ตู้คืนแก้วกาแฟใช้แล้ว จากเมือง Aarhus ประเทศเดนมาร์ก ในความร่วมมือกับบริษัท TOMRA เพียงแค่หย่อนแก้วกาแฟใช้แล้วลงไป ก็จะได้เงินคืนกลับมา 29 บาท ติดตามรายละเอียดได้ที่บทความนี้
ขอตู้นี้มาติดตั้งที่ไทยบ้างได้ไหม? ‘แก้วกาแฟ’ เมื่อผ่านการบริโภคจากนักดื่มแล้ว ก็หนีไม่พ้นต้องกลายเป็นขยะ Plaine Products ระบุว่า ในแต่ละปี มีแก้วกาแฟแบบใช้แล้วทิ้งจำนวน 2.5 พันล้านใบทั่วโลก หมายความว่าใน 1 นาที แก้วกาแฟถูกทิ้งกลายเป็นขยะ 5,000 แก้ว
“Aarhus” เมืองในประเทศเดนมาร์ก เป็นอีกหนึ่งเมืองที่กำลังประสบกับปัญหา‘แก้วกาแฟแบบใช้แล้วทิ้ง’ จากการสำรวจ พบว่ามีขยะแก้วกาแฟแบบใช้แล้วทิ้งกว่า 100,000 ใบ กระจายอยู่ตามแม่น้ำ Å แม่น้ำขนาดใหญ่ที่ไหลผ่านเมือง
Aarhus เป็นเมืองขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศเดนมาร์ก มีประชากรอาศัยอยู่ราว 336,000 คน ซึ่งคลับคล้ายคลับคลาว่า ส่วนใช้แก้วกาแฟแบบใช้แล้วทิ้ง ในที่นี้หมายถึงทั้งทางฝั่งผู้ผลิตและผู้บริโภค
ฉะนั้น ทางเมืองจึงได้ร่วมมือกับบริษัท TOMRA เพื่อพัฒนาระบบคืนบรรจุภัณฑ์ใช้แล้ว โดยวางแผนทดลองเป็นระยะเวลา 3 ปี โดยโครงการดังกล่าวถูกแสดงออกผ่านตู้คืนแก้วกาแฟใช้แล้วทิ้ง โดยใช้ “เงิน” เป็นแรงจูงใจ!
บริษัท TOMRA ได้ติดตั้งตู้คืนแก้วกาแฟ 25 จุดกระจายทั่วทั้งเมือง เพื่อให้ประชาชนสามารถคืนแก้วกาแฟได้ตลอด 24 ชม.
ส่วนวิธีใช้นั้นเรียบง่ายและไม่ซับซ้อน อันดับแรกเพียงแค่นำบัตรไปสแกนที่ตู้ จากนั้นตู้จะส่งสัญญาณให้หย่อนแก้วลงไปในรู
เมื่อแก้วกาแฟลงไปเรียบร้อยแล้ว เงินจำนวน 5 โครนเดนมาร์ก หรือราว ๆ 29 บาท จะโอนเข้าสู่บัญชีธนาคารของคุณทันที เห็นได้ว่าขั้นตอนง่าย ๆ ไม่ซับซ้อน เพียงแค่หย่อนแก้วกาแฟลงไป เงินก็เข้าบัญชีทันที แถมได้เป็นส่วนหนึ่งลดขยะจาก ‘แก้วกาแฟ’ ด้วย มีแต่ได้กับได้
Aarhus ถือเป็นเมืองแรกของประเทศเดนมาร์กและของโลก ที่ติดตั้ง ‘ตู้คืนแก้วกาแฟ’ โดยหวังว่าจะลดจำนวนขยะแก้วกาแฟแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง
หากใครจำกันได้ ที่ประเทศสวีเดนก็มี “ตู้คืนขวดแลกเงิน” หลักการและวิธีคิดไม่ต่างจากของเดนมาร์กในครั้งนี้ แต่จะเป็น “ตู้คืนขวดพลาสติก” ซึ่งผู้ที่นำขวดพลาสติกไปคืนที่ตู้รีไซเคิล สามารถนำเงินไปแลกซื้อของในซูเปอร์มาเก็ตได้
ขณะที่ประเทศเยอรมันซึ่งเด่นดังมากเรื่อง “ตู้คืนขวด” หรือที่เรียกว่า DRS , deposit return scheme จะเรียกว่าเป็นต้นแบบของระบบตู้คืนขวดแลกเป็นเงินก็ว่าได้ เพราะมีการรายงาน ชาวท้องถิ่นเห็นด้วย และมีส่วนร่วมกับตู้ดังกล่าวถึง 98% โดยชนิดบรรจุภัณฑ์ที่สามารถคืนได้มีหลากหลาย และราคาก็แตกต่างกันออกไป
เป็นไง ฟังแล้วน่าสนใจไหม จริง ๆ แล้วประเทศไทยน่าจะนำแนวคิดนี้มาประยุกต์ และปรับใช้บ้าง เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า ขยะจาก ‘แก้วกาแฟใช้แล้วทิ้ง’ ถือเป็นสัดส่วนที่เยอะมากในกองขยะ แถมคนไทยเราก็ชอบซดกาแฟกันเอามาก ๆ
เมื่อใช้ไม้แข็งไม่ได้ บางทีก็น่าจะลองใช้ไม้อ่อนดู ด้วยการเอา ‘เงิน’ มาเป็นตัวล่อ ไม่แน่ขยะแก้วกาแฟอาจหายไปจากดินแดนแห่งนี้เลยก็ได้
ที่มา: Forbes
ข่าวที่เกี่ยวข้อง