ๆ คงไม่มีใครอยากขับรถหรอกจริงไหม ไหนจะต้องต่อสู้กับอาการง่วงซึมจากการทำงานที่เหน็ดเหนื่อยอีก ถนนซึ่งแสงสว่างไม่เพียงพออาจนำไปสู่อุบัติเหตุได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถนนนอกเมือง แต่หลังจากนี้การขับรถตอนกลางคืนอาจไม่ใช่เรื่องที่กังวลอีกต่อไป...
ล่าสุด รศ.ดร.ทนงศักดิ์ อิ่มใจ นักวิจัยจากสำนักวิศวกรรมศาสตร์ และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ร่วมกับนักวิจัยจากประเทศไทย อินโดนีเซีย และอังกฤษ พัฒนา หมุดถนนเรืองแสงแบบไฮบริด ด้วยเทคโนโลยี ‘Glow-in-the-Dark (GiD)’ ร่วมกับการรีไซเคิลผงแก้ว
ทั้งนี้ การคิดค้นดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิ Mitsui Sumitomo Insurance Welfare Foundation ประเทศญี่ปุ่น และทีมนักวิจัยได้ทำการยื่นจดสิทธิบัตรเรียบร้อยแล้ว
ความพิเศษของหมุดถนนเรืองแสงคืออะไร? ]
ความดีงามของหมุดถนนเรืองแสงที่ทีมนักวิจัยคิดค้นขึ้นมาก็คือ สามารถดูดซับพลังงานแสงอาทิตย์ในช่วงเวลากลางวัน และปล่อยแสงในที่มืดได้ยาวนาน 8 ชั่วโมง
ด้วยความสว่าง 150 mcd/m² ซึ่งถือว่าสว่างกว่ามาตรฐานแสงสะท้อนทั่วไป ทั้งยังสามารถสะท้อนแสงไฟจากพาหนะที่จะเป็นการช่วยเพิ่มความปลอดภัยในพื้นที่ที่มีแสงสว่างน้อย เช่น ทางโค้ง ทางแยก
นอกจากนี้ การนำวัสดุรีไซเคิลมาใช้ ช่วยลดต้นทุนการผลิตได้ถึง 30% ประหยัดพลังงาน ไม่ต้องใช้ไฟฟ้าหรือแบตเตอรี่ แถมยังทนต่อสภาพอากาศทุกรูปแบบ
จากการทดลองนำตัวหมุดเรืองแสงติดตั้งบนถนนภายในมหาวิทยาลัยและในพื้นที่ต่างๆ แล้วพบว่า ตัวหมุดเรืองแสงนี้สามารถทนต่อแรงกดจากยางรถยนต์น้ำหนักกว่า 30 ตัน และยังคงความสว่างได้ดีในทุกสภาพแวดล้อม
ในอนาคตทีมวิจัยมีแผนที่จะพัฒนาและปรับปรุงวัสดุให้ทนทานยิ่งขึ้น รวมถึงขยายการใช้งานในระดับประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทที่ยังไม่มีระบบไฟถนน
ซึ่งในตอนนี้ก็อยู่ระหว่างการพูดคุยถึงความเป็นไปได้ เพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการเพิ่มความปลอดภัยทางถนน ส่งเสริมการใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในงานจราจรให้มากขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง