SHORT CUT
พามาดูทิศทางธุรกิจโซลูชันจัดการพลังงาน-ความร้อนอที่มาแรง เอกชนพร้อมหนุนใช้ AI ขับเคลื่อนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
พามาทำความรู้จักโซลูชันจัดการพลังงาน-ความร้อนมาแรง รับเทรนด์โลกที่เปลี่ยนไป พร้อมมาดูความร่วมมือเอกชนไทยเดินหน้าหนุนใช้ AI ขับเคลื่อนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ปัจจุบันต้องยอมรับว่านวัตกรรม และเทคโนโลยี ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เข้ามามีบทบาทอย่างมากในการทำธุรกิจ สามารถช่วยให้มนุษย์ทำงานได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำ โดยเฉพาะธุรกิจพลังงานสะอาดที่กำลังมาแรงมากๆทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยต่างเดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ เพื่อก้าวสู่เป้าหมาย Net Zero ภายในปี 2065 จึงทำให้พลังงานสะอาดมีการขยายตัวได้ดีมากๆ รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวเติบโตได้ดี
หนึ่งในนั้นคือบริษัทเดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตชั้นนำของโลกด้านโซลูชันการจัดการพลังงานและความร้อน โดยเดลต้า ประเทศไทย เป็นบริษัทในเครือของเดลต้า อีเลคโทรนิค์ อิ้งค์ ด้วยพันธกิจของบริษัทฯ ที่ว่า “มุ่งมั่นสร้างสรรค์ นวัตกรรมการใช้พลังงานสะอาดและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานเพื่ออนาคตที่ดีกว่า” สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของบริษัทฯ ในการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม พร้อมให้บริการโซลูชันการประหยัดพลังงานทางด้านเพาเวอร์อิเล็กทรอนิกส์ และด้วยนวัตกรรมการวิจัยและพัฒนาที่ทันสมัย
ทั้งนี้ธุรกิจหลักของบริษัทฯมีการเติบโตมาโดยตลอด แบ่งได้ดังนี้ เพาเวอร์อิเล็กทรอนิกส์ ออโตเมชัน และระบบโครงสร้างพื้นฐาน บริษัทฯ มีสำนักงานขายมากมายในภูมิภาคหลักทั่วโลก โรงงานผลิตในอินเดีย สโลวาเกีย และประเทศไทย ศูนย์วิจัยพัฒนาและออกแบบในไทย อินเดีย เยอรมันและอื่นๆ อีกมากมายในหลายประเทศ
ล่าสุด บมจ. เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) ประสบความสำเร็จอย่างมากในการจัดงานประชุมสุดยอดอุตสาหกรรมแห่งอนาคต หรือ Delta Future Industry Summit 2024 เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2567 ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรม ชาเทรียม แกรนด์ กรุงเทพฯ ภายใต้ธีม “ปลดล็อกศักยภาพ AI รองรับการเติบโตของอุตสาหกรรม และดาต้าเซ็นเตอร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Unlocking the Potential of AI for Industrial and Data Center Growth in Southeast Asia)”
สำหรับครั้งนี้ได้สะท้อนให้เห็นถึงบทบาทของ AI ในการพลิกโฉมอุตสาหกรรม เพิ่มประสิทธิภาพ และขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั่วทั้งภูมิภาค โดยมุ่งเน้นไปที่การใช้ศักยภาพของ AI ในการเปลี่ยนแปลงระบบอุตสาหกรรมอัตโนมัติ การเพิ่มประสิทธิภาพดาต้าเซ็นเตอร์ และระบบอาคารอัตโนมัติ ซึ่งให้ความสำคัญกับบทบาทของ AI ในการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การรับมือกับความท้าทายด้านความยั่งยืน และการส่งเสริมนวัตกรรมในตลาดที่กำลังเติบโตในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
โดย Delta Future Industry Summit 2024 เป็นเวทีสำคัญในการเรียนรู้โอกาสและความท้าทายที่เกิดขึ้นจากเทรนด์อุตสาหกรรมใหม่ที่กำลังเป็นกระแส เพื่อจุดประกายให้เกิดแนวคิดใหม่ ๆ สำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน ในปีนี้ การประชุมฯ ได้มีการรวบรวมบริษัทชั้นนำในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี รวมไปถึงผู้นำนวัตกรรมและผู้กำหนดนโยบายมากมายไว้ที่นี่ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการเติบโตที่ขับเคลื่อนด้วย AI ในอนาคตในภูมิภาค โดยเน้นย้ำบทบาทและศักยภาพของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในการรับมือกับความท้าทายใหม่ ๆ ด้วยพลังของ AI เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
พร้อมกันนี้ นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้กล่าวปราศรัยพิเศษเพื่อนำเสนอเส้นทางสู่ยุค AI ของประเทศไทย ในหัวข้อ "การมุ่งหน้าสู่ยุค AI ของประเทศไทย" นายวิคเตอร์ เจิ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทเดลต้า ประเทศไทย ได้กล่าวสุนทรพจน์ต้อนรับและบรรยายในหัวข้อ "การใช้ประโยชน์จาก AI เพื่อปลดล็อกศักยภาพการเติบโตในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้" สำหรับปาฐกถาหลัก นางภารดี สินธวณรงค์ Head of Marketing, Thailand & Vietnam at Facebook Thailand ได้นำเสนอหัวข้อ "การเชื่อมต่อแห่งอนาคตที่ขับเคลื่อนด้วย AI" ต่อด้วยการสนทนาแบบ Fireside chat
โดยนายทิม โรเซนฟิลด์ ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วมของบริษัท Firmus Technologies และ Sustainable Metal Cloud (SMC) และนายเดวิด เลียล รองประธานบริษัทเดลต้า ฝ่ายธุรกิจภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ผู้สัมภาษณ์) ในหัวข้อ "ปลดล็อคการเติบโตของปัญญาประดิษฐ์ AI อย่างยั่งยืน
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า "ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ไม่ใช่กระแสที่เกิดขึ้นเพียงชั่วคราว หากแต่เป็นพลังขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงที่จะปฏิรูปเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และสังคมของเราอย่างรอบด้าน จากการคาดการณ์ว่ามูลค่าตลาด AI ทั่วโลกจะมีมูลค่าสูงถึง 826 พันล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2573 นั้น ประเทศไทยพร้อมคว้าโอกาสนี้ผ่านแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
ซึ่งวางกรอบการดำเนินงานไว้อย่างเป็นรูปธรรม เป้าหมายของเราคือการสร้างบุคลากรด้าน AI ให้ได้มากกว่า 30,000 คนภายในปี 2570 พร้อมทั้งส่งเสริมการเติบโตของธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วย AI ให้มีมูลค่ารวมมากกว่า 48,000 ล้านบาท ในขณะเดียวกัน ประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคก็กำลังเร่งลงทุนด้าน AI อย่างจริงจัง โดยมุ่งหวังที่จะเร่งการเติบโตทางเศรษฐกิจและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ผมมีความเชื่อมั่นว่า ด้วยความร่วมมืออย่างแน่นแฟ้นในภูมิภาค เราจะสามารถยกระดับตำแหน่งของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้เป็นกำลังสำคัญระดับโลกในด้านนวัตกรรมที่ขับเคลื่อนด้วย AI ได้อย่างแน่นอน
ด้าน นายวิคเตอร์ เจิ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทเดลต้า ประเทศไทย กล่าวว่า รู้สึกตื่นเต้นเป็นอย่างยิ่งที่ได้้ร่วมรับฟังการอภิปรายที่น่าสนใจในงาน Delta Future Industry Summit 2024 ซึ่งมุ่งวิเคราะห์บทบาทของ AI ในการปฏิวัติอุตสาหกรรมชั้นนำต่าง ๆ เดลต้ารู้สึกภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญนี้ ผ่านโซลูชันนวัตกรรมหลากหลายรูปแบบของเรา ตัวอย่างเช่น โซลูชันระบายความร้อนขั้นสูง Air-Assisted Liquid Cooling (AALC) ที่มีประสิทธิภาพสูง ซึ่งให้ความสามารถในการระบายความร้อนมากกว่า 2.5 เท่าและใช้พลังงานน้อยกว่า 7% เมื่อเทียบกับการระบายความร้อนด้วยอากาศแบบเดิม วิสัยทัศน์ของเดลต้าไม่เพียงแค่มุ่งก้าวล้ำนำหน้ากระแสเท่านั้น แต่เรายังมุ่งมั่นที่จะสร้างสรรค์อนาคตที่เทคโนโลยีสามารถยกระดับคุณภาพชีวิต ส่งเสริมการเติบโตของธุรกิจ และขับเคลื่อนด้วยหลักความยั่งยืน เพื่อก้าวสู่โลกที่ชาญฉลาด ยั่งยืน และเชื่อมโยงถึงกัน
สำหรับปาฐกถาหลัก นางภารดี สินธวณรงค์ Head of Marketing, Thailand & Vietnam at Facebook Thailand กล่าวว่า “ที่ Meta เราภูมิใจที่ได้เชื่อมโยงผู้คนกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรโลกด้วยวิธีการที่สร้างแรงบันดาลใจและล้ำสมัย โดยมีผู้ใช้งานรายวันมากกว่า 3,270 ล้านคน เพื่อส่งเสริมการเติบโตของธุรกิจต่าง ๆ เราได้ลงทุนมากกว่า 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี AI ที่ช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับการเชื่อมต่อเหล่านี้ ขณะนี้ เทคโนโลยี Gen AI สำหรับธุรกิจของเราได้เปิดให้บริการแก่ธุรกิจในประเทศไทยผ่านฟีเจอร์ Advantage+ Creative ช่วยให้ธุรกิจสามารถปรับแต่งแคมเปญให้เป็นรูปแบบที่หลากหลาย เพิ่มประสิทธิภาพด้านเวลาและทรัพยากร พร้อมสร้างการปรับแต่งเฉพาะบุคคลและการเชื่อมต่อในระดับที่ใหญ่ขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ตามในการกล่าวปาฐกถาพิเศษช่วงที่สอง นายทิม โรเซนฟิลด์ ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วมของบริษัท Firmus Technologies และ Sustainable Metal Cloud (SMC) ได้เน้นย้ำว่าแม้ AI จะสามารถปฏิวัติวงการอุตสาหกรรมได้อย่างต่อเนื่อง แต่หนึ่งในความท้าทายที่สำคัญที่สุดที่เราเผชิญคือความต้องการพลังงานที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ท่ามกลางการขยายตัวอย่างรวดเร็วของตลาดศูนย์ข้อมูลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เราพบโอกาสสำคัญในการแก้ไขปัญหานี้โดยอาศัยระบบโครงสร้างพื้นฐานการทำความเย็นด้วยของเหลว หรือ Liquid cooling infrastructure ที่เข้ามาเป็นตัวพลิกโฉมการใช้พลังงานในระบบโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าว
โดยเทคโนโลยีนี้สามารถลดการใช้พลังงานและการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึงร้อยละ 50 นายทิมยังเน้นย้ำว่า การปรับปรุงดาต้าเซ็นเตอร์ที่มีอยู่เดิมด้วยเทคโนโลยีนี้ไม่เพียงแต่ทำได้จริง แต่ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรม ควบคู่ไปกับการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพ
การเสวนากลุ่มช่วงที่หนึ่ง ภายใต้หัวข้อ "ความท้าทายและโอกาสในการประยุกต์ใช้ AI สำหรับงานโครงสร้างพื้นฐานดาต้าเซ็นเตอร์" ได้รวบรวมผู้นำทางความคิดหลายท่าน ประกอบด้วย นายธีรพันธุ์ เจริญศักดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทรู ไอดีซี จำกัด นางสาวเจมมี่ โค ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายสาธารณะและรัฐกิจสัมพันธ์ของ Grab นางสาวอิง ศิริกุลบดี ผู้จัดการฝ่ายนโยบายสาธารณะของ Facebook ประเทศไทย และนายศักดา แซ่อึ้ง ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจโซลูชันข้อมูลและการสื่อสารประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของเดลต้า อีเลคโทรนิคส์
โดยในการเสวนา ผู้ร่วมอภิปรายได้ให้ความสำคัญกับแนวคิด "ปัญญาประดิษฐ์ที่มีความรับผิดชอบ" (Responsible AI) ในฐานะองค์ประกอบพื้นฐานสำหรับนักพัฒนา แพลตฟอร์ม และประเทศต่าง ๆ โดยเน้นย้ำถึงบทบาทสำคัญของแนวคิดนี้ในการสร้างความไว้วางใจ ความโปร่งใส และความรับผิดชอบในการพัฒนาและใช้งานเทคโนโลยี AI นอกจากนี้ ผู้ร่วมเสวนาได้อภิปรายเกี่ยวกับกลยุทธ์ในการผสานศักยภาพของ AI เข้ากับแพลตฟอร์มที่มีอยู่
ทั้งนี้ได้เน้นถึงความสำคัญของการบูรณาการอย่างไร้รอยต่อ ซึ่งไม่เพียงแต่ยกระดับประสบการณ์ของผู้ใช้ แต่ยังช่วยลดการหยุดชะงักและความเสี่ยงในการดำเนินงานให้เหลือน้อยที่สุด การสนทนายังครอบคลุมถึงแนวทางที่บริษัทต่าง ๆ สามารถรับประกันความคุ้มค่าของการลงทุนด้าน AI ในระยะยาว โดยมุ่งเน้นสามประเด็นหลัก ได้แก่ การรักษาความคล่องตัวในการประยุกต์ใช้นวัตกรรม การปรับตัวอย่างต่อเนื่องเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และการลงทุนในโซลูชันที่สามารถขยายขนาดได้ เพื่อรักษาความได้เปรียบในการแข่งขันภายในภูมิทัศน์ดิจิทัลที่มีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว
สำหรับการเสวนากลุ่มช่วงที่สอง ภายใต้หัวข้อ "การใช้ประโยชน์จากพลังของ AI มาสร้างสรรค์พื้นที่ทำงานและที่อยู่อาศัยอัจฉริยะ" มีผู้ร่วมอภิปรายประกอบด้วย นายเอลวิน ตัน ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายโซลูชันลูกค้าของ CapitaLand นายปกาศิต พึ่งรัศมี ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิรูปการดำเนินงานด้านซีเมนต์จาก SCG ดร.เชาวลิต มิตรสันติสุข จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และคุณเจน หยาง ฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์เชิงกลยุทธ์ระดับโลกของกลุ่มธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานของเดลต้า ในการเสวนาครั้งนี้ ผู้ร่วมอภิปรายได้หยิบยกประเด็นความท้าทายที่องค์กรต่าง ๆ ต้องเผชิญในการผสานรวม AI เข้ากับสภาพแวดล้อมการผลิตและอาคารต่าง ๆ
ขณะเดียวกันได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการประยุกต์ใช้ AI ให้สอดคล้องกับระบบที่มีอยู่เดิม การจัดการต้นทุนที่สูง และการบูรณาการข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ยังได้อภิปรายถึงศักยภาพของ AI ในการเสริมสร้างความยั่งยืนและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในอาคารและโรงงาน พร้อมทั้งนำเสนอแนวทางการใช้ AI เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการทรัพยากรและลดปริมาณของเสีย
การเสวนายังครอบคลุมถึงความสามารถของพื้นที่ที่ขับเคลื่อนด้วย AI ในการปรับตัวให้เข้ากับความต้องการของผู้ใช้ โดยเน้นย้ำความสำคัญของการรักษาสมดุลระหว่างนวัตกรรมและความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ ในประเด็นนี้ ผู้ร่วมอภิปรายได้ย้ำถึงความสำคัญของการรักษาความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยในยุคของ AI พร้อมทั้งเสนอแนะถึงความจำเป็นในการพัฒนาระบบป้องกันข้อมูลที่แข็งแกร่งและการกำหนดนโยบายที่โปร่งใส
นอกจากนี้ ภายในงาน เดลต้าได้จัดแสดงผลิตภัณฑ์และโซลูชันที่ล้ำสมัย ประกอบด้วย:
•โซลูชันดาต้าเซ็นเตอร์
•ระบบอุตสาหกรรมอัตโนมัติ
•โซลูชันการจัดการพลังงานไฟฟ้าอัจฉริยะ
•โซลูชันการเฝ้าระวังอัจฉริยะและการจัดการอาคารอัจฉริยะที่ขับเคลื่อนด้วย AI
“Delta Future Industry Summit 2024 ได้ตอกย้ำบทบาทความเป็นผู้นำของเดลต้าในการสร้างเวทีแห่งความร่วมมือสำหรับผู้นำอุตสาหกรรมและผู้กำหนดนโยบาย งานประชุมสุดยอดอุตสาหกรรมแห่งอนาคตครั้งนี้ไม่เพียงแต่สร้างแรงบันดาลใจให้เกิดแนวคิดเชิงนวัตกรรม แต่ยังมีส่วนสำคัญในการวางรากฐานสำหรับอนาคตที่เติบโตอย่างยั่งยืนของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ความสำเร็จของงานประชุมฯ ครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของเดลต้าในการดำเนินงานตามพันธกิจ "มุ่งมั่นสร้างสรรค์ นวัตกรรมการใช้พลังงานสะอาดและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานเพื่ออนาคตที่ดีกว่า" บริษัทฯยังคงเดินหน้าผลักดันเทคโนโลยีและความยั่งยืน พร้อมทั้งส่งเสริมความร่วมมือที่เสริมสร้างศักยภาพให้แก่ภาคอุตสาหกรรมและชุมชน เพื่อรองรับการเติบโตในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงที่ขับเคลื่อนด้วย AI”