ไม่เห็นต้องเหนื่อยปลูกป่า เมื่องานวิจัยชี้ว่า การปล่อยให้ธรรมชาติทำหน้าที่ของมันโดยไม่ถูกรบกวนจะนำไปสู่การฟื้นฟูป่าที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพที่สุด
จากงานวิจัยของทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติที่แผยแพร่ในวารสาร Nature เมื่อปลายปี 2567 พบว่า พื้นที่ป่าที่ถูกทำลาย 830,000 ตารางไมล์ในเขตร้อนชื้น ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีขนาดใหญ่กว่าเม็กซิโก สามารถฟื้นตัวได้เองตามธรรมชาติ ขอเพียงแค่มันถูก 'ปล่อยทิ้งไว้'
พวกเขาระบุว่า หากเราปล่อยป่าฝนทิ้งไว้ มันสามารถเติบโตขึ้นเป็นป่าพรุในระดับที่เดินผ่านได้ยากภ่ายใน 1 - 3 ปี มีเรือนยอดไม้หนาทึบที่สูงถึง 20 ฟุต ภายในเวลาเพียง 5 ปี และสูงได้ถึง 80 ฟุต ภายในเวลา 10 - 15 ปี ซึ่งนับเป็นอัตราการเติบโตที่น่าทึ่งมาก
ที่สำคัญคือการเติบโตตามธรรมชาติเช่นนี้จะช่วยเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ ปรับปรุงคุณภาพอากาศและปริมาณน้ำ รวมถึงจะทำให้บริเวณดังกล่าวมีคุณสมบัติช่วยดูดซับคาร์บอนได้มากถึง 23.4 กิกะตันภายในช่วง 30 ปีหลังจากนั้น
อย่างไรก็ตาม การจะปล่อยให้ป่าเจริญเติบโตในลักษณะนี้ได้ ก่อนอื่นมนุษย์จะต้องหยุดเข้าไปข้องเกี่ยวกับพื้นที่ดังกล่าว โดยเฉพาะการเข้าไปใช้พื้นที่เพื่อการเกษตรซึ่งจะทำให้ระบบนิเวศได้รับผลกระทบจากการใช้ปุ๋ยและสารเคมีอื่นๆ รวมถึงการเลี้ยงสัตว์อย่างวัวที่จะเดินทิ้งน้ำหนักไปทั่วทำให้ผืนดินเกิดการอัดแน่นจนพืชต้นใหม่หยั่งรากได้ยากเกินไป และวัวยังมีแนวโน้มที่จะกินพืชอ่อนอีกด้วย
การไม่มีมนุษย์หรือสิ่งปลูกสร้างของมนุษย์ในบริเวณใกล้เคียงยังช่วยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้พื้นที่ดังกล่าวได้ เพราะจะทำให้มีนกบินผ่านพื้นที่มากขึ้น และขับถ่ายเมล็ดพืชที่กินเข้าไปทิ้งไว้ เมื่อพืชเหล่านั้นเจริญเติบโต สัตว์ชนิดอื่นๆ ที่อาศัยอยู่บนต้นไม้ เช่น ลิง ก็สามารถกินผลไม้และขยายพันธุ์เมล็ดพืชต่อไปได้เช่นกัน เกิดเป็นวัฏจักรความหลากหลายทางชีวภาพตามธรรมชาติ
ยิ่งมีความหลากหลายทางชีวภาพมากเท่าไหร่ ป่าไม้ก็จะสามารถต้านทานต่อภัยคุกคามได้มากขึ้นเท่านั้น เช่น หากมีสัตว์สายพันธุ์หนึ่งสูญหายไป ก็อาจยังพอมีสายพันธุ์อื่นที่คล้ายคลึงกันเข้ามาเติมเต็มช่องว่างนั้นได้
นี่คือเหตุผลว่าทำไมการปลูกป่าโดยมนุษย์ซึ่งมักจะใช้ต้นไม้สายพันธุ์ใกล้เคียงกันหลายร้อยหรือหลายพันต้น จึงไม่มีประสิทธิภาพในการฟื้นฟูความซับซ้อนของป่าได้เท่ากับธรรมชาติ
อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์บางส่วนก็มีความเห็นว่า ปัญหาที่ยุ่งยากในปัจจุบันคือโลกกำลังร้อนขึ้น ภัยแล้งก็กำลังเลวร้ายมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้ป่าไม้ไม่สามารถเติบโตตามธรรมชาติได้ดีเท่าเดิม การร่วมกันปลูกป่าทดแทนจึงยังเป็นทางเลือกที่กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและรัฐบาลสามารถทำได้ และเราจำเป็นต้องใช้ทุกทางเลือกที่มีเพื่อแก้ปัญหาสภาพอากาศโดยเร็วที่สุด