นักวิจัยพบว่าป่าที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสามารถลดอุณหภูมิได้ถึง 4°C ในฤดูร้อน และรักษาความอบอุ่นในฤดูหนาวได้ดี แตกต่างจากป่าเชิงเดี่ยว
Florian Schnabel และทีมจากศูนย์วิจัยความหลากหลายทางชีวภาพเชิงบูรณาการ เมือง Leipzig ประเทศเยอรมนี เผยผลการศึกษาวิจัยล่าสุด พบว่า ป่าที่พรรณไม้หลากหลาย สามารถปรับตัวและรับมือกับสภาพอากาศที่รุนแรง ได้ดีกว่าป่าเชิงเดี่ยว (monoculture)
การศึกษาดังกล่าวดำเนินการในพื้นที่ป่า Xinggangshan ซึ่งตั้งอยู่ในประเทศจีน โดยเป็นหนึ่งในป่ากึ่งเขตร้อนที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดในโลก นักวิจัยได้ติดตามและวัดอุณหภูมิในพื้นที่ดังกล่าวเป็นระยะเวลากว่า 6 ปี
ผลการศึกษาพบว่า พื้นที่ที่มีพันธุ์ไม้หลากหลายสามารถลดอุณหภูมิได้ถึง 4 องศาเซลเซียสในช่วงฤดูร้อน และยังคงรักษาความอบอุ่นได้ในฤดูหนาว เมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่ซึ่งปลูกป่าเชิงเดียว การระบายความร้อนและการเก็บรักษาอุณหภูมิในระดับที่เหมาะสมประสิทธิภาพด้อยกว่าป่าที่มีพรรณไม้หลากหลายอย่างชัดเจน
นักวิจัยอธิบายว่า สาเหตุหลักมาจากโครงสร้างของป่าที่หลากหลาย ซึ่งมีความหนาแน่นของใบไม้สูง และมีการจัดเรียงของต้นไม้หลายขนาดอย่างซับซ้อน ส่งผลให้สามารถลดการแลกเปลี่ยนอุณหภูมิระหว่างอากาศภายในและภายนอกป่าได้ดีขึ้น รวมทั้งช่วยในการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์และป้องกันผลกระทบจากอุณหภูมิ หรือสภาพอากาศที่รุนแรง
ผลการศึกษาดังกล่าวเน้นย้ำถึงความสำคัญของการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ โดยนอกจากจะเป็นการรักษาระบบนิเวศธรรมชาติแล้ว ยังเป็นกลไกสำคัญในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระยะยาว
ที่มา: The Guardian
ข่าวที่เกี่ยวข้อง