svasdssvasds

เร่งศึกษาศักยภาพ “กักเก็บคาร์บอน” อ่าวไทยตอนบน ดันไทยสู่ Net Zero

เร่งศึกษาศักยภาพ “กักเก็บคาร์บอน” อ่าวไทยตอนบน ดันไทยสู่ Net Zero

ไทยยังคงเดินหน้าจากภาครัฐ และเอกชน ในการดันไทยสู่ Net Zero ล่าสุด ปตท.สผ. ร่วมกับรัฐ ศึกษาศักยภาพการกักเก็บคาร์บอนของอ่าวไทยตอนบน

Net Zero คือเป้าหมายใหญ่ ที่ไทยต้องไปให้ถึง และต้องทำให้ได้ เพราะ…ทั่วโลกต่างมุมหน้าไปในเรื่องนี้ ในส่วนของประเทศไทยหลายหน่วยงานให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ อย่างเช่นล่าสุดปตท.สผ. ได้นำองค์ความรู้และประสบการณ์ ร่วมศึกษาและประเมินศักยภาพชั้นหินธรณีวิทยาเพื่อกักเก็บคาร์บอนบริเวณอ่าวไทยตอนบน กับบริษัท อินเป็กซ์ คอร์ปอเรชั่น จากญี่ปุ่น ภายใต้ความร่วมมือระดับประเทศของหน่วยงานภาครัฐ ระหว่างกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ

และ Japan Organization for Metals and Energy Security (JOGMEC) ประเทศญี่ปุ่น เพื่อช่วยสนับสนุนการลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ และการพัฒนาโครงการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage: CCS) ในรูปแบบ CCS Hub ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ของไทย

โดย นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยว่า จากการที่ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้ลงนามในขอบเขตความร่วมมือ (Term of Collaboration) ระดับรัฐในโครงการศึกษาและประเมินศักยภาพชั้นหินธรณีวิทยาเพื่อกักเก็บคาร์บอนบริเวณอ่าวไทยตอนบน (Northern Gulf of Thailand CCS Exploration project) กับ Japan Organization for Metals and Energy Security (JOGMEC) ซึ่งเป็นหน่วยงานภาครัฐของประเทศญี่ปุ่น ปตท.สผ. ในฐานะอนุกรรมการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้านการขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจกจากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์

และการกักเก็บคาร์บอน (CCUS) ของประเทศไทย พร้อมให้ความร่วมมือและสนับสนุนโครงการดังกล่าว โดยจะเป็นผู้ดำเนินการศึกษาร่วมกับ บริษัท อินเป็กซ์ คอร์ปอเรชั่น (INPEX CORPORATION) จากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งหากการศึกษาประสบผลสำเร็จ ข้อมูลที่ได้จะเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนพัฒนาการดักจับและกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ (CCS) ของประเทศไทย

“ปตท.สผ. มีความยินดีที่จะได้นำความรู้ด้านธรณีวิทยา ตลอดจนประสบการณ์และความเชี่ยวชาญจากการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่อ่าวไทย และจากการศึกษาโครงการ CCS ที่แหล่งก๊าซธรรมชาติอาทิตย์ มาทำงานร่วมกับพันธมิตรจากประเทศญี่ปุ่นซึ่งมีประสบการณ์ในการทำ CCS มาแล้วในต่างประเทศ เพื่อช่วยให้ประเทศไทยสามารถวางแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับ CCS โดยเฉพาะในรูปแบบ CCS Hub ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งถือเป็นหนึ่งในแนวทางสำคัญที่จะสนับสนุนกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ในปริมาณมาก เพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของประเทศ” นายมนตรี กล่าว

ปัจจุบัน ปตท.สผ. ร่วมมือกับบริษัทภายในกลุ่ม ปตท. ศึกษาความเป็นไปได้การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี CCS ภายใต้โครงการ Eastern Thailand CCS Hub บริเวณพื้นที่ปฏิบัติการของกลุ่ม ปตท. ใน EEC จังหวัดระยอง และจังหวัดชลบุรี เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของอุตสาหกรรมในกลุ่ม ปตท. และอุตสาหกรรมอื่น ๆ ในพื้นที่ใกล้เคียง โดย ปตท.สผ. เป็นผู้รับผิดชอบหลักในการศึกษาความเป็นไปได้ของการพัฒนาโครงการดังกล่าว 

นอกจากนี้ ปตท.สผ. ยังอยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการ CCS ที่แหล่งก๊าซธรรมชาติอาทิตย์ในอ่าวไทย ถือได้ว่าเป็นโครงการนำร่องในการพัฒนา CCS ครั้งแรกของประเทศไทย โดยได้เสร็จสิ้นขั้นตอนของการออกแบบด้านวิศวกรรม (FEED) แล้ว ปตท.สผ. คาดว่าจะสามารถเริ่มใช้เทคโนโลยี CCS ที่แหล่งก๊าซธรรมชาติอาทิตย์ได้ในปี 2570 ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกระบวนการผลิตได้ประมาณ 700,000-1,000,000 ตันต่อปี

สำหรับผลการศึกษาความเป็นไปได้ทั้ง Eastern Thailand CCS Hub ของกลุ่ม ปตท. และผลการดำเนินโครงการ CCS ที่แหล่งอาทิตย์ รวมทั้งโครงการศึกษาและประเมินศักยภาพชั้นหินธรณีวิทยาเพื่อกักเก็บคาร์บอนบริเวณอ่าวไทยตอนบนใน (Northern Gulf of Thailand CCS Exploration project) ครั้งนี้ จะช่วยให้ประเทศไทยมีข้อมูลด้านธรณีวิทยาที่จำเป็นต่อการวางแผนพัฒนาโครงการ CCS ในอ่าวไทย เพื่อสนับสนุนเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net zero greenhouse gas emissions) ในปี 2608

พันธกิจเร่งศึกษาศักยภาพ “กักเก็บคาร์บอน” อ่าวไทยตอนบน เป็นเรื่องที่สำคัญที่ดันไทยสู่ Net Zero ในอนาคตอันใกล้นี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

 

related