svasdssvasds

Repair Kopitiam แหล่งรวมนักซ่อมสูงวัย ผู้คืนชีวิตให้เครื่องใช้ไฟฟ้าเก่า

Repair Kopitiam แหล่งรวมนักซ่อมสูงวัย ผู้คืนชีวิตให้เครื่องใช้ไฟฟ้าเก่า

เปิดโลกทัศน์การจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ฉบับสิงคโปร์ ผ่าน "Repair Kopitiam" โปรเจกต์สอนซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าให้กับผู้สูงอายุ และใช้วิชานั้นซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าให้กับประชาชน เรื่องนี้สะท้อนแนวคิดเรื่องสังคมผู้สูงอายุของวิถีรักษ์โลกของสิงคโปร์ได้เป็นอย่างดี

SHORT CUT

  • “Kopitiam” หรือ “โกปี้เตี่ยม” มีความหมายว่าร้านกาแฟ เป็นลักษณะร้านกาแฟที่พบมากในประเทศโซนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 
  • “Repair Kopitiam” โปรเจกต์ที่รวบรวมผู้สูงอายุ ผู้เบื่อหน่ายกับชีวิตหลังเกษียณ และมีความสนใจในวิชาการช่างซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า เมื่อมีวิชาติดตัวแล้ว มนุษย์ สว. จะเดินสายซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าให้กับประชาชนทั่วสิงคโปร์
  • ข้อมูลจากกองติดตามประเมิณผลสิ่งแวดล้อม ระบุว่า ในปี 2564 ไทยสร้างขยะอิเล็กทรอนิกส์ (E-waste) ราว 435,187 ตัน ขณะที่ สิงคโปร์สร้างขยะอิเล็กทรอนิกส์เฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 60,000 ตัน

 

เปิดโลกทัศน์การจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ฉบับสิงคโปร์ ผ่าน "Repair Kopitiam" โปรเจกต์สอนซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าให้กับผู้สูงอายุ และใช้วิชานั้นซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าให้กับประชาชน เรื่องนี้สะท้อนแนวคิดเรื่องสังคมผู้สูงอายุของวิถีรักษ์โลกของสิงคโปร์ได้เป็นอย่างดี

สิงคโปร์: ดินแดนแห่งสิงโตพ่นน้ำ ที่กระหายคนหนุ่มสาว

ปัจจุบัน สิงคโปร์ได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ และประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานหนุ่มสาว ทำให้สำนักงานแรงงานสิงคโปร์ประกาศว่าจะปรับเพิ่มเกณฑ์อายุเกษียณเพิ่มเป็น 64 ปี ในปี 2569

ตัน ซี เลง รัฐมนตรีกระทรวงการคลังสิงคโปร์ เปิดเผยว่า ในปี 2022 มีชาวสิงคโปร์ที่อายุ 65 ปีขึ้นไป ถูกจ้างงานราว 207,300 คน และทุก ๆ 10 คน จะมี 7คนที่ยังทำงานอยู่ โดยแรงงานสูงวัยกลุ่มนี้มีรายได้น้อยกว่า 2,500 สิงคโปร์ดอลลาร์ หรือประมาณ 67,800 บาท ซึ่งถือว่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ยรายได้ของแรงงานในสิงคโปร์ (1.5 แสนบาท)

“ในเมื่อเราไม่สามารถห้ามผมไม่ให้หงอกได้ คนในครอบครัวต้องพูดคุยกับผู้สูงอายุในบ้านให้มากขึ้น ผู้ประกอบการต้องจ้างงานผู้สูงอายุให้มากขึ้น สิงคโปร์ควรให้ความเคารพกับผู้สูงอายุอย่างจริงจัง” ลี เซียน ลุง อดีตนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ กล่าวถึงสังคมผู้สูงอายุของสิงคโปร์ เมื่อปี 2023

ลี เซียน ลุง อดีตนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ Credit ภาพ IG: Leehsienlung

ประเด็นเรื่องผู้สูงอายุเป็นเพียงน้ำจิ้ม ทีมข่าวสปริงนิวส์มีโอกาสได้ร่วมฟังบรรยายจาก “Wanying Weng” ที่ปรึกษาอาวุโสจาก “Sustainable Living Lab” หน่วยงานให้คำปรึกษาด้านความยั่งยืนและนวัตกรรม ซึ่งทำโปรเจกต์ด้านความยั่งยืนในสิงคโปร์มาร่วม 10 ปี

Wanying Weng” ที่ปรึกษาอาวุโสจาก “Sustainable Living Lab”

ไฮไลท์การบรรยายในครั้งนี้คือ “Repair Kopitiam” โปรเจกต์ที่รวบรวมผู้สูงอายุ ผู้เบื่อหน่ายกับชีวิตหลังเกษียณ และมีความสนใจในวิชาการช่างซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า เมื่อมีวิชาติดตัวแล้ว มนุษย์ สว. จะเดินสายซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าให้กับประชาชนทั่วสิงคโปร์

สปริงนิวส์ชวนเจาะลึกถึงโปรเจกต์นี้ มีที่มาอย่างไร รวมถึงพาไปสำรวจเหลี่ยมมุมที่สะท้อนถึงความสำคัญกับกลุ่มประชากรผู้สูงอายุ ที่แม้อายุอานามจะทะลุเลขหกเลขเจ็ดไปแล้ว แต่ทำไมสิงคโปร์ถึง (ยัง) มอบคุณค่าให้กับช่างซ่อม สว. เหล่านี้

Repair Kopitiam โปรเจกต์รวมนักซ่อมสูงวัยแห่งสิงคโปร์ เครดิตภาพ Repair Kopitiam

Repair Kopitiam โปรเจกต์รวมนักซ่อมสูงวัยแห่งสิงคโปร์ เครดิตภาพ Repair Kopitiam

Day 1: Repair Kopitiam โปรเจกต์คืนชีวิตให้สารพัดสิ่งของ

“Kopitiam” หรือ “โกปี้เตี่ยม” มีความหมายว่าร้านกาแฟ เป็นลักษณะร้านกาแฟที่พบมากในประเทศโซนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย หรือไทยก็มีเจ้าดัง ๆ อยู่หลายร้าน โดยคอนเซปต์คือจะเสิร์ฟเมนูอาหารเช้า ขนมหวาน เคียงคู่กับเครื่องดื่ม ซึ่งในสิงคโปร์มีโกบี้เตี่ยมอยู่มากกว่า 2,000 แห่งเลยทีเดียว

โกปี้เตี่ยม มีความหมายว่าร้านกาแฟ

คุณ Wanying Weng อธิบายว่า Sustainable Living Lab ได้หยิบเอกลักษณ์ของโกปี้เตี่ยมมาดัดแปลงเป็นโปรเจกต์ “Repair Kopitiam” ซึ่งคอนเซปต์ก็ถอดแบบกันมาเลยคือเป็นเหมือนคอมมูนิตี้เล็ก ๆ ที่ให้คนได้มาทำบางสิ่งบางอย่างร่วมกัน ในที่นี้คือมาซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าด้วยกัน

Repair Kopitiam มีทั้งหมด 12 แห่งทั่วสิงคโปร์

เป้าหมายของโปรเจกต์ Repair Kopitiam คือ “ต่อสู้กับปัญหาขยะที่กำลังเพิ่มพูนขึ้นในสิงคโปร์” ซึ่งขยะที่ว่านั้นก็เป็นสิ่งของธรรมดาที่พบเห็นได้ในชีวิตประจำวัน เช่น เสื้อผ้าที่ฉีกขาด เฟอร์นิเจอร์เก่า และที่เน้นเป็นพิเศษคือเครื่องใช้ไฟฟ้า

นับตั้งแต่ปี 2557 จนถึงตอนนี้ก็เป็นเวลา 10 ปีพอดี ที่ Veerappan Swaminathan และ Farah Sanwari สองผู้ร่วมก่อตั้ง Sustainable Living Lab ได้ริเริ่มโปรเจกต์ Repair Kopitiam ขึ้นมา

ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง: ดึงผู้สูงอายุรีสกิลซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า

การโอบรับกลุ่มผู้สูงอายุถือเป็นแนวคิดที่เด่นมากของสิงคโปร์ Sustainable Living Lab ผู้อยู่เบื้องหลังโปรเจกต์ Repair Kopitiam จึงออกไอเดียเปิดคอร์สสอนวิชาซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิดให้กับผู้สูงอายุที่สนใจ ไม่ว่าจะเป็น รีโมท ทีวี พัดลม เครื่องปรับอากาศ

ผู้สูงอายุในสิงคโปร์รู้สึกสมองโลดแล่น และมีชีวิตชีวา เครดิตภาพ Repair Kopitiam

ตลอดระยะเวลา 10 ปีของโปรเจกต์ Repair Kopitiam มีผู้สูงอายุหลากหลายเจเนอเรชันด้วยกันที่เข้าร่วมฝึกวิชาซ่อมเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งคอร์สจะใช้เวลาสอนทั้งหมด 3 เดือน เปิดสอนอยู่ตาม Repair Kopitiam ทั้ง 12 แห่ง ที่กระจายอยู่ทั่วทุกมุมของสิงคโปร์ ได้แก่ Jurong Lake Garden, YuHua, Choa Chu Kang, Havelock, City Sprouts, Bukit, Bishan, Pek Kio, Lor Lew Lian, Ang Mo Kio, Coral Ris, Our Tampines Hub, Tampines DTL

คุณ Wanying Weng ในฐานะผู้ที่คลุกคลีอยู่กับโปรเจกต์นี้ เล่าว่า คนที่มาเข้ารับการอบรมวิชาซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้ากับโปรเจกต์นี้ส่วนใหญ่เป็นบุรุษเพศ โดยผู้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นไปในทางเดียวกันว่าคอมมูนิตี้แห่งนี้ทำให้พวกเขา (มนุษย์สูงวัย) ได้ใช้สมองประมวลผล วางแผนอยู่ตลอด ได้มีวิชาซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าติดตัว ที่สำคัญคือได้มีปฏิสัมพันธ์กับผู้คน ซึ่งเป็นเรื่องที่คนสูงอายุต่างเรียกร้อง และใฝ่หา

ทำไมซ่อมดีกว่าซื้อใหม่ ทั้ง ๆ ที่ราคาไม่ต่างกัน?

ระหว่างการบรรยายมีคนโพล่งคำถามนี้ขึ้นมา ทุกสายตาในห้องวันนั้นหันไปจ้องมอง Wanying Weng ผู้บรรยายที่กำลังทำหน้าที่ของตัวเอง ระหว่างนั้นมือข้างถนัดกำปากกาไว้แน่นพร้อมจดบันทึกทุกคำที่เธอจะตอบกลับมาไขกระจ่างให้กับคำถามนี้

“สิ่งที่เราต้องการจะสื่อออกไปก็คือคอนเซปต์ Design for Repair ผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ควรออกแบบหรือผลิตสินค้าที่คำนึงถึงขั้นตอนการซ่อมแซมเอาไว้ด้วย หมายความว่าเมื่อผู้บริโภคซื้อสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ไป นอกจากแนบวิธีประกอบ หรือวิธีใช้งานมาแล้ว ควรแนบวิธีซ่อมแซมมาให้ด้วย”

Wanying Weng ที่ปรึกษาอาวุโสจาก Sustainable Living Lab

แวะถามผู้อ่านชาวสปริงนิวส์สั้น ๆ ว่า “มีสักกี่ครั้งในชีวิตที่คุณซ่อมพัดลมเอง หรือยามใดที่เครื่องปรับอากาศพังแล้วคุณลงมือซ่อมด้วยตัวเอง?” และอีกหนึ่งคำถามคือ “คุณส่งเครื่องใช้ไฟฟ้าไปซ่อมหรือซื้อใหม่ (สะดวกกว่า)?”

คุณ Wanying Weng อธิบายต่อว่า ในประเทศแถบยุโรป มีการผลักดันให้ติด “Repair Label” หรือฉลากที่บอกว่าสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ชิ้นนั้นมีคู่มือการซ่อมแนบมาให้ ซึ่งเบื้องหลังมาตรการนี้ก็เพื่อยืดอายุการใช้งานสินค้า และเพื่อให้คนสามารถซ่อมสินค้าได้เอง ดีกว่านำไปทิ้งแล้วเป็นขยะ ซึ่งเป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม

สิงคโปร์ ประเทศที่เล็กกว่ากรุงเทพฯ มีขยะอิเล็กทรอนิกส์มากแค่ไหน?

ข้อมูลจากกองติดตามประเมิณผลสิ่งแวดล้อม ระบุว่า ในปี 2564 ไทยสร้างขยะอิเล็กทรอนิกส์ (E-waste) ราว 435,187 ตัน ขณะที่ สิงคโปร์สร้างขยะอิเล็กทรอนิกส์เฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 60,000 ตัน

สปริงนิวส์ชวนดูต่อว่า นอกจากโปรเจกต์ Repair Kopitiam ของ Sustainable Living Lab สิงคโปร์ทำอะไรอีกบ้างเกี่ยวกับโซลูชันกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ (E-waste)?

สำนักงานสิ่งแวดล้อมแห่งชาติสิงคโปร์ หรือ National Environment Agency (NEA) ได้ออกพ.ร.บ. ความยั่งยืนด้านทรัพยากร (Resource Sustainability Act) เพื่อใช้จัดการกับขยะอิเล็กทรอนิกส์

เนื้อหาใจความของ พ.ร.บ. ดังกล่าวระบุว่าผู้ผลิตต้องรับผิดชอบต่อสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของตัวเอง และนำไปรีไซเคิลตามความเหมาะสม หรือไอเดียเดียวกับหลักการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิตหรือที่เราคุ้นหูคุ้นตาในตัวย่อภาษาอังกฤษ “EPR” นั่นเอง

นอกจากนี้ สิงคโปร์ยังมีสิ่งที่เรียกว่า “E-waste Bins” หรือจุดทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งถูกติดตั้งไว้ทั่วสิงคโปร์เพื่อให้ประชาชนนำเครื่องใช้ไฟฟ้าของตัวเอง ปัจจุบัน E-waste Bins มีอยู่มากกว่า 800 แห่งทั่วประเทศ

E-waste Bins ถูกติดตั้งไว้กว่า 800 แห่งทั่วสิงคโปร์ Credit ภาพ alba-ewaste

ขยะที่รวบรวมได้ทั้งหมดใน E-waste Bins จะถูกรวบรวมและส่งไปรีไซเคิลกับบริษัทที่ร่วมมือกับสำนักงานสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเพื่อกำจัดหรือรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ในลำดับถัดไป

เว็บไซต์ Strait times ระบุว่า ขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่รวบรวมได้จาก E-waste Bins มีจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 16,000 ตัน พูดได้เต็มปากว่านี่คือกลยุทธ์ที่ประสบความสำเร็จของสิงคโปร์

 

*หมายเหตุ ทีมข่าวสปริงนิวส์ได้ร่วมเดินทางไปสิงคโปร์ภายใต้การดูแลของ Singapore International Foundation (SIF)

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

related