svasdssvasds

จากรถบัสถึงกระจายอำนาจ 4 ข้อสรุปจากเวทีอนาคตเด็กไทยกับความปลอดภัยบนถนน

จากรถบัสถึงกระจายอำนาจ 4 ข้อสรุปจากเวทีอนาคตเด็กไทยกับความปลอดภัยบนถนน

“เมื่อจะตาย ขออย่าตายอย่างโง่ๆ บ้าๆ คือ ตายในสงครามที่คนอื่นก่อให้เกิด ตายในสงครามกลางเมือง ตายเพราะอุบัติเหตุรถยนต์..” จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน ป๋วย อึ้งภากรณ์

ในแต่ละปี เด็กไทยจำนวนมากเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนน หลายครั้งพวกเขาไม่ใช่ผู้ขับขี่ ไม่ใช่ผู้ตัดสินใจเลือกวิธีโดยสาร และไม่มีอำนาจออกนโยบายด้านความปลอดภัย ไม่แม้แต่อำนาจออกเสียงเลือกตั้ง พวกเขาจึงเป็นกลุ่มที่เปราะบางที่สุด สำคัญที่สุด และเราควรออกนโยบายโดยคำนึงถึงความเป็นอยู่ของพวกเขามากที่สุด 

แล้วเราจะทำให้เด็กไทยปลอดภัยจากท้องถนนไทยได้อย่างไร? นั่นคือคำถามใหญ่ที่หลายฝ่ายบนเวทีสาธารณาะ ‘อนาคตเด็กไทยกับความปลอดภัยบนถนน’  พยายามขบคิด ถกเถียง และนำเสนอเพื่อหาคำตอบ 

เบื้องล่างนี่คือข้อสรุป 4 ประการใหญ่จากเวทีดังกล่าว 
[ภาพ: สุทธิพัฒน์ กนิษฐกุล]

ข้อสรุปที่ 1: กวดขันรถบัสขนส่งนักเรียน

ณัฐยา บุญภักดี ผอ.สำนักสนับสนุนสุขภาพเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. เริ่มต้นว่า ปัญหาอุบัติเหตุบนถนนของไทยถือว่าสูงมากและเป็นปัญหาเรื้อรังมานาน สถิติชี้ว่าทุกครั้งที่มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนน 5 รายจะเป็นเด็กและเยาวชน 1 ราย 

ณัฐยา และ ประภาส ปิ่นตบแต่ง กมธ.กิจการเด็กและเยาวชน สมาชิกวุฒิสภาเห็นตรงกันว่า รถรับส่งนักเรียนควรเป็นบริการสาธารณะที่ภาครัฐจัดให้แก่นักเรียนและโรงเรียน โดยประเด็นนี้สมาคมผู้บริโภคเสริมว่าได้มีการออกแบบรถบัสโรงเรียนที่ได้มาตรฐานเอาไว้แล้ว และหวังว่าสถานศึกษาสามารถนำไปใช้ได้เลย 

นอกจากมาตรฐานรถบัส ยังต้องควบคู่ไปกับการตรวจสภาพรถบัสโรงเรียนอย่างต่อเนื่องและเข้มงวดจากกรมขนส่ง รวมถึงเพิ่มการอบรมความปลอดภัยพื้นฐานให้แก่ครูและผู้ที่มีหน้าดูแลเด็กเพื่อป้องกันเหตุไม่คาดคิด


 

ข้อสรุปที่ 2: กระจายอำนาจสร้างท้องถิ่นที่เข้มแข็ง

“ต้นทางของความไม่ปลอดภัย คือขนส่งมวลชนที่ห่วย ถ้าเรารวยเรามีรถ ถ้ามีเงินน้อยหน่อยก็ยังมีมอเตอร์ไซค์ เพราะเราใช้ชีวิตไม่ได้เลยถ้าไม่มีมอเตอร์ไซค์ นี่คือประเทศไทย” สารี อ๋องสมหวัง เลขาฯ สภาองค์กรผู้บริโภคกล่าว  

การแก้ปัญหาอุบัติเหตุทางถนนของเด็ก ไม่ใข่ความรับผิดชอบของโรงเรียนเท่านั้น เพราะนอกรั้วโรงเรียนเด็กเองก็ยังต้องเดินทางและใช้ท้องถนน โดยเฉพาะในกลุ่มครอบครัวที่ไม่มีรถส่วนตัว การแก้ปัญหาที่ดีที่สุดคือการสร้างระบบขนส่งมวลชนที่ได้มาตรฐานในทุกจังหวัด 

เลขาฯ สภาองค์กรผู้บริโภคชี้ว่า ควรมีการอุดหนุนช่วยเหลือการขนส่งสาธารณะไม่ให้ค่าใช้จ่ายเกินร้อยละ 10 ของค่าแรงขั้นต่ำ ในกรุงเทพฯ ได้มีการคิดคำนวณแล้วว่าสามารถควบคุมค่าโดยสารรถไฟฟ้าที่ 25 บาทตลอดสาย โดยที่ในระยะยาว กทม.ไม่ขาดทุน 

ขณะที่ในต่างจังหวัด ภาครัฐควรรณรงค์ให้เด็กใช้หมวกกันน็อคที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งทางสภาองค์กรผู้บริโภคเคยทำการทดสอบเอาไว้แล้วว่ายี่ห้อไหนที่มีคุณภาพบ้าง และสุดท้ายคือการจัดระบบขนส่งมวลชนสาธารณะในทุกจังหวัด 

อย่างไรก็ตาม ทุกฝ่ายเห็นพ้องว่าการจะจัดทำระบบขนส่งมวลชนในต่างจังหวัดยังเริ่มต้นได้ยาก หากไม่เกิดการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นจัดการตัวเอง เพราะในปัจจุบัน ติดข้อจำกัดทั้งเรื่องงบประมาณและกฎหมาย ทำให้การจัดขนส่งมวลชนในต่างจังหวัดที่มีคุณภาพเป็นไปแทบไม่ได้ 

วิระศักดิ์ ฮาดดา นายกสมาคม อบต.แห่งประเทศไทยชี้ว่า ทุกวันนี้ ภาคท้องถิ่นมีความใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด แต่ยังติดกฎหมายที่ทำให้ไม่สามารถทำงานได้เต็มศักยภาพ เช่น การสร้างสะพานข้ามเมื่อเกิดเหตุน้ำท่วม ทางนายก อบต. ก็ต้องใช้เงินส่วนตัวเพราะไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ 

“ปัจจุบันเราทำไม่ได้จริงๆ พอทำปั๊บองค์กรอิสระมาแล้ว เขามาเรียกเงินคืน และยังถูกต้องกรรมการสอบสวนลูกน้องตัวเองอีก” วิระศักดิ์สะท้อน 

ทางด้าน ณัฐวุฒิ บัวประทุม สส. จากพรรคประชาชนและ กมธ.กิจการเด็กและเยาวชน สภาผู้แทนราษฎร เสริมในเรื่องนี้ว่า ตราบใดที่โครงสร้างรัฐไทยยังรวมศูนย์ การยกระดับคุณภาพโรงเรียนและการขนส่งสาธารณะก็จะเป็นไปไม่ได้เลย เพราะท้องถิ่นไม่มีงบประมาณ ไม่มีกำลังคน

“ทุกวันนี้ ไม่ว่าเรื่องเด็ก เรื่องคน มันหนีไม่พ้นความจริงใจเรื่องนโยบายการกระจายอำนาจ ถ้าเราไม่เริ่มจากการกระจายอำนาจ มันแทบเป็นไปไม่ได้ที่จะหวังให้รัฐส่วนกลางทำหน้าที่ในการดูแลคน” ณัฐวุฒิกล่าว 

[ภาพ: สุทธิพัฒน์ กนิษฐกุล]

ข้อสรุปที่ 3: ยกระดับการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม

ในปัจจุบัน โรงเรียนกว่าครึ่งหนึ่งในไทยเป็นโรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนน้อยกว่า 119 คน ทำให้เผชิญกับปัญหางบประมาณไม่เพียงพอ เนื่องจากกระทรวงศึกษาธิการมีเงินช่วยเหลือโรงเรียนตามรายหัวนักเรียน 

ดังนั้น จึงนำไปสู่ปัญหาความไม่เสมอภาคทางการศึกษา โรงเรียนหลายแห่งขาดบุคลากร ขาดสาธารณูปโภคพื้นฐาน และขาดคุณภาพการศึกษา เด็กจำนวนมากต้องเดินทางไกลเพื่อมาโรงเรียนจนเพิ่มความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุบนท้องถนน 

ในวงเสวนา ประภาสเสนอว่าในเมื่อรัฐบาลยังคงไม่มีนโยบายกระจายอำนาจที่เพียงพอ ภาคประชาสังคมซึ่งร่วมถึงภาคีเครือข่ายที่ทำงานกับโรงเรียนทั้งผู้ปกครองและชุมชนจึงต้องเข้ามามีส่วนร่วมให้มากขึ้น ทั้งในการตรวจสอบและช่วยเหลือยกระดับคุณภาพโรงเรียน เช่น การทอดผ้าป่าหาเงินสนับสนุนโรงเรียน 

 

ข้อสรุปที่ 4: ความจริงใจในการแก้ปัญหา

ณัฐยาจาก สสส. ยืนยันว่า ทุกวันนี้ เรามีข้อมูลและงานวิจัยเพียบพร้อมในการแก้ปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนนที่เกิดขึ้นกับเด็ก ดังนั้น ทุกอย่างพร้อมแล้ว อยู่ที่ว่าทางภาครัฐจะดำเนินการแก้ปัญหาอย่างจริงจังเมื่อไหร่ 

ทางด้านณัฐวุฒิเห็นด้วยกับเรื่องนี้ และเขารับปากว่าในฐานะ กมธ. จะติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด โดยจะนำเรื่องนี้ไปตั้งกระทู้ถามรัฐบาลในสภา 

ยังมีข้อเสนออีกมากมายจากวิทยากรในงานเสวนาดังกล่าว ทั้งข้อเสนอให้มีการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ที่มีคุณภาพในจังหวัด, ยกระดับเงินพัฒนาคุณภาพผู้เรียน (งบอุดหนุนทัศนศึกษา), การเพิ่มการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่าย, การปรับช่วงเวลาทัศนศึกษา ตลอดจนการสร้างวัฒนธรรมการรับผิดรับชอบที่แข็งแรง ให้มีผู้รับผิดชอบที่ชัดเจนในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ 

ในเมื่อทุกฝ่ายต่างเห็นตรงกันว่านี่ความปลอดภัยของเด็กคือโจทย์ของเราทุกคน ดังนั้น จึงอยู่ที่รัฐบาลแล้วว่าจะตอบสนองเพื่อลดอัตราอุบัติเหตุบนท้องถนนไทยที่สูงลิบได้อย่างไร 

[ภาพ: สุทธิพัฒน์ กนิษฐกุล]

ฟังการเสวนาสาธารณะฉบับเต็มได้ที่: https://www.facebook.com/Deksukjai/videos/886834516453369


ภาพประกอบ: สมชาย พัวประเสริฐสุข 

related