SHORT CUT
ชาติพันธุ์สำคัญอย่างไรกับคนเมือง? จับตากฎหมายในสภา ในป่าควรมีคนอยู่ไหม? เมื่อ “คนอยู่กับป่า” ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องจริงที่เกิดมาเนิ่นนาน
ความเข้าใจว่าคนไทยมีเพียงเชื้อชาติเดียว ภาษาเดียว วัฒนธรรมเดียว เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในยุคสร้างรัฐชาติ แต่ในความเป็นจริง ดินแดนที่เราเรียกว่าประเทศไทยนั้น เต็มไปด้วยความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็นม้ง กะเหรี่ยง ลาหู่ อาข่า เย้า มลาบรี และอีกมากมาย ทั้งในภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคอื่น ๆ “ไทยแท้”ในนิยามของผู้คนคืออะไร ในเมื่อเรามีทั้งคนไทยเชื้อสายจีน มอญ แขก อยู่ร่วมกันอย่างพหุวัฒนธรรม
พวกเขามีภาษา วัฒนธรรม และวิถีชีวิตที่แตกต่างจากคนเมือง แต่ไม่ได้แปลว่าเขา “ไม่ใช่คนไทย” ชาติพันธุ์ในแผ่นดินไทยก็คือคนไทย เพียงแค่เขาใช้ชีวิตในพื้นที่ที่คนเมืองอาจมองว่า “ไกล” และ “ต่าง” เท่านั้นเอง
แม้จะอยู่ในแผ่นดินเดียวกัน คนกลุ่มนี้กลับถูกกันออกจากสิทธิขั้นพื้นฐานมากมาย กลายเป็นคนชายขอบที่แม้จะอยู่มานานหลายชั่วอายุคน แต่หลายคนกลับไม่มีสัญชาติ ไม่มีสิทธิในที่ดินที่อยู่อาศัย-ที่ทำกิน เข้าไม่ถึงการศึกษาและระบบสาธารณสุขขั้นพื้นฐาน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะกฎหมายตราหน้าให้เขากลายเป็นคน “บุกรุกป่า” ทั้งที่กฎหมายอุทยาน-ป่าไม้ เกิดขึ้นทีหลังการอยู่อาศัยของพวกเขาในเขตป่าด้วยซ้ำ แต่กฎหมายของรัฐกลับไปริดรอนสิทธิ ที่มี “กำแพงของภาษาและวัฒนธรรม” เป็นตัวขวางกั้น
ร่าง พรบ.คุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐสภาในขณะนี้ เกิดจากการผลักดันของภาคประชาชนและพรรคการเมือง เพื่อแก้ไขปัญหาทับซ้อนในเขตป่าดังกล่าว โดยย้ำว่านี่ไม่ใช่ “การให้สิทธิพวกเขาเหนือคนทั่วไป” แต่เป็นการ “คืนสิทธิที่ถูกพรากไป” กลับคืนมา
หนึ่งในประเด็นที่ถูกถกเถียงมาก คือใน ม.27 ของร่าง พรบ.ฉบับนี้ ที่ระบุว่า ใน “พื้นที่ที่ถูกประกาศให้เป็นเขตคุ้มครองวิถีชีวิตของชาติพันธุ์” ซึ่งจะต้อง “ผ่าน” การพิจารณาของคณะกรรมการเสียก่อนนั้น จะต้องมีการ “ทำข้อตกลง” ระหว่างชุมชนและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น อุทยาน ป่าไม้ ฯลฯ ในพื้นที่ ต้องทำแผนแม่บท รับฟังผู้มีส่วนได้เสีย ให้ครบถ้วน
ให้ “ไม่ต้องนำกฎหมายที่เกี่ยวข้องมาใช้บังคับในพื้นที่” เป็นประโยคที่ สส.หลายคนมองว่าเป็นการลบล้างกฎหมายอื่น ให้อภิสิทธิ์คนกลุ่มนี้ ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญ
แต่จริงๆแล้ว “พื้นที่คุ้มครอง” เป็นลักษณะการอนุญาตให้ชุมชนอยู่อาศัยในป่าได้โดยมีลักษณะ “ชั่วคราว” คืนสิทธิให้ชุมชนที่อยู่มาก่อน เพราะหากใช้กฎหมายอุทยานหรือกฎหมายป่าสงวนแห่งชาติ จะจำกัดสิทธิในการอยู่อาศัยและการทำกินในพื้นที่อย่างมาก ที่สำคัญคือลักษณะชั่วคราวนี้ “ถูกยกเลิกได้” หากชุมชนทำผิดข้อตกลงที่ได้ทำไว้กับรัฐ
ในปัจจุบันมีเพียง 24 ชุมชนจากทั่วประเทศเท่านั้น ที่ได้รับการประกาศให้เป็น “พื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตของชาติพันธุ์” ซึ่งผ่านการเห็นชอบจากคณะกรรมการที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ไม่ได้ผ่านกันง่ายๆ ต้องถูกประเมินเป็นรายกรณี เพื่อพิสูจน์ว่าชุมชนเหล่านั้นอยู่มาก่อนกฎหมาย และมีความพร้อมในการจะอยู่ร่วมกับพื้นที่ธรรมชาติอย่างยั่งยืน
SPRiNG ได้มีโอกาสลงพื้นที่ชุมชนดอยช้างป่าแป๋ หนึ่งในพื้นที่คุ้มครองฯ พบว่า ชาวบ้านซึ่งเป็นชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ กลายเป็นแนวหน้าและแนวร่วมสำคัญของเจ้าหน้าที่อุทยานป่าไม้ ในการทำงานเชิงรุกป้องกันไฟป่า และปกป้องชุมชน
เมื่อคนพื้นที่ที่เกิดและโตบนดอย รู้จักทุกซอกทุกมุมของป่า ใช้สถิติว่าแต่ละปีไฟป่ามักจะมาทางไหน? พื้นที่ไหนคือป่าต้นน้ำ พื้นที่ไหนควรสร้างบ่อหรือวางถังเก็บน้ำไว้ใช้ดับไฟป่า ได้ลงมือทำงานจริง สามารถช่วยดับไฟป่าได้จริงๆ ซึ่งการขุดบ่อ/วางถังน้ำ 200 ลิตร/วางแนวสปริงเกอร์ดับไฟป่า ไม่สามารถทำได้ใต้กฎหมายอุทยานทั่วไป แต่ทำได้เมื่อเป็นข้อตกลงระหว่างชุมชนและอุทยาน ภายใต้การรับรองเป็นพื้นที่คุ้มครองฯ นั่นเอง
การยอมรับว่า “ในป่ามีคนอยู่” และเขามีสิทธิที่จะอยู่ในผืนแผ่นดินนี้อย่างเท่าเทียม คือสิ่งที่สังคมไทยควรเดินหน้าไปให้ถึง ป่าไม่ใช่แค่ที่พักผ่อนหย่อนใจหรือพื้นที่ลดโลกร้อนของคนเมือง แต่คือชีวิตทั้งหมดของใครอีกหลายคน
ไม่ใช่แค่เพื่อความเป็นธรรม แต่เพื่อสร้างการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน เพราะป่าไม้ไม่ใช่ของใครคนเดียว และประเทศนี้ก็ไม่ได้มีแค่ชาติพันธุ์เดียวเช่นกัน