เนื้อจากแล็บ: เมนูอาหารแห่งอนาคต ที่ทั้งอร่อย แถมเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเนื้อจากแล็บ: เมนูอาหารแห่งอนาคต ที่ทั้งอร่อย แถมเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
รู้หรือไม่ว่า ทั้งโลกมีอัตราการบริโภคเนื้ออยู่ที่ประมาณ 350 ล้านตันต่อปี ปฏิเสธไม่ได้ว่า เนื้อน้องวัวนั้นอร่อยจริง ๆ เห็นแค่ภาพก็ชวนน้ำลายสอ ไม่ว่าจะเป็นเนื้อโกเบ เนื้อวากิว ออสเตรเลียแองกัส หรือไทยวากิว
ขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมการผลิตเนื้อก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์มาโดยตลอดว่าทำร้ายโลก วัว 1 ตัว ผลิตก๊าซมีเทนมากถึง 70 – 120 กก. ต่อปี
สอดรับกับที่ FAO บอกว่าอุตสาหกรรมปศุสัตว์สร้างก๊าซเรือนกระจกคิดเป็นสัดส่วน 14% ไหนจะมีประเด็นเรื่องการใช้ทรัพยากรน้ำ หรือการถางป่าเพื่อสร้างสถานที่เลี้ยง
ด้วยปัญหาทั้งหมด เทรนด์การผลิต “เนื้อวัวจากแล็บ” (Lab-grown Meat) จึงมาแรง และถูกมองว่าเป็นหมุดหมายสำคัญในแวดวงปศุสัตว์
แต่ติดปัญหาที่ว่าคนจะให้การยอมรับหรือไม่ เพราะ “เนื้อจริง” กับ “เนื้อเสมือนจริง” ก็ให้ความรู้สึกที่แตกต่างกัน ด้วยเหตุนี้ มาทำความรู้จัก “เนื้อจากห้องแล็บ” กันหน่อยดีกว่า
“เนื้อจากห้องแล็บ” เป็นเนื้อที่ไม่ต้องฆ่าน้องวัวสักตัวเดียว วิธีการคือการไปเฉือนชิ้นเนื้อบางส่วนมา จากนั้นนำเซลล์เนื้อที่ได้ไปเลี้ยงในห้องแล็บ
ก้อนเนื้อจะถูกเลี้ยงด้วยสารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโต ท่ามกลางอุณหภูมิและระดับออกซิเจนที่เหมาะสม ทำเช่นนี้เรื่อยไปจนกระทั่งก้อนเนื้อขยายใหญ่ขึ้น
ความสุดยอดคือเราสามารถทำแบบนี้ได้เรื่อยไป หมายความว่าเราเฉือนเนื้อแค่ 1 ครั้ง แล้วซอยเป็นชิ้นเล็ก ๆ ปล่อยเวลาผ่านไป เราก็สามารถผลิตเนื้อจากห้องแล็บมากได้เท่าที่เราต้องการ หรือสามารถทำเป็นอุตสาหกรรมก็ยังได้
ปัจจุบัน เนื้อจากห้องแล็บมีอยู่ 2 แบบ อย่างแรกคือเป็นลักษณะเนื้อบด อย่างที่สองคือเนื้อสเต็ก อย่างแรกอาจจะยังไม่ว้าวเท่าไร แต่สำหรับเนื้อสเต็กนั้นมีเรื่องชวนว้าวอยู่ เพราะปัจจุบันวิทยาการสามารถกำหนดลายหินอ่อน (Marble) ได้แล้ว
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (FDA) ได้ตรวจสอบผลจากงานวิจัย และเหลี่ยมทางวิทยาศาสตร์ และออกมากล่าวถึงประเด็นนี้ว่า เนื้อจากแล็บปลอดภัยต่อสุขภาพ และสามารถรับประทานได้
แต่อย่างไรก็ดี โภชนาการของเนื้อขึ้นอยู่กับบริษัทนั้น ๆ ว่าพวกเขามีวิธีการอย่างไร แถมทดสอบออกมาแล้วเนื้อชิ้นนั้นมีประโยชน์ต่อสุขภาพอย่างไรบ้าง ยกตัวอย่างเช่น บริษัท UPSIDE Foods ที่บอกว่าเนื้อไก่ห้องแล็บของพวกเขามีแคลอรี่และไขมันต่ำกว่าเนื้อไก่แบบปกติ
แม้จะบอกว่าเป็นเทรนด์ที่กำลังมาแรง แต่พญาอินทรีย์อย่างสหรัฐฯ ก็ยังไม่สามารถซื้อขายหรือบริโภคเนื้อห้องแล็บได้
สิงคโปร์คือประเทศแรกที่อนุมัติให้มีการซื้อขายเนื้อห้องแล็บได้อย่างเสรีแล้ว ความน่าตลกเนื้อแล็บส่วนใหญ่ที่ขายในประเทศสิงห์โตพ่นน้ำก็เป็นแล็บที่อยู่ในสหรัฐฯ
สำนักข่าว Reuters รายงานว่า เนื้อสัตว์จากแล็บสามารถติดฉลากโคเชอร์และฮาลาลได้ ในเงื่อนไขที่ว่าต้องดำรงอยู่บนหลักศาสนา นั่นหมายความว่า ชาวมุสลิมสามารถรับประทานได้นั่นเอง
ในปี 2013 บริษัท Mosa Meat ได้เปิดตัวเบอร์เกอร์ที่ทำจากเนื้อห้องแล็บ โดยสนนราคาอยู่ที่ 325,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 11 ล้านบาท!
สนใจอยากลองกัดสักคำไหม จะได้รู้ว่ารสชาติอูมามิสู้เนื้อจริงได้หรือเปล่า สปริงชี้เป้าให้เลยว่าสิงคโปร์คือแหล่งสำคัญ หากอยากลองทานดูสักครั้ง ก็สามารถบินไปลองลิ้มรสดูกันได้ แถมราคาก็ไม่ได้แพงมากเท่าครั้งเปิดตัวแล้ว
ที่มา: newsweek, verywellhealth, longevity.technology, Mosa Meat
ข่าวที่เกี่ยวข้อง