svasdssvasds

หยุดวงจร ‘รถบัสทัศนศึกษามรณะ’ อย่างไร คุยกับพรรคฝ่ายค้านและรัฐบาล

หยุดวงจร ‘รถบัสทัศนศึกษามรณะ’ อย่างไร คุยกับพรรคฝ่ายค้านและรัฐบาล

จากบทความที่แล้ว เราได้ลงไปสำรวจว่าทำไมถึงยังมีรถบัสคุณภาพแย่ให้บริการอยู่ แล้วทำไมโรงเรียนถึงเลือกจ้างรถบัสเหล่านี้ ข้อมูลที่ได้รับทำให้เราเห็น ‘วงจรรถบัสทัศนศึกษามรณะ’ ที่เกี่ยวข้องกับปัญหาลึกลงไปกว่าแค่คนขับชั่วและเจ้าของรถเลว

อธิบายคร่าวๆ คือ ในทุกปี โรงเรียนในสังกัดภาครัฐจะได้รับงบประมาณสำหรับจัดทัศนศึกษาที่เรียกว่า ‘ค่ากิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน’ โดยจะแบ่งตามลำดับชั้น และทางโรงเรียนจะนำเงินส่วนนี้ไปบริหารเพื่อจัดทัศนศึกษาทั้งค่ารถโดยสาร, ค่าอาหารกลางวัน และค่าวัสดุอื่นๆ 

แต่ถามว่าจำนวนดังกล่าวเพียงพอหรือไม่? ยกตัวอย่างกรณีทัศนศึกษาโรงเรียนวัดพระยาเขาสังฆรามที่ขนนักเรียนชั้นอนุบาลมา 5 คน นักเรียนประถมศึกษา 27 คน และนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น 6 คน โรงเรียนนี้จะมีงบในการบริหารเพียงแค่ 22,006 บาทเท่านั้น ไม่นับรวมเงินบริจาคที่ขึ้นอยู่กับสถานะครอบครัวและชุมชนในละแวกโรงเรียน 

จากคำบอกเล่าของผู้ประกอบการรถโดยสารทางโรงเรียนมักจะเบิกงบค่ารถโดยสารมาเต็มจำนวน ก่อนขอคืนส่วนหนึ่งเพื่อนำไปบริหารในส่วนอื่นๆ เช่น ค่าขนมหรือค่าอาหารกลางวัน หรือกรณีที่โรงเรียนพยายามยัดเด็กลงไปนั่งบนรถเกินกว่าที่ควรจะเป็น และเมื่อรถบัสได้รับค่าจ้างน้อยลง ทำให้รถบัสบางรายพยายามลดต้นทุนของตัวเองลง ผ่านการติดตั้งถังแก๊ส, การใช้ยางมือ 2 หรือเลือกใช้รถมือสองที่ประกอบขึ้นเอง ส่งผลต่อมาตรฐานและความปลอดภัยของรถบัส 

ภาพสะท้อนของวงจรเหล่านี้คือ เหตุการณ์ไฟไหม้รถบัสล่าสุด รวมถึงสถิติรถบัสนักเรียนที่เกิดอุบัติเหตุอยู่หลายครั้ง โดยระหว่างปี 2565-2567 รถบัสนักเรียนเกิดอุบัติเหตุ 30 ครั้ง (เฉพาะช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม ปี 2567 เกิดอุบัติเหตุรถรับส่งนักเรียน 15 ครั้ง) ทำให้มีนักเรียนเสียชีวิต 1 ราย และบาดเจ็บ 153 ราย 

คำถามคือ เราจะทำอย่างไรเพื่อหยุดวงจรมรณะเช่นนี้ และป้องกันไม่ให้เกิดความสูญเสียต่อเด็กนักเรียนไทยขึ้นอีก

[ภาพ: ณปกรณ์ ชื่นตา]
 

แก้ปัญหาทัศนศึกษา ทุจริต และงบประมาณอย่างไร 

ประเด็นนี้ เราได้พูดคุยกับ สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ที่ปรึกษา รมว.กระทรวงศึกษาธิการ และ ปารมี ไวจงเจริญ ส.ส.พรรคประชาชนถึงมุมมองต่อปัญหา

สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ [ภาพ: เฟซบุ๊ก สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ]

  • ประการแรก แนวทางการจัดทัศนศึกษา 

ที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการมีระเบียบว่าด้วยการพานักเรียนและนักศึกษาไปนอกสถานที่ไว้อยู่แล้ว ทั้งกำหนดให้มีการตรวจเช็กสภาพความปลอดภัยของรถอย่างละเอียด, กำหนดจำนวนครูต่อนักเรียนที่ต้องดูแล หรือการขอให้มีรถนำขบวน อย่างไรก็ตาม แนวทางดังกล่าวไม่ได้ถูกนำไปปฏิบัติ และทางศึกษาธิการเองก็ขาดการกวดขันอย่างเช้มงวด 

ล่าสุด ทางกระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศงดการทัศนศึกษาที่ไม่จำเป็นออกไปก่อน นักเรียนที่อยู่ต่ำกว่าชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 งดทัศนศึกษาออกนอกพื้นที่ และกำชับให้มีการตรวจความปลอดภัยของรถโดยสารผ่านกรมขนส่งทางบกให้มากขึ้น  

อย่างไรก็ตาม ได้มีข้อเรียกร้องจากทางสมาคมผู้บริโภคให้มีการออกกฎที่เข้มงวดขี้น เช่นการกำหนดระยะทางที่เหมะสมต่อการทัศนศึกษา

“สมมติเราเขียนกรอบทัศนศึกษาให้แน่นก็บอกไม่ยืดหยุ่น พอเขียนยืดหยุ่นก็บอกกว้างไปปฏิบัติจริงไม่ได้หรอก ดังนั้น เราคงกำชับแค่บางประเด็นที่อ่อนไหว แต่เรื่องการกำหนดระยะทางให้เป็นเรื่องกรรมการสถานศึกษาไปออกแบบกันเอาเอง” สิริพงษ์กล่าวถึงประเด็นนี้ทางโทรศัพท์กับ SpringNews 

ปารมี ไวจงเจริญ ส.ส.พรรคประชาชน [ภาพ: เฟซบุ๊ก ปารมี ไวจงเจริญ แฟนเพจ]

  • ประการสอง การจัดสรรงบประมาณสำหรับโรงเรียน 

ไม่ใช่เพียงกรณีไฟไหม้รถบัสทัศนศึกษาที่เกิดขึ้น แต่ที่ผ่านมา มีข่าวอยู่สม่ำเสมอว่ารถบัสทัศนศึกษาและรถรับส่งนักเรียนเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งสาเหตุอย่างหนึ่งมาจากที่โรงเรียนหลายแห่งไม่มีงบเพียงพอ ที่จะจ้างรถโดยสารที่มีคุณภาพเป็นสวัสดิการแก่นักเรียนได้ 

โดยกระทรวงศึกษาธิการนับว่าได้งบประมาณเป็นลำดับที่ 2 จากทุกกระทรวง โดยในงบปี 2567 กระทรวงศึกษาธิการได้งบราว 328 แสนล้านบาท อย่างไรก็ตาม แบ่งเป็นงบบุคลากรราว 60% ขณะที่งบอุดหนุนโรงเรียนถูกแจกจ่ายตามขนาดหรือจำนวนนักเรียนในโรงเรียน

ในประเด็นนี้ สิริพงษ์ยืนยันว่า กระทรวงศึกษาธิการได้จัดสรรงบประมาณให้โรงเรียนเพียงพอ และมีหลายโรงเรียนที่สามารถจ้างรถคุณภาพดีได้ ดังนั้น โรงเรียนไม่ควรยอมจ้างผู้ประกอบการที่ลดต้นทุนตัวเองให้ต่ำลงเพื่อรับงาน 

“แน่นอนว่างบประมาณที่ให้บางโรงเรียนไม่เยอะ แต่มันไม่ใช่สาเหตุให้เกิดการทุจริต คุณต้องไม่ยอมรับเรื่องเงินทอน คุณต้องไม่ลดเสป็กเพื่อเอางาน เพราะมิฉะนั้น ให้เงินเท่าไหร่ก็ไม่พอ ต้นทุนมันเท่าเดิม” สิริพงษ์กล่าวทางโทรศัพท์

ทางด้าน ปารมี ไวจงเจริญ ส.ส.พรรคก้าวไกลโพสต์แสดงความเห็นประเด็นนี้ไว้ในเฟซบุ๊ก เสนอแนวทางแก้ไขทั้งหมด 3 ข้อ โดยให้กระทรวงมีการจัดงบสนับสนุนสำหรับรถบัสรับส่งนักเรียน, ให้ท้องถิ่นช่วยออกแบบและพัฒนารถรับส่ง และขอให้มีการตรวจสอบการทุจริตของผู้บริหารโรงเรียน

”งบโรงเรียนหลายแห่งมันน้อยก็เลยต้องเลือกใช้รถในราคาที่ถูก ทำให้ได้รถที่คุณภาพมาตรฐานต่ำ นี่คือปัญหาที่ต้องแก้ รถรับส่งนักเรียนควรเป็นรถเฉพาะของนักเรียน ไม่ใช่รถที่วิ่งออกไปรับพนักงานบริษัทมาทั้งวันแล้วอีกวันกลับมารับนักเรียน“ ปารมีกล่าวกับ SpringNews 

เธออธิบายว่ากระทรวงศึกษาธิการมีหน้าที่จัดสรรงบประมาณให้โรงเรียนทุกแห่งตามขนาดโรงเรียน แต่การจัดสรรงบกลับไม่มีประสิทธิภาพเพราะปัญหา ”งูกินหาง“ ที่เริ่มจากโครงสร้างโรงเรียนไทยที่มีเยอะเกินไป โดยข้อมูลจากเว็บไซต์ในเครือ สพฐ.ระบุว่า ปัจจุบันไทยมีโรงเรียนขนาดเล็ก (มีนักเรียน้อยกว่า 119 คน) อยู่ 15,237 แห่ง หรือคิดเป็น 52.58% ของโรงเรียนทั้งหมด 

ปารมีแสดงความเห็นว่าโรงเรียนขนาดเล็กในไทยหลายแห่งตั้งอยู่ใกล้กันและมีนักเรียนหลักสิบคนเท่านั้น นำไปสู่ปัญหางบประมาณไม่เพียงพอและต่อเนื่องสู่ปัญหาขาดแคลนสาธารณูปโภคพื้นฐาน อุปกรณ์การเรียนเช่นคอมพิวเตอร์ หรือครูต้องทำงานหนัก

“โครงสร้างโรงเรียนไทยเป็นจุดเริ่มต้นของการใช้งบที่ไม่มีประสิทธิภาพ โรงเรียนขนาดเล็กมีเกินครึ่งของโรงเรียนในสังกัด สพฐ. แล้วต่างโรงเรียนก็ได้งบที่ไม่เพียงพอ ทำให้บริหารได้ไม่มีประสิทธิภาพ มันเหมือนการละลายงบลงน้ำไปเป็นจุดๆ ดังนั้น เราควรมาออกแบบระบบทั้งหมดใหม่ดีกว่าไหม” ” ปารมีกล่าว

อย่างไรก็ตาม เธอย้ำว่ามีบางโรงเรียนบางแห่งที่ไม่ควรควบรวม อย่างโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล เช่น บนดอยหรือเกาะ และโรงเรียนเหล่านั้นควรได้งบที่มากขึ้น ผ่านแนวทางที่เธอเสนอ

[ภาพ: ณปกรณ์ ชื่นตา]

  • ประการที่สาม การทุจริต 

ปารมีกล่าวต่อถึงเรื่องทุจริตว่าเธอได้รับการร้องเรียนจากโรงเรียนหลายแห่งว่ามีการทุจริตเกิดขึ้นกับเรื่องรถโดยสารโรงเรียน โดยผู้บริหารมักเลือกใช้บริการแต่รถเจ้าเดิม ทั้งที่รถคันดังกล่าวมีปัญหาอยู่บ่อยครั้ง เช่น เพิ่งออกไปทัศนศึกษาแล้วรถพัง แต่เมื่อกลับมา ผู้บริหารก็ยังเลือกใช้บริการรถเจ้าเดิม

“เดี๋ยวรอดูนะครับ มันอาจต้องมีคนโดน” สิริพงษ์เริ่มต้นกล่าวถึงปัญหาทุจริต

“สิ่งที่เรามีให้ตลอดคือกระบวนการที่มีส่วนร่วมระหว่างกรรมการสถานศึกษา ผู้ปกครอง และโรงเรียน ที่จะต้องตัดสินใจร่วมกัน ส่วนถ้าเงินไม่พอ กรรมการสามารถช่วยทำกฐินผ้าป่าได้ ผมคิดว่ามันไม่ใช่ประเด็นเรื่องนี้เลย” สิริพงษ์กล่าว

กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ [ภาพ: เฟซบุ๊ก Kunthida Rungruengkiat - กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ]

ทัศนศึกษาที่ดีควรเป็นอย่างไร 

“การทัศนศึกษาสำคัญมาก เด็กไม่มีทางได้กระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลายจากแค่ในห้องเรียน โดยเฉพาะกับครอบครัวที่พ่อแม่ทำงานตลอดเวลา” กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ อดีต ส.ส.พรรคอนาคตใหม่และนักการศึกษาที่เคยมีประสบการณ์แลกเปลี่ยนที่ฟินแลนด์ กล่าวถึงทักษะพื้นฐาน เช่น การจัดกระเป๋า, การเคารพกฎระเบียบ หรือการสร้างความอยากรู้อยากเห็นให้แก่เด็ก

กุลธิดาเพิ่มเติมว่าในประเทศฟินแลนด์ นักเรียนจะมีส่วนร่วมในการกำหนดหัวข้อการทัศนศึกษา โดยจะไปทำการบ้านภายใต้โจทย์ที่ครูกำหนด ก่อนกลับมาประชุมร่วมกันในห้องเรียนเพื่อตัดสินใจร่วมกันอีกทีนึงว่าควรไปที่ใด

ในด้านความปลอดภัย รถบัสโดยสารในฟินแลนด์มีมาตรฐานที่สูงกว่าประเทศไทยมากอยู่แล้ว และถ้าหากโรงเรียนมีปัญหาเรื่องงบประมาณ สามารถของบเพิ่มจากหน่วยงานท้องถิ่นอย่างเทศบาลได้ทันที เพราะโรงเรียนขึ้นตรงต่อเทศบาล

เธอให้ความเห็นว่าการจัดทัศนศึกษาที่ดีควรมีหลักคิดทั้งหมด 3 ประการคือ เหมาะสมกับช่วงวัย, เหมาะสมกับสิ่งที่เด็กกำลังเรียนรู้ และเหมาะสมจำนวนบุคลากรที่ดูแล ซึ่งในหลักคิดข้อสุดท้าย เธอตระหนักว่าจะมาติดปัญหาที่โรงเรียนขนาดเล็กไม่มีทรัพยาคนและเงินที่จะทำได้มากนัก โดยจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เธอมีข้อเสนอเพิ่มเติมอีก 2 ประการ ดังนี้ 

  • ข้อแรก จัดทำข้อมูลแหล่งเรียนรู้

ในประเทศไทยมีแหล่งเรียนรู้ประจำจังหวัดอยู่หลายแห่ง และส่วนกลางสามารถจัดทำข้อมูลชุดนี้ส่งมอบให้ตามโรงเรียนต่างๆ ได้ เพื่อเป็นการช่วยเหลือคุณครูในการวางแผนทัศนศึกษา 

  • ข้อสอง การสร้างระบบการรับผิดรับชอบ

โดยปกติ การขอทัศนศึกษาต้องแจ้งเรื่องไปเขตพื้นที่การศึกษา ตรงนี้อาจต้องมีการทบทวนแนวทางปฏิบัติ เช่น ให้ ผอ.เป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจมากขึ้น และให้ ผอ.เป็นผู้รับผิดชอบโดยตรงหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด ขณะที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาควรถอยออกมาเป็นผู้ตรวจสอบ โดยใช้ระบบตรวจสอบแบบสุ่มว่าโรงเรียนจัดการทัศนศึกษาได้มาตรฐานหรือไม่ 

เธอทิ้งท้ายถึงเรื่องงบประมาณการศึกษาว่า การจัดสรรงบประมาณควรมีความยืดหยุ่นมากกว่านี้ เพราะในปัจจุบัน โรงเรียนไม่สามารถโยกงบประมาณก้อนหนึ่งมาแทนอีกก้อนได้ ทำให้งบหลายส่วนยังแข็งตัวและบริหารได้ยาก 

“โรงเรียนขนาดเล็กไม่มีทางได้เงินเท่าโรงเรียนขนาดใหญ่ เพราะมันถูกคิดโดยสูตรรายหัวอย่างในปัจจุบัน ดังนั้น เราไม่สามารถใช้สูตรเดิมในการจัดสรรงบประมาณให้กับโรงเรียนได้อีกแล้ว เพราะมันทำให้เห็นชัดเจนเลยว่าโรงเรียนขนาดเล็กมันอยู่ไม่ได้” กุลธิดาสะท้อน 

เพราะการไล่จับคนขับชั่วและเจ้าของรถเลวก็เป็นสิ่งที่ต้องทำ แต่การแก้ไขปัญหาใต้ภูเขาน้ำแข็ง อย่างเรื่องบประมาณและโครงสร้างโรงเรียนก็เป็นอีกส่วนที่ต้องทำ.. หากไม่อยากให้เหตุการณ์ทำนองนี้วนมาอีกไม่รู้จบ

 

ภาพประกอบ: สมชาย พัวประเสริฐสุข 

related