SPRiNG พาไปดู "ยุทธศาสตร์ 2D" ที่การท่าเรือแห่งประเทศไทย นำมาใช้เป็นกระดูกสันหลังในการพัฒนา พร้อมขึ้นแท่นฮับเป็นขนส่งทางน้ำ และท่าเรือสีเขียวชั้นนำของโลก
แน่นอนว่าการขนส่งทางทะเลมีความสำคัญทางเศรษฐกิจ เพราะมีส่วนช่วยผลักดันการค้าทั่วโลกถึง 90% แต่ปัญหาที่ชวนปวดหัวก็คือ ระบบการจัดการท่าเรือนั้นกำลังมุ่งทำลายสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องมลพิษทางน้ำ อากาศ การปนเปื้อนสารอันตราย รวมถึงปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากถึง 3% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 50% ภายในปี 2050
ทั้งนี้ การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ซึ่งเป็นหนึ่งในหน่วยงานภายใต้การดูแลของกระทรวงคมนาคม กำลังเร่งผลักดันแนวคิดในการมุ่งสู่การเป็นท่าเรือสีเขียว ที่ลดมลพิษทั้งทางน้ำ อากาศ และตั้งเป้าปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์ในอนาคต
เกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) กล่าวในงานงานสัมมนา POSTTODAY Thailand Smart City 2025 การจัดการเมืองอัจฉริยะด้วยเทคโนโลยีและ AI เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต” ในหัวข้อ Smart Port For Green Ecocomy ว่า การท่าเรือแห่งประเทศไทยได้นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ ซึ่งสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนลง และช่วยเพิ่มขีดความสามารถการขนส่งสินค้า พร้อมตั้งเป้าลดคาร์บอนเป็นศูนย์ ในปี 2050
คำตอบของคำถามเมื่อครู่ สามารถสรุปได้ภายใน 2 คำ นั่นคือ 2D โดยย่อมาจากคำว่า Digitalization = การนำเทคโนโลยีมาใช้ และ Decarbonization ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่ต้องขับเคลื่อนไปพร้อมกัน รวมถึงการนำเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์มาใช้ในการขับเคลื่อนเพื่อลดของเสีย
นายเกรียงไกร เปิดเผยว่า นี่เป็นครั้งแรกในประวัติศาสสตร์ ที่ท่าเรือของไทยได้เพิ่มขีดความสามารถขนส่งสินค้าได้ 10.7ล้านตู้ อีกทั้งยังมีปริมาณการนำเข้า และส่งออกใกล้เคียงกัน และเราให้ความสำคัญกับการดึงศักยภาพของท่าเรือชั้นนำโลกนำมาปรับใช้กับท่าเรือในประเทศ
นายเกรียงไกร กล่าวว่า “ท่าเรือแหลมฉบัง จากที่เคยอยู่อันดับที่ 20 วันนี้อยู่ที่ ลำดับ 17 ของโลก ถือว่าดีที่สุดแล้ว และหากเราไปดูการจัดอันดับท่าเรือสีเขียว จะพบว่า ประเทศจีนติดอันดับต้นๆ เพราะมุ่งลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และนำเทคโนโลยีมาใช้ การขนส่งสินค้าใช้ระบบอัตโนมัติ ไร้คนขับ การนำรถ AGV มาลำเลียงสินค้าช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้เกิดรวดเร็ว”
ทั้งนี้ นายเกรียงไกรยังเปิดเผยอีกว่า การนำเทคโนโลยี และการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นเรื่องที่มีความเชื่อมโยงกัน เพื่อให้การสนับสนุนภาคธุรกิจด้วยความรวดเร็วยิ่งขึ้น
และเมื่อมองกลับมาที่ประเทศไทย นายเกรียงไกร มองว่า มีโจทย์ให้แก้อยู่ 2-3 ข้อ ได้แก่ จะทำอย่างไรให้ท่าเรือของไทยเป็นที่สนใจในระดับโลก และจะสามารถนำแนวคิดจากต่างประเทศมาปรับท่าเรือไทยให้สามารถก้าวเข้าสู่การเป็นท่าเรือสีเขียวได้อย่างไร
โดยนายเกรียงไกรได้ยกกรณีของ ท่าเรือแหลมฉบังเฟส ที่ได้มีการออกแบบนโยบายเพื่อการเป็นท่าเรือสีเขียวทั้งระบบ ผ่านการนำเทคโนโลยีมาใช้ ไม่ว่าจะเป็น ระบบอัตโนมัติ พลังงานสะอาด พลังงานทดแทน รวมถึงมีการติดตั้งโซลาร์เซลล์ลอยน้ำ (solar floating) และนำไฟฟ้าที่ผลิตได้ไปขับเคลื่อนกระบวนการทำงานที่การท่าเรือ
“การก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบัง มีการถมพื้นที่ 2,000 กว่าไร่ ซึ่งในจุดนี้ ก็ได้มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพิ่มความรวดเร็ว คาดการณ์ว่าจะแล้วเสร็จในอีก 2 ปี และในเฟส 3 ท่าเรือแหลมฉบังจะใช้ระบบอัตโนมัติทั้งหมด เพิ่มขีดความสามารถเป็น 7 ล้านตู้”
ในส่วนของ ท่าเรือกรุงเทพ ปรับจากเดิมใช้พื้นที่ 1 ใน 3ให้เป็นท่าเรือที่มีความทันสมัยขึ้น อีก 2 ส่วนจะเป็นคอมเมอร์เชียลกับบิ๊กยูส การแปลงของเสียให้เป็นของดี นำพลังงานไฟฟ้ามาขับเคลื่อน เพื่อให้เกิดสมาร์ทคอมมูนิตี้ อยู่ด้วยกันกับชุมชนโดยไม่ทิ้งกัน สมาร์ท พอตใหม่ จะรองรับเรือท่องเที่ยว มีดิวตี้ฟรี เป็นเมืองเขตเศรษฐกิจพิเศษใหม่ เชื่อมโยงรถไฟฟ้าใต้ดิน จะดำเนินการออกแบบให้เป็นท่าเรือสีเขียว
อย่างไรก็ดี นายเกรียงไกร ได้กล่าวปิดท้ายว่า ทำเลของประเทศไทยนับว่าเป็นทำเลที่มีความสำคัญ
“เราเป็นจุดเชื่อมโยงระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน และถ้าเราตั้งต้นที่จีนตอนใต้ แทนที่จะวิ่งเรือส่งสินค้าไปอ้อมที่ช่องแคบมะละกา สามารถวิ่งมาตัดที่ระนองได้เลย ซึ่งเรามีท่าเรือระนองอยู่ จุดนี้จะกลายเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญ และเป็นท่าเรือที่เป็นจุดเชื่อมโยงของถนน ราง เรือให้มีความสัมพันธ์กัน ซึ่งจะเป็นแบบนั้นได้ต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง