เปิดเทรนด์ Green Friday ช็อปปิ้งอย่างไรให้ดีต่อโลก เพื่อทดแทนกิเลสในวัน Black Friday ของสหรัฐ มหกรรมการลดราคาสินค้าที่มีเม็ดเงินหมุนเวียนกว่า 65.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ ทว่าปล่อยก๊าซคาร์บอนจากการขนส่งสูง
มหกรรมวัน “Black Friday” ใกล้จะเริ่มต้นแล้ว! หนึ่งในวันที่สามารถดึงดูดเงินในกระเป๋าของเราได้มากที่สุดของปี เพราะสินค้าตั้งแต่ชิ้นเล็กไปจนถึงชิ้นใหญ่ พากันลดราคากระหน่ำ พร้อมโปรโมชั่นดี ๆ ที่ผู้บริโภคอย่างเรา ๆ ยากที่จะปฏิเสธ เพราะมันล่อตาล่อใจเหลือเกิน
การจับจ่ายสินค้าลดราคาของผู้บริโภคในช่วง Black Friday สร้างเม็ดเงินมากมายมหาศาล ในปี 2022 ยอดใช้จ่ายในภาพรวม ที่นับเฉพาะช่วงวัน Black Friday มีมูลค่าถึง 65.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ
เม็ดเงินดังกล่าวมิใช่เรื่องน่าแปลกใจเท่าไร เพราะบางคนเก็บเงินมาทั้งปี เพื่อมารอถล่มซื้อสินค้าในวันนี้ให้หนำใจ หูฟัง ลำโพง โทรศัพท์ และสินค้าเทคโนโลยีอื่น ๆ อีกมากมาย เพราะนี่คือโอกาสทองที่ผู้บริโภคจะได้เข้าถึงสินค้าในราคาที่ถูกกว่าปกติ
ปัญหาของ Black Friday คืออะไร?
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา การซื้อขายสินค้าในออนไลน์เป็นที่นิยมมากขึ้น เนื่องการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยอดสั่งสินค้าในออนไลน์เติบโตแบบก้าวกระโดด คาดการณ์ว่ายอดการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ในปีนี้อาจเพิ่มขึ้นถึง 20%
หากเรามองกันให้ดี เมื่อมีออเดอร์สินค้าเข้ามาที่ร้านค้าหรือผู้ผลิตมาก ๆ จากนั้นเกิดอะไรขึ้น? ร้านค้า ผู้ขายต่าง ๆ ก็ต้องไปดำเนินการในระบบคลังสินค้าของตัวเอง ตั้งแต่การจัดเตรียม การแพกสินค้า เรื่อยไปจนถึงการจัดส่งสินค้าให้ถึงมือผู้รับ
การขนส่งสินค้าในช่วง Black Friday ของปี 2022 ถูกบันทึกว่า ปล่อยก๊าซคาร์บอนไปราว ๆ 1.2 ล้านตัน อันเนื่องมาจากการขนส่ง ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าวันปกติถึง 94%
จากข้อมูลของ Green Alliance ระบุว่า สินค้าราว 80% ที่ผู้บริโภคซื้อในช่วง Black Friday รวมถึงบรรจุภัณฑ์ที่มาพร้อมกับสินค้า จะถูกทิ้งหลังผ่านการใช้งานเพียงไม่กี่ครั้ง หรือบางชิ้นก็ไม่ผ่านการใช้เลย
ช่วง Black Friday ที่สหรัฐ ก่อให้เกิดขยะเพิ่มขึ้นจากวันปกติถึง 25% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นขยะจากบรรจุภัณฑ์ ซึ่งตามกระบวนการของขยะ เมื่อถูกทิ้งลงถังขยะแล้ว มีน้อยส่วนที่จะถูกนำไปรีไซเคิล ส่วนที่เหลือก็จะเข้าสู่กระบวนการฝังกลบ
เราจึงชวนรู้จัก "Green Friday" ไอเดียตรงข้ามของ Black Friday ที่ส่งเสริมการเลือกซื้อของผู้บริโภคด้วยกลยุทธ์ที่ยั่งยืน และไม่ตกเป็นเหยื่อของป้ายลดราคาจากผู้ผลิตในวัน Black Friday พร้อมแนะนำวิธีในการช่วยกล่อมเกลาให้เราสามารถรับมือได้ดียิ่งขึ้นกับ “ความรู้สึกอยากซื้อ”
Green Friday คืออะไร?
จุดเริ่มต้นของ Green Friday ต้องย้อนกลับไปในปี 2015 แนวคิดนี้ถือกำเนิดขึ้นเพื่อต่อต้าน Black Friday มหกรรมที่สินค้าหลากหลายชนิดลดราคา ทำให้ผู้คนตบเท้ากันเข้าไปซ็อปปิ้งกันอย่างเนืองแน่น
นอกจากนี้แนวคิดของ Green Friday เกิดขึ้นเพื่อมุ่งสร้างความตระหนักรู้ให้กับผู้บริโภคในการจับจ่ายอย่างมีสติ และมีกลยุทธ์มากยิ่งขึ้น
ในปี 1992 ที่ประเทศแคนาดา มีเมล็ดพันธุ์ของแนวคิดคล้าย ๆ กันนี้เกิดขึ้นแล้ว เราเรียกว่า “Buy Nothing Day” ซึ่งจะจัดขึ้นในวันอาทิตย์สุดท้ายของเดือนพฤศจิกายน ใจความสำคัญของ Buy Nothing Day คือการต่อต้านลัทธิบริโภคนิยม (Consumerism)
กลับมาที่ Green Friday หลายคนนิยามใจความสำคัญของไอเดียนี้ไว้อย่างง่าย ๆ ว่า เหมือนเป็น movement ที่ชวนเราฉุกคิดว่าเราอยากได้สินค้าชิ้นนั้นจริง ๆ หรือเปล่า เรายอมเสียเงินเพราะถูกโน้มน้าวด้วยกลยุทธ์ทางการตลาดหรือเปล่า ก่อนตัดสินใจซื้ออะไร ขอให้ฉุกคิดก่อนสักครู่
สำหรับใครที่ไม่อยากเสียเงิน ไม่อยากข้องเกี่ยวกับขั้นตอนการใช้จ่ายใดใดเลย จะด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ แถมต้องการโอบรับนิยามของ Green Friday อย่างเต็มรูปแบบสามารถปฏิบัติได้ดังนี้
Green Friday ซื้อสินค้าอะไรไม่ได้เลยงั้นหรือ?
ต้องเน้นไว้ตรงนี้ว่า ไอเดียของ Green Friday มิได้ค้านหัวชนฝา เพราะทราบดีว่าการห้ามผู้บริโภคให้ไม่ให้ซื้อสินค้าเป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงที่ราคาค่างวดของสินค้าหลาย ๆ ประเภทลดราคากระหน่ำล่อตาล่อใจอย่างมากในช่วง Black Friday เพียงแต่ให้ซื้อสินค้าในวิถีทางที่ยั่งยืนมากยิ่งขึ้นอาทิ
เม็ดเงินที่หมุนเวียนช่วง Black Friday นั้นมหาศาล และส่วนใหญ่จะเข้าสู่กระเป๋าของผู้ค้าขายรายใหญ่เป็นเสียส่วนใหญ่ ฉะนั้น หลักคิดง่าย ๆ คือ ให้อุดหนุนร้านค้ารายย่อยมากขึ้น เพื่อกระจายเม็ดเงิน และส่งเสริมวิถีชีวิตความเป็นอยู่ให้กับผู้ขายรายเล็กไปพร้อม ๆ กัน
การเหลือบหาป้ายสินค้า หรือฉลากที่บ่งบอกว่าสินค้าชิ้นนั้นช่วยอนุรักษ์โลกอย่างไรบ้าง ถือเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยให้เราเลือกซื้อสินค้าได้อย่างสบายใจขึ้น เพราะเรามั่นใจว่าเงินทุกบาทุกสตางค์ของเราถูกใช้ไปอย่างคุ้มค่า และมีบางส่วนที่คืนประโยชน์ให้โลก
ในเมื่อห้ามกิเลสไม่ได้ ยังไงวันนี้ฉันก็ต้องลุกไปซื้ออะไรสักอย่างให้ได้ ทำไมไม่ลองซื้อสินค้ามือสองดูล่ะ เพราะการเลือกซื้อสินค้ามือสองสามารถช่วยลดกระบวนการ overconsumption ได้ เป็นการต่อยอดการใช้งานของสินค้าให้ยั่งยืนยิ่งขึ้น
เมื่อรู้แล้วว่า ยังไงก็หนีหล่มเหล่านี้ไม่พ้น ร้านค้าลดราคาให้ขนาดนี้ จะไม่ซื้อก็กะไรอยู่ ซื้อได้ ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า สินค้าชิ้นนั้นต้องผ่านกระบวนคิดมาอย่างถี่ถ้วนแล้วว่า เราต้องการใช้มันจริง ๆ และจะใช้ในระยะยาวด้วย เพื่อความคุ้มค่าของสินค้า
ที่มา: Goodenergy
เนื้อหาที่น่าสนใจ