SHORT CUT
พามาส่องบริษัทยักษ์ใหญ่วงการพลังงาน ส่งท้ายปี2567 หลายบริษัทเปิดแผน ลุยนำธุรกิจสู่ความยั่งยืนกรุยทางสู่..Net Zero ปี 2050 EGCO Group ประกาศกลยุทธ์ “Triple P” ด้านบ้านปู ประกาศกลยุทธ์ “Energy Symphonics” มุ่งสู่ Net Zero
เป้าหมายที่สำคัญของประเทศไทย คือ ต้องเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065 เรียกได้ว่าเป้าหมายมีไว้พุ่งชน ซึ่งขณะนี้ทั้งรัฐ และเอกชน โดยเฉพาะภาคธุรกิจที่ต่างเดินหน้าขับเคลื่อนแผนงานเพื่อให้ถึงเป้าหมายให้ได้ โดยเฉพาะวงการพลังงานของไทยที่เป็นหนึ่งอุตสาหกรรมที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืน หลายบริษัทยักษ์ใหญ่ในวงการพลังงานของไทยต่างเร่งเปิดแผนธุรกิจเพื่อความยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง
วันนี้ #SPRiNG พามาส่องดูความเคลื่อนไหวบริษัทยักษ์ใหญ่วงการพลังงานของไทย ว่าปัจจุบัน และในปี2568 จะมีความเคลื่อนไหวไปในทิศทางใดบ้าง มาเริ่มกันที่ EGCO Group ล่าสุดได้ประกาศกลยุทธ์ “Triple P” มุ่งสร้างรายได้และกำไรอย่างยั่งยืน ชูสมดุลสร้างความเติบโต ควบคู่ขับเคลื่อนองค์กรคาร์บอนต่ำ
โดย บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO Group ได้กำหนดกลยุทธ์ “Triple P” ระยะ 3 ปี (ปี 2568-2570) มุ่งเพิ่มความสามารถในการสร้างรายได้และกำไร เน้นลงทุนในธุรกิจไฟฟ้า ซึ่งเป็นธุรกิจหลัก และแสวงหาโอกาสลงทุนในธุรกิจพลังงานที่เกี่ยวเนื่อง ด้วยงบลงทุนปีละ 30,000 ล้านบาท พร้อมรุกบริหารจัดการพอร์ตการลงทุนให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ผ่านการพัฒนากระบวนการทำงานและทรัพยากรบุคคลรองรับการเติบโตระดับสากล ทั้งนี้ กลยุทธ์ “Triple P” มุ่งตอบโจทย์การเติบโตอย่างอย่างยั่งยืนในทุกมิติ โดยสร้างความสมดุลระหว่างโอกาสทางธุรกิจ ผลการดำเนินงานที่แข็งแรงอย่างต่อเนื่อง และการเป็นองค์กรคาร์บอนต่ำของ EGCO Group
ดร.จิราพร ศิริคำ กรรมการผู้จัดการใหญ่ EGCO Group เปิดเผยว่า ในยุคของการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน EGCO Group ได้ทบทวนและปรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจระยะ 3 ปี (ปี 2568-2570) โดยมีเป้าหมายสร้างความแข็งแกร่ง 3 ด้าน ได้แก่ การเพิ่มความสามารถในการสร้างรายได้และผลกำไรอย่างยั่งยืน การบรรลุเป้าหมายองค์กรคาร์บอนต่ำ และการปรับเปลี่ยนองค์กรเพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต ซึ่งเป้าหมายดังกล่าวนี้จะขับเคลื่อนด้วยกลยุทธ์ “Triple P” 3 ด้าน ได้แก่
“EGCO Group เชื่อมั่นว่า กลยุทธ์ “Triple P” จะตอบโจทย์การเติบโตขององค์กรอย่างอย่างยั่งยืนในทุกมิติ ด้วยการสร้างความสมดุลระหว่างโอกาสทางธุรกิจ ผลการดำเนินงานที่แข็งแรงอย่างต่อเนื่อง และการบรรลุเป้าหมายเป็นองค์กรคาร์บอนต่ำ ทั้ง 3 ระยะ ได้แก่ เป้าหมายระยะสั้น ภายในปี 2573 เพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็น 30% ของกำลังผลิตทั้งหมด เป้าหมายระยะกลาง ภายในปี 2583 มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และเป้าหมายระยะยาว ภายในปี 2593 จะบรรลุการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Carbon)” ดร.จิราพร กล่าว
สำหรับการดำเนินงานในปี 2568 ECGO Group เดินหน้าลงทุนในธุรกิจไฟฟ้าและแสวงหาโอกาสลงทุนในธุรกิจพลังงานที่เกี่ยวเนื่องอย่างต่อเนื่อง ด้วยการตั้งงบลงทุน 30,000 ล้านบาท การเติบโตทางธุรกิจในปีหน้าจะมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญมาจากโครงการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ได้แก่ การรับรู้รายได้เต็มปีจากการเข้าซื้อหุ้นในกลุ่มโรงไฟฟ้า Compass ในสหรัฐอเมริกา และจากการเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ของโรงไฟฟ้า EGCO Cogeneration ส่วนขยาย จ.ระยอง
นอกจากนี้ยังมีการรับรู้รายได้จากการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบของโรงไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่ง Yunlin ในไต้หวัน การรับรู้รายได้จากการขายโครงการพลังงานหมุนเวียนและการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบของ APEX ในสหรัฐอเมริกา การเจรจาสัญญาซื้อขายไฟฟ้าใหม่ของโรงไฟฟ้า Quezon ในฟิลิปปินส์ ในขณะเดียวกันก็มีโอกาสปิดดีลโครงการโรงไฟฟ้าใหม่ในรูปแบบ M&A ทั้งโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงหลักและพลังงานหมุนเวียน ซึ่งจะสามารถรับรู้รายได้ทันที
ดร.จิราพร ยังกล่าวถึงผลประกอบการในไตรมาสที่ 3 และ 9 เดือนของปี 2567 ว่า “ผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 3 ปี 2567 มีกำไรจากการดำเนินงาน 3,604 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 2,463 ล้านบาท โดยได้รับแรงหนุนจากผลประกอบการของโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ในต่างประเทศ ในขณะที่ 9 เดือนแรกของปี 2567 มีกำไรจากการดำเนินงาน 7,014 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 5,518 ล้านบาท
ซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนมาจากโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ในต่างประเทศ และกลุ่มโรงไฟฟ้าในสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ EGCO Group ยังสามารถผลักดันโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างให้มีความก้าวหน้าตามเป้าหมาย โดยเฉพาะ Yunlin ที่ติดตั้งเสากังหัน (Monopiles) และกังหันลม (Wind Turbine Generators - WTGs) ครบ 80 ต้น เรียบร้อยแล้ว และได้จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบแล้วทั้งสิ้น 68 ต้น คิดเป็นกำลังผลิต 544 เมกะวัตต์ บริษัทมั่นใจว่าจะสามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบครบ 640 เมกะวัตต์ ภายในสิ้นปีนี้
ต่อมาพามาดูอีกหนึ่งบริษัทที่มีแผนธุรกิจที่น่าสนใจไม่น้อย นั่นก็คือ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ผู้นำด้านพลังงานที่หลากหลาย ที่ได้ประกาศกลยุทธ์ใหม่ “Energy Symphonics” หรือ “เอเนอร์จี ซิมโฟนิกส์” ขับเคลื่อนธุรกิจสู่ปี 2030 เน้นการเปลี่ยนผ่านพลังงานอย่างยั่งยืน พร้อมเผยผลประกอบการไตรมาส 3 โดย นายสินนท์ ว่องกุศลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า Energy Symphonics สื่อถึงแนวทางผสานพลังงานที่หลากหลาย เพื่อสร้างโซลูชันพลังงานใหม่ที่ยั่งยืน ตอบสนองต่อความต้องการพลังงานของโลกที่เพิ่มสูงขึ้น พร้อมไปกับการดูแลโลกของเรา เรามีความมุ่งมั่นที่จะแก้โจทย์ความท้าทายด้านพลังงานและสร้างมาตรฐานใหม่เพื่อพลังงานที่มีใช้อย่างต่อเนื่อง ราคาสมเหตุสมผล และมีความยั่งยืน
ทั้งนี้กลยุทธ์ใหม่ของบ้านปูสะท้อนความมุ่งมั่นในการเป็นผู้นำการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานอย่างมีความรับผิดชอบและยั่งยืน โดยมุ่งเน้นที่ 3 เป้าหมายหลัก ได้แก่ ความมั่นคงทางพลังงาน คือการจัดหาพลังงานที่เชื่อถือได้และต่อเนื่อง ความเสมอภาคด้านพลังงาน คือการจัดหาพลังงานที่มีราคาสมเหตุสมผล ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ และความยั่งยืนด้านพลังงาน คือการจัดหาพลังงานที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ซึ่งกลยุทธ์ของบ้านปูเน้นรักษาสมดุลและตอบสามโจทย์ของพลังงาน (Energy Trilemma) ได้แก่ การส่งมอบพลังงานที่เชื่อถือได้และต่อเนื่อง (Energy Security) การจัดหาพลังงานที่มีราคาสมเหตุสมผลที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ (Energy Equity) และการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในการจัดหาพลังงาน (Energy Sustainability) โดยกลยุทธ์ใหม่มี 4 ภารกิจสำคัญ ดังนี้
•เป้าหมาย Net Zero ภายในปี 2050 และการลดคาร์บอน ตั้งเป้าหมายบรรลุ Net Zero ภายในปี 2050 ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่น้อยกว่า 20% และลดสัดส่วน EBITDA (กำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อมราคา) ที่มาจากธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับถ่านหินให้ต่ำกว่า 50% ภายในปี 2030
•ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ และการดักจับและกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture, Utilization and Sequestration: CCUS) มุ่งเน้นการเติบโตด้วย ‘แนวทางสู่ความสำเร็จ’ ที่ผสานธุรกิจก๊าซธรรมชาติระดับต้นน้ำ โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ และธุรกิจ CCUS เพื่อส่งมอบโซลูชันก๊าซธรรมชาติคาร์บอนต่ำในสหรัฐอเมริกา พร้อมทั้งสร้างกระแสเงินสดที่แข็งแกร่ง
•ธุรกิจพลังงานหมุนเวียนและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง (Renewables+) เร่งขยายธุรกิจพลังงานหมุนเวียนทั่วภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกและภูมิภาคอื่น ๆ โดยลงทุนในระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ (Battery Energy Storage System: BESS) ธุรกิจปลายน้ำที่เกี่ยวข้อง และธุรกิจคาร์บอนเครดิต เพื่อสร้างความต่อเนื่องให้กับพลังงานหมุนเวียน พร้อมทั้งเพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจ
•พัฒนาธุรกิจเหมืองแร่ยุคใหม่ ดำเนินกลยุทธ์การทำเหมืองอัจฉริยะ โดยการผสานการใช้โซลูชันอัจฉริยะและปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในกระบวนการทำเหมือง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการลงทุนในแร่แห่งอนาคตที่สำคัญต่อการเปลี่ยนผ่านพลังงาน
สำหรับผลประกอบการในไตรมาส 3 บ้านปูมีความคืบหน้าทางธุรกิจที่สำคัญ ได้แก่
•ความสำเร็จในการนำ BKV เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก (New York Stock Exchange: NYSE) : การเสนอขายจำนวน 15,000,000 หุ้น ที่ราคา 18 เหรียญสหรัฐ ต่อหุ้น สามารถระดมทุนได้ถึง 270 ล้านเหรียญสหรัฐ สะท้อนถึงศักยภาพการเติบโตของธุรกิจที่ครอบคลุมตลอดห่วงโซ่คุณค่าก๊าซธรรมชาติในสหรัฐอเมริกา โดยบ้านปูยังคงถือหุ้นใหญ่ใน BKV
•บริษัทร่วมทุนระหว่าง BKV Corporation และ Banpu Power (BPP) ภายใต้ชื่อ BKV-BPP Power JV สามารถรองรับการเติบโตของความต้องการพลังงานไฟฟ้าและ Data Center พร้อมคว้าโอกาสทางธุรกิจจากตลาดพลังงานในสหรัฐอเมริกา
•การขยายการเติบโตของบ้านปู เน็กซ์ ในญี่ปุ่น : บ้านปู เน็กซ์ หนึ่งในบริษัทเรือธงของกลุ่มบ้านปู เข้าลงทุนในบริษัท แอมป์ จำกัด (แอมป์ เจแปน) บริษัทชั้นนำในประเทศญี่ปุ่น ผู้พัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียนตั้งแต่ระยะเริ่มต้นจนถึงการนำออกสู่ตลาด ด้วยงบลงทุน 35 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อพัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลม 800 เมกะวัตต์ สู่เป้าหมายกำลังผลิตรวมจำนวน 2 กิกะวัตต์ ภายในทศวรรษนี้ นอกจากนี้ แบตเตอรี่ฟาร์ม Iwate Tono ใกล้ก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์แล้ว ขณะนี้กำลังติดตั้งอุปกรณ์แรงดันไฟฟ้าสูงและสถานีไฟฟ้าย่อยในเฟส 2 โดยคาดว่าจะสามารถเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) ได้ในไตรมาสที่ 2 ปี 2025
ในไตรมาสที่ 3 นี้ บ้านปูมีรายได้จากการขายรวม 1,339 ล้านเหรียญสหรัฐ (*ประมาณ 46,597 ล้านบาท) กำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อมราคา (EBITDA) รวม 379 ล้านเหรียญสหรัฐ (*ประมาณ 13,204 ล้านบาท) และขาดทุนสุทธิจำนวน 24 ล้านเหรียญสหรัฐ (*ประมาณ 830 ล้านบาท) จากราคาตลาดของถ่านหินและก๊าซธรรมชาติที่ปรับตัวลดลงและการขาดทุนที่ยังไม่เกิดขึ้นจริงจากอัตราแลกเปลี่ยน จากการแข็งค่าของเงินสกุลบาทต่อเงินสกุลเหรียญสหรัฐ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะกลายเป็นผู้ผลิตพลังงานหลักของโลกในทศวรรษหน้า
รับซื้อ “ไฟฟ้าสะอาด” ส่อวุ่นสุ่มเสี่ยงเอื้อนายทุน ก.พลังงานขอรื้อใหม่
โอกาสธุรกิจถ้าไม่ปรับ! อาจขายของไม่ได้ยาก ต้องเพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาด