ในวาระวันป่าไม้โลก คอลัมน์ KEEP THE WORLD ชวนคลี่ปมปัญหา ป่าไม้เมืองไทยลดลง มีสาเหตุอะไรบ้าง และหนทางสู่การฟื้นฟูพื้นที่ป่าไม้ให้แตะระดับ 40% ไปกับ ดร.ขวัญชัย ดวงสถาพร
“ในความเห็นของผม ปัญหาป่าหายคือเรื่องที่เกิดนานแล้ว ปัจจุบันก็ยังเป็นอยู่ ถ้าเราไม่ช่วยกันแก้อนาคตจะเลวร้ายกว่านี้ และเราต้องยอมรับกันตามตรงว่าเจ้าหน้าที่รัฐหย่อนยานในการเข้าไปติดตาม และตรวจสอบ พอมาเจออีกทีก็กลายเป็นสวนทุเรียนแล้ว”
พลิกไปดูสถานการณ์ป่าไม้ในปี 2567 พบว่า ไทยมีพื้นที่ป่า 101,818,155 ไร่ (31.47) นี่ยังไม่ถึงตัวเลขที่นโยบายป่าไม้แห่งชาติ ซึ่งกำหนดเป้าหมายไว้ว่าต้องมีพื้นที่ป่าไม้ที่เหมาะสมต่อความเป็นอยู่ของคนในประเทศไทยราว 40% ของพื้นที่ประเทศ ยังขาดอีก 26 ล้านไร่ จึงจะบรรลุเป้าหมาย
ปัญหาคือ การฟื้นฟูป่าทั้งป่าไม่ได้ง่ายเหมือนปลูกต้นไม้ที่สวนหลังบ้าน มาดู ๆ แล้วมีหลายปัจจัยที่ทำให้ป่าไม้เมืองไทยมีแนวโน้มว่าจะลดลงต่อเนื่องทุกปี โดยตั้งแต่ปี 2516 เรื่อยมาจนถึงปี 2564 ประเทศไทยสูญเสียพื้นที่ป่าไม้เฉลี่ยปีละ 757,384 ไร่ หรือถัดขึ้นมาในปี 2543 ถึงปี 2564 เราสูญเสียป่าไม้ไปเฉลี่ยปีละ 195,562 ไร่
แล้วอุปสรรคคืออะไร ทำไมป่าไม้เมืองลดฮวบลงทุกปี หรือเหตุใดจึงปล่อยให้ทุนจีนบุกรุกเขตป่าสงวนถางที่ดินป่าเพื่อทำสวนทุเรียนได้ ไหนจะปัญหาไฟป่าจากการลักลอบเผาโดยมนุษย์ ไฉนเหตุการณ์เหล่านี้ยังเกิดซ้ำ ๆ และทางออกของปมปัญหานี้คืออะไร ป่าไม้เมืองไทยจะเพิ่มขึ้นเป็น 40% ดังที่ฝันไว้หรือไม่ ?
SPRiNG ชวนคุยกับ ดร.ขวัญชัย ดวงสถาพร อาจารย์จากคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และประธานคณะอนุกรรมการจัดทำร่างนโยบายป่าไม้แห่งชาติ เพื่อหาคำตอบของคำถามดังที่กล่าวไว้ข้างต้น และร่วมเข้าใจเรื่องนี้ไปพร้อม ๆ กัน
ดร.ขวัญชัย ชวนตั้งข้อสังเกตว่า สาเหตุที่ป่าไม้ในเมืองไทยลดลงนั้น แบ่งได้เป็น 2 กรณีคือ สาเหตุโดยตรง และสาเหตุโดยอ้อม แล้วสาเหตุโดยตรงมีอะไรบ้าง เช่น 1. ปล่อยให้มีการบุกรุกป่าเพื่อทำการเกษตร พื้นที่รีสอร์ท ที่อยู่อาศัย ฯลฯ 2. รัฐบาลอนุญาตให้นำที่ดินป่าไม้ไปพัฒนาเป็นโครงสร้างพื้นฐาน
ส่วนสาเหตุโดยอ้อม (ที่ทำให้ป่าไม้ลดลง) นั้น มีอยู่ 3 ประการ ได้แก่ การบังคับใช้กฎหมายที่ไม่มีประสิทธิภาพ 2. แบ่งแนวเขตป่าไม้ไม่ชัดเจน/หน่วนงานรัฐขีดเส้นทับซ้อนกัน ประการที่ 3 คือ มีหน่วยงานภาครัฐมากำกับดูแลป่าไม้มากเกินไป
“ป่าไม้อยู่ในความดูแลของหลายฝ่าย เช่น กรมป่าไม้ กรมอุทยานฯ กรมธนารักษ์ กระทรวงทรัพยากรฯ กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตร ฯลฯ แต่สังเกตว่าไม่มีการประสานการทำงานอย่างเป็นเอกภาพ”
อย่างไรก็ดี ดร.ขวัญชัย เปรยทิ้งท้ายไว้อีก 1 สาเหตุ ได้แก่ ความมักง่ายของผู้รับสัมปทานป่าไม้ กล่าวคือ ผู้รับสัมปทาน หรือผู้ที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ที่ดินป่า (บางส่วน) ไม่ปฏิบัติกฎเกณฑ์ที่รัฐกำหนด เช่น ปล่อยให้มีการบุกรุกป่า
“ผมคิดว่านี่คือสาเหตุทั้งหมดที่ทำให้ป่าไม้ลดลง” ดร.ขวัญชัย กล่าว
“ในความเห็นของผม นี่เป็นปัญหาที่มีมานานแล้ว ปัจจุบันก็ยังเป็นปัญหาอยู่ และในอนาคตถ้าไม่แก้จะยิ่งรุนแรงกว่านี้ ถามว่าเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวข้องไหม เกี่ยวข้องแน่นอน เพราะที่ดินที่มีการไปใช้ประโยชน์ (ปลูกทุเรียน) จริง ๆ มีกรณีเกิดขึ้นอยู่ทั่วประเทศ”
“สิ่งที่ผมอยากจะพูดก็คือ เราต้องยอมรับกันตามตรงว่าเจ้าหน้าที่รัฐหย่อนยานในการเข้าไปติดตามและประมวลผล พอไม่การทำอย่างต่อเนื่อง ปัญหาคือ พอไปเจออีกทีก็เจอเป็นสวนทุเรียนแล้ว ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจะมีระบบติดตามพื้นที่เหล่านี้อย่างเคร่งคัด และสร้างความต่อเนื่อง”
“ตัวอย่างที่พอจะเห็นภาพคือ การจำแนกพื้นที่ป่าไม้เพื่อการจัดการอย่างเหมาะสม หรือที่เรียกว่า zoning การจำแนกเขตพื้นที่ป่าไม้อย่างละเอียดจะทำให้แต่ละหน่วยงานรู้ว่าผืนป่าแต่ละแห่งควร หรือสามารถทำอะไรได้บ้าง ตรงไหนสามารถทำเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ได้ หรือบริเวณใดควรสงวนไว้สำหรับทำโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะ”
“กลับกัน ถ้าไม่มีการ zoning อย่างเป็นระบบ ผืนป่าแต่ละแห่งจะถูกใช้ประโยชน์อย่างไม่เหมาะสม แห่งหนที่ควรจะเป็นแหล่งต้นนำลำธารก็เป็นไม่ได้ เพราะมันทับซ้อนอยู่ในความดูแลของหลายหน่วนงาน ซึ่งตามนโยบายแห่งชาติกำหนดว่า เมื่อรัฐจัดทำ zoning เสร็จเรียบร้อยทั่วประเทศ ขั้นตอนถัดมาคือคณะรัฐมนตรีลงมติเห็นชอบในหลักการ เพื่อให้ราชการ หรือหน่วยงานอื่น ๆ ทำตามนี้ แต่ทุกวันนี้เราไม่ได้ zoning พอจะสร้างอะไรทีก็เกิดความขัดแย้งที”
จริงอยู่การลักลอบเผา หรือตัดไม้ ทำให้ป่าไม้เสื่อมโทรม มีความหมายว่าป่ายังเป็นป่าอยู่ แต่จำนวนต้นไม้ หรือความหนาแน่นของต้นไม้อาจลดลง และโครงสร้างป่าเกิดความเปลี่ยนแปลง
ดร.ขวัญชัย เผยว่า “แนวคิดเกี่ยวกับไฟป่ามันเปลี่ยนไปแล้ว 20 ปีก่อน มีการพูดกันว่าการลักลอบเผาป่าเป็นสาเหตุที่ทำให้ป่าเสื่อมโทรม และเมื่อป่าเสื่อมโทรม ในระยะยาวก็อาจทำให้ป่าไม้ลดลงได้ แต่ปัจจุบัน ชาวบ้านเจอผลกระทบใหม่ที่หนักกว่าเรื่องป่าลดลง นั่นก็คือ มลพิษด้านฝุ่นละออง PM 2.5”.
“ประชาชนในภาคเหนือไม่ได้มองว่าไฟป่าเป็นการทำลายป่าเท่านั้น แต่มีผลกระทบต่อสุขภาพ ทรัพย์สิน ชีวิต ทั้งยังส่งผลกระทบไปถึงระบบเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวด้วย ดังนั้น จะเห็นว่าประชาชนในภาคเหนือฟ้องรัฐ เหตุแก้ไขปัญหาไฟป่า และฝุ่นล่าช้า”
ดร.ขวัญชัย กล่าวว่า “มาตรการของภาครัฐตอนนี้คือ ปล่อยให้มีการฟื้นฟูตามธรรมชาติ ผมมองว่าการปล่อยให้ธรรมชาติฟื้นฟูตัวเอง เราต้องติดตาม ประเมินผล และดำเนินการอย่างเคร่งคัด เพราะที่ผ่านมา งบประมาณของภาครัฐที่ลงไปฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรมเยอะมาก แต่ผลลัพธ์ค่อนข้างต้องปรับปรุง”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง