svasdssvasds

เจาะลึก "Swisstainable" โมเดลท่องเที่ยวยั่งยืน ให้โอกาสธรรมชาติได้ฟื้นฟู

เจาะลึก "Swisstainable" โมเดลท่องเที่ยวยั่งยืน ให้โอกาสธรรมชาติได้ฟื้นฟู

องค์กรภาครัฐ-เอกชน ชี้เมกะเทรนด์ท่องเที่ยวโลกเดินหน้าสร้างสมดุลเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม มุ่งสู่ “ท่องเที่ยวยั่งยืน” ชูต้นแบบ Swisstainable "เลส์ โรชส์" พัฒนาหลักสูตรเชื่อมนวัตกรรม-ความยั่งยืน 

สถาบันเลส์ โรชส์ (Les Roches) สถาบันการโรงแรมระดับโลก จากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ร่วมกับ บริษัท เอกธนา ฮอสปิตอลลิตี้ เอ็ดยูเคชั่น เซอร์วิสเซส จำกัด และ กรุงเทพธุรกิจ จัดงาน “INNOVATION TOURISM & HOSPITALITY FOR SUSTAINABILITY” ณ โรงแรมสวิสโฮเต็ล กรุงเทพฯ รัชดา เมื่อวันที่ 29 พ.ค.2567

ทั้งนี้ มีตัวแทนภาครัฐและเอกชนจากประเทศไทยและสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นประเทศที่มีชื่อเสียงด้านการท่องเที่ยวระดับโลก ร่วมนำเสนอมุมมองและเทรนด์นวัตกรรมในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ สู่การพัฒนาธุรกิจให้เกิดความยั่งยืน

เปิดประสบการณ์การท่องเที่ยวแบบยั่งยืนในงาน INNOVATION TOURISM & HOSPITALITY FOR SUSTAINABILITY

นายเปโดร สวาห์เลน เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งสมาพันธรัฐสวิสประจำประเทศไทยกล่าวว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมสำคัญที่ขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจโลก สร้างรายได้กว่า 11 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี และสร้างงานหลายล้านตำแหน่ง คิดเป็นสัดส่วน 10% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมโลก (Global GDP) เช่นเดียวกับที่สวิตเซอร์แลนด์สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวคิดเป็นสัดส่วน 3% ของ GDP ขณะที่ประเทศไทยซึ่งมีเศรษฐกิจที่พึ่งพาการท่องเที่ยวสูงมีสัดส่วนรายได้จากการท่องเที่ยวถึง 18% ของ GDP

ทั้งนี้ สวิตเซอร์แลนด์และไทยเป็นประเทศที่มีชื่อเสียงด้านการท่องเที่ยวและเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมของนักท่องเที่ยวทั่วโลก ด้วยทัศนีภาพที่งดงาม ความหลากหลายทางวัฒนธรรม รวมทั้งการต้อนรับอย่างเป็นมิตรกับนักท่องเที่ยว

อย่างไรก็ตาม ขณะที่การท่องเที่ยวสร้างการเติบโตให้เศรษฐกิจประเทศ แต่ก็สร้างผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งต้องยอมรับว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั่วโลกมีส่วนต้องรับผิดชอบต่อการเกิดภาวะโลกร้อน จากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 8% โดยเกิดจากกิจกรรมการท่องเที่ยวต่างๆ และส่วนใหญ่มาจากการเดินทาง

“กิจกรรมการท่องเที่ยวในอนาคตจึงต้องมีการจัดการที่ดี และตระหนักถึงการสร้างโมเดลท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยให้ความสำคัญกับการบริโภคและการท่องเที่ยวอย่างพอเหมาะพอดี ให้โอกาสธรรมชาติได้กลับมาฟื้นฟูดังเดิม รวมทั้งต้องเกิดประโยชน์และผลดีกับคนในชุมชนโดนรอบสถานที่ท่องเที่ยวด้วย นักท่องเที่ยวเองเป็นส่วนหนึ่งที่จะสามารถสนับสนุนและขับเคลื่อนให้เกิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเช่นกัน“

นายธีระศิลป์ เทเพนทร์ รองผู้ว่าการด้านดิจิทัล วิจัย และพัฒนา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เทรนด์การท่องเที่ยวในไทยมีจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวหลายด้าน ประกอบด้วย

1. การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และการทำศัลยกรรม จากชื่อเสียงด้านบุคคลากรการแพทย์ในประเทศ

2. การทำงานทางไกล ด้วยค่าครองชีพที่ไม่สูงนัก มีสัญญาณอินเทอร์เน็ตเสถียร ผนวกกับความดึงดูดในเชิงวัฒนธรรมที่ทำให้กลุ่มคนที่ทำงานที่ไหนก็ได้ (Digital Nomad) เลือกเข้ามาพักผ่อนในไทย โดยเฉพาะเมืองเชียงใหม่ กรุงเทพ เกาะพะงัน

3. การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ซึ่งไทยได้รับความสนใจอย่างมากจากทั่วโลก โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลที่มีเอกลักษณ์อย่างสงกรานต์ และลอยกระทง

4.การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เป็นหนึ่งเทรนด์ที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ซึ่งในไทยเองมีพื้นที่ธรรมชาติทั้งทะเลและภูเขาที่ตอบโจทย์กิจกรรมการท่องเที่ยวในลักษณะนี้อยู่มากเช่นกัน

ขณะเดียวกัน เพื่อโปรโมตการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ททท.ได้ผลักดันมาตรฐานการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยการประเมินให้ดาวเป็นสัญลักษณ์ 3 ดาว 4 ดาว และ 5 ดาว ซึ่งผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการจะมีโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน รวมทั้งสร้างโอกาสในการแข่งขันอีกด้วย

นายธีระศิลป์ กล่าวต่อว่า ยุคปัจจุบันเทคโนโลยีมีส่วนสำคัญมากในการสื่อสารและทำการตลาดเกี่ยวกับการท่องเที่ยวให้กระจายข้อมูลได้อย่างทั่วถึง ผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่างๆ ซึ่งถือเป็นเครื่องมีที่มีอิทธิพลสูงมากต่อการตัดสินใจมาท่องเที่ยว ด้วยการนำเสนอข้อมูลเรียลไทม์ และรูปแบบการนำเสนอแชร์ประสบการณ์แปลกใหม่

นายบาทิสท์ พิเลท์ Director of Switzerland Tourism-South East Asia กล่าวว่า ประเด็นเรื่องความยั่งยืนเป็นเรื่องที่คนรุ่นใหม่ให้คุณค่าและความสำคัญมากยิ่งขึ้น ทำให้ขณะนี้ทุกแบรนด์มีการสื่อสารเรื่องความยั่งยืนในมิติที่ต่างกัน โดยสวิตเซอร์แลนด์ซึ่งเป็นประเทศที่ต้อนรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกก็มีความริเริ่มในการนำหลักการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนและโมเดล “Swisstainable” มาใช้ ซึ่งเป็นนโยบายที่กำหนดโดยรัฐบาลและจะมีการทบทวนในทุกๆ 5 ปี

ทั้งนี้ การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนไม่ได้หมายถึงการปฎิเสธรับนักท่องเที่ยว หรือจำกัดให้คนมาน้อยลง เพราะนั่นอาจส่งผลเชิงลบทั้งต่อเศรษฐกิจและคนในชุมชนที่ทำอาชีพเกี่ยวกับการท่องเที่ยว โดยโมเดลดังกล่าวจะโฟกัสไปที่การนำเสนอประสบการณ์การท่องเที่ยวสวิตซ์ที่หลากหลายเพื่อให้นักท่องเที่ยวเลือกที่จะเพิ่มวันพักนานขึ้นแทนที่จะไปโฟกัสเรื่องจำนวน

สำหรับโมเดลการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของสวิตเซอร์แลนด์ ประกอบด้วย การเพิ่มตัวเลือกการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนให้กับนักท่องเที่ยว อาทิ การส่งเสริมระบบขนส่งสาธารณะ การเดิน และการขี่จักรยาน การรับรองโรงแรมและที่พักอื่นๆ ที่มีมาตรการรักษาสิ่งแวดล้อม การเสนอทัวร์และกิจกรรมที่เน้นการอนุรักษ์และการศึกษา

นอกจากนี้ มุ่งเน้นการทำงานร่วมกับชุมชนท้องถิ่นเพื่อพัฒนาและจัดการโครงการการท่องเที่ยว เพื่อให้คนในท้องถิ่นรู้สึกมีส่วนร่วมและเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน

ขณะเดียวกัน ส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวตลอดปี ต่อยอดจากการจูงใจให้พักนานขึ้น ให้มีนักท่องเที่ยวเข้าพักทั้งปี เนื่องจากปัจจุบันโรงแรมในสวิตซ์หลายแห่งยังเปิดให้บริการเพียงช่วงฤดูร้อนและฤดูหนาว ซึ่งทำให้เกิดปัญหาการจ้างงานในช่วงที่ความต้องการสูงโดยเฉพาะช่วงไฮซีซั่น

นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้มีการกระจายการท่องเที่ยวไปยังพื้นที่อื่นๆ ด้วย เพื่อทำให้นักท่องเที่ยวไม่กระจุกตัวอยู่แต่ในแหล่งท่องเที่ยวหลักจำนวนมาก

นายบาทิสท์ กล่าวต่อว่า สวิตเซอร์แลนด์ออกมาตรการจูงใจผู้ประกอบการท่องเที่ยวเพื่อให้ภาคธุรกิจมีส่วนร่วมในโมเดลความยั่งยืน 3 ระดับ ประกอบด้วย 1.ประกาศแผน (Commited)2.ลงมือทำ (Engaged) 3.เป็นผู้นำ (Leading) โดยผลักดันให้มีการสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการด้านท่องเที่ยวโดยเฉพาะกลุ่ม SME ให้เข้าร่วม

เจาะลึก \"Swisstainable\" โมเดลท่องเที่ยวยั่งยืน ให้โอกาสธรรมชาติได้ฟื้นฟู

นายมาโน โซเลอ Managing Director of Les Roches Global กล่าวว่า ความยั่งยืนเป็นหัวใจสำคัญที่ต้องคำนึงในการสร้างบุคลลากรในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ ซึ่ง เลส์ โลชส์ ในฐานะสถาบันการศึกษาที่ผลิตคนรุ่นใหม่ที่จะมาเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมนี้ ได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาหลักสูตรที่ครอบคลุมและเชื่อมโยงแนวคิดเรื่องนวัตกรรมและความยั่งยืน

ทั้งนี้ เลส์ โลชส์ พยายามสอดแทรกหลักสูตรและการสอนที่น่าสนใจ อาทิ การทำงานจิตอาสาอย่างสม่ำเสมอ การทำโครงการแชร์รถส่วนรวมในรั้วโรงเรียนโดยใช้โมเดลรถยนต์ไฟฟ้า 100% และความร่วมมือกับ Ocean Sky Cruise ในการให้นักศึกษาได้ฝึกออกแบบและพัฒนาโมเดลการท่องเที่ยวบนเรือเหาะ ซึ่งเป็นการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ที่รักษ์โลกมากกว่า คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2028

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

related