svasdssvasds

พระยา+ เครื่องรางจากยาเหลือทิ้ง ที่ชาวสายมูต้องรัก และชาวรักษ์โลกต้องหลง

พระยา+ เครื่องรางจากยาเหลือทิ้ง ที่ชาวสายมูต้องรัก และชาวรักษ์โลกต้องหลง

คุยกับ “คณิน ไพรวันรัตน์” หัวหน้าแผนกการออกแบบสินค้าไลฟ์สไตล์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ผู้เปลี่ยนยาเก่าหมดอายุ ให้กลายเป็นเครื่องราง "พระธันวันตริ" ในนามพระยา+ ที่เจ้าตัวกล่าวกับ Keep The World ว่าได้รับแรงบันดาลมาจากยาของแม่ที่เหลือทิ้ง

ยาหมดอายุนั้นโดยปกติแล้ว จะถูกนำไปทิ้งในถังขยะอันตราย จากนั้นก็จะถูกส่งไปเผา จะไม่มีการนำไปฝังกลบเด็ดขาด เพราะสารเคมีในยาอาจปนเปื้อนไปยังดินและน้ำบริเวณรอบ ๆ หลุมฝังกลบ และสร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม

แต่จะเป็นอย่างไร ถ้าเราสามารถนำยาเหล่านั้น มาต่อยอดและสร้างคุณค่าใหม่ให้กับมันได้?

พระยา+ หรือ WS:E1+ คือโปรเจกต์ของ “คณิน ไพรวันรัตน์” หัวหน้าแผนกการออกแบบสินค้าไลฟ์สไตล์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ผู้เปลี่ยน “ยาหมดอายุ” ให้กลายเป็นเครื่องราง “พระธันวันตริ” เทพแห่งอายุรเวทในศาสนาฮินดู

อาจารย์คณิน ไพรวันรัตน์

โปรเจกต์ พระยา+ เริ่มต้นได้ยังไง?

“เป็นโปรเจกต์ส่วนหนึ่งของปริญญาเอกครับ ผมเชื่อว่าความเชื่อ ความศรัทธา สามารถช่วยสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมได้ ผมก็เลยตั้งพระยา+ ขึ้นมา”

ทุกสิ่งล้วนมีที่และแรงบันดาลใจทั้งสิ้น เช่นเดียวกับโปรเจกต์พระยา+ อ.คณินเล่าให้ฟังว่า เห็นยาเหลือทิ้งวนเวียนอยู่รอบตัวมานาน เพราะที่บ้านมีคนแก่เยอะ ซึ่งเราก็คงทราบกันดีว่า ผู้สูงอายุและยาแทบจะเป็นของคู่กัน

“ช่วงแรกผมก็ไม่ได้มียาเยอะขนาดนั้น ต้องไปขอที่โรงพยาบาลสิรินธร เพราะทางโรงพยาบาลก็มียาเหลือทิ้งอยู่เยอะ เป็นยาที่ได้รับบริจาคบ้าง หรือยาหมดอายุบ้าง ผมก็เอามาต่อยอดในจุดนี้”

จริง ๆ แล้ว พระยา+ เปิดรับยาเหลือทิ้งจากภาคประชาชนด้วย ใครที่มียาเหลือทิ้งที่บ้านเยอะ ๆ สามารถนำไปหย่อนใส่โหลแก้วให้กับอ.คณิน ที่งาน Bangkok Design Week 2024 ได้ ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 4 ก.พ. 67 

เครื่องราง "พระธันวันตริ"

ประเทศไทยกำจัดขยะยาอย่างไร?

"ผมไปศึกษาว่ายาที่ทิ้งไปมันส่งผลกระทบอะไรต่อธรรมชาติบ้าง ทีนี้เป็นเรื่องใหญ่เลยเพราะตัวยาที่มันถูกทิ้งแบบผิดวิธีด้วยการฝังกลบ มันก็ละลายลงสู่ในดินและน้ำ" 

"น้ำดื่มเราก็ปนเปื้อนตัวยา ทีนี้มันก็จะส่งผลต่อมนุษย์ ยกตัวอย่างเช่น ยาทำหมัน ยาคุม มันก็จะทำให้คนเป็นหมันมากขึ้น มีลูกยากมากขึ้น" 

พระยา+ อ่านว่า พระยาพลัส หรือ พระยาบวก ?

“อ่านว่าพระยาเฉย ๆ ที่จริงผมตั้งใจให้อ่านได้ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทย คำว่า พระยาอ่านเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า ‘WS:E1+’

  • WS ย่อมาจาก Worship หรือ การบูชา

E+ แบ่งย่อยได้อีก 4 E(s)

  • E1 = Emptiness หรือ สุญญตา, ความว่างเปลา
  • E2 = Emotion หรือ อารมณ์ ความรู้สึก
  • E3 = Environment หรือ สิ่งแวดล้อม
  • E4 = Economic หรือ เศรษฐกิจ

คุยกับ อ.คณิน ผู้อยู่เบื้องหลังโปรเจกต์ พระยา+ เครื่องรางจากยาเหลือทิ้ง

จะเห็นได้ว่าอาจารย์คณินพยายามผนวกคุณค่าของยาเหลือทิ้ง ให้เป็นเครื่องสำหรับสายมู ฉะนั้น หากจะเลือกเทพสักองค์ก็ต้องเป็นเทพที่ข้องเกี่ยวกับเรื่องหยูกยา อ.คณิน จึงเลือก “พระธันวันตริ” เทพเจ้าแห่งการแพทย์และอายุรเวทในศาสนาฮินดู มาเป็นเครื่องรางลำดับที่ 1 ในนามพระยา+

“ผมพยายามยึดโยงยากับตัวเทพ ตอนแรกว่าจะทำพระพิฆเนศก็จะดูไม่เข้ากับมวลสาร (ยา) แต่ ผมก็ไม่ได้คิดว่าจะต้องขายมู แต่จริง ๆ ผมแอบไปมูมาด้วย”

พระธันวันตริ แบบรูปปั้นดั้งเดิม

ดีไซน์ "พระธันวันตริ" ให้ร่วมสมัยขึ้นผ่านวิสัยทัศน์ของเด็ก Gen Z

เครื่องรางร่วมสมัย ที่สอดแทรกธรรมเนียมเก่าไว้อย่างแยบยล

“ผมใช้ครูช่างที่เกี่ยวกับการทำปูนปั้นโบราณมาช่วยในการคิดค้นวัสดุ ตอนแรกผมพยายามทำวัสดุให้มันใช้ตัวยามากที่สุดในหนึ่งองค์ ให้มีส่วนผสมของวัสดุอื่น ๆ น้อยที่สุด”

“เพื่อยามันจะได้ไม่ต้องถูกทิ้ง พอคิดเองทำเอง ผลคือ มันขึ้นรูปไม่สวย ไม่เนียน ก็เลยใช้กระบวนการอัดแบบโบราณ อยากรักษาของเก่าไว้ แต่ก็มีเทรนด์สมัยใหม่ผสมอยู่”

แม่พิมพ์เครื่องราง ทำจาก 3D Printing

แม่พิมพ์เครื่องราง ทำจาก 3D Printing

เครื่องรางทำจากยาหมดอายุ

ตัวเครื่องรางมีขนาดเท่าไร?

“3.5 เซนติเมตร ”

เครื่องราง "พระธันวันตริ"

1 องค์ใช้ยาเหลือทิ้งมากแค่ไหน

“ประมาณ 3.5 กรัม”

1 องค์ใช้ยาเหลือทิ้งประมาณ 3.5 กรัม

ในกระบวนการผลิตสามารถคุมสีได้ไหม?

“คุมไม่ได้เพราะยาที่ได้มามัน Random มาก ๆ อย่างยาที่โรงพยาบาลเขาบริจาคมาให้ผมปนกันไปหมดเลย มีทั้งยาความดัน ยากระดูก ยาสมุนไพรก็มี ผมก็บดรวมกันหมดเลย”

ยาเหลือทิ้ง ยาหมดอายุ ที่ได้รับจากโรงพยาบาล

ยาที่ได้มานั้น จะถูกนำไปบดรวมกันเพื่อนำไปขึ้นรูปเป็นเครื่องราง

ชอบการดีไซน์ถุงมาก!

“อย่างที่บอก ผมได้ยาที่หมดอายุ มันก็จะมาแบบนี้เลย มีชื่อคนติดมาด้วย ผมเลยคิดว่าทุกคนมีประสบการณ์ร่วมกับการกินยาอยู่แล้ว เลยใช้แพคเกจแบบนี้”

“ตอนแรกจะใช้แบบนี้ด้วยซ้ำ จะได้ไม่ต้องสร้างขยะเพิ่ม แต่ว่ามันติดชื่อ ก็เลยคิดว่าเปลี่ยนมาใช้แบบนี้ดีกว่า แล้วก็ใช้ถุงให้เล็กที่สุด”

ดีไซน์แพกเกจให้คล้ายคลึงกับถุงยา เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจ...

เห็นว่าให้เด็ก Gen Z ช่วยดีไซน์ด้วย ทำไมถึงต้องการให้วัยรุ่นยุคนี้เข้ามามีส่วนร่วมกับโปรเจกต์พระยา+ ?

“ความเชื่อ ความศรัทธามันเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพสังคม สมัยก่อนอาจจะมีเรื่องของสู้รบปรบมือกัน พระเครื่องก็จะโด่งดังในเรื่องยิงไม่เข้า ฟันไม่เข้า แต่ปัจจุบันมันก็เปลี่ยนไป สังคมไม่ได้รบกันแล้ว ผมสงสัยว่าคน Gen Z เขาเชื่อแบบไหน เขาต้องการอะไร”

“สังคมเป็นแบบนี้ ความเชื่อเปลี่ยนไปไหม เลยคิดว่าถ้าเราลองเอาคน Gen Z มาออกแบบพระเครื่องจะเป็นอย่างไรนะ”

“จากที่ผมไปศึกษากรณีตัวอย่างมา บางคนก็บูชา Art Toy พระพิฆเนศสายมูอะไรแบบนี้ ก็เลยอยากลองให้คน Gen Z มาลองดีไซน์พระเครื่องแบบใหม่ ผมก็เปิดรูปดั้งเดิมให้ "Nice Joy" ดู แล้วเขาก็เอามาดีไซน์ให้มันดูมีความร่วมสมัยมากขึ้น

งานดีไซน์ "พระธันวันตริ" ผลงานการออกแบบของ NICEJOY

ผลตอบรับดีไหม ที่งาน Bangkok Design Week 2024?

“ไม่รู้ว่าดีหรือเปล่า (อ.คณินหัวเราะ) แต่ว่าตอนนี้เหลือน้อยแล้วครับ ตอนแรกก็ไม่มั่นใจว่าเครื่องรางของเรา 99 องค์จะหมดหรือเปล่า แต่ผ่านไปอาทิตย์เดียวก็เหลือน้อยมาก”

“ตอนนี้ไม่น่าถึง 20 องค์แล้ว พอเปิดเพจก็มีคนสนใจมากยิ่งขึ้น”

"เงินทั้งหมดที่ได้ผมก็มอบให้กับมูลนิธิที่โรงพยาบาลสิรินธรทั้งหมด เพื่อผู้ป่วยยากไร้"

ผลตอบรับดีแบบนี้ มีแผนจะทำเครื่องรางอื่น ๆ เพิ่มไหม?

ผมคิดอยู่เหมือนกันว่าจะทำรูปแบบอื่นด้วย

แอบแง้ม ๆ หน่อยได้ไหม ว่าเป็นอะไร?

“อาจจะเป็นยันต์ หรืออะไรแบบนี้ ซึ่งก็ยังยึดโยงกับเรื่องความเชื่ออยู่ ผมทำเรื่อง Product Design ก็ไม่คิดจะหยุดอยู่ที่อันนี้อันเดียวแน่ ๆ”

พระยา+ เครื่องรางจากยาเหลือทิ้ง ที่ชาวสายมูต้องรัก และชาวรักษ์โลกต้องหลง

สำหรับใครที่อยากไปพิสูจน์ด้วยตาเนื้อของตัวเอง สามารถไปพบเจอ แลกเปลี่ยนกับอาจารย์คณิน ไพรวันรัตน์ กันได้ที่งาน Bangkok Design Week ที่บริเวณศาลเจ้าหลีตี้เมี๊ยว ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2567

อ.คณินกล่าวกับ Spring ว่า ไม่ต้องการให้เครื่องราง พระยา+ เป็นไปในลักษณะของพุทธพาณิชย์ และเท่าที่ผู้เขียนได้สัมผัสผ่านการพูดคุย อาจารย์กำลังสนุกในการใช้วิชาความรู้ที่มี มาเสริมสร้าง ต่อยอด และเพิ่มมูลค่าให้กับยาเหลือทิ้ง เพื่อมิให้กลายเป็นขยะออกสู่สิ่งแวดล้อม

“ให้เครื่องรางเป็นของที่ระลึกแล้วกัน...ระลึกว่าเราไม่ควรทิ้งยา”

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

related