SHORT CUT
คว่ำมาตรา 27 ปมกลุ่มชาติพันธุ์จัดการพื้นที่เอง รัฐบาลเสียงแตกมองเลือกปฏิบัติ เกิดความเห็นต่างในสภาวุ่นหนักเรื่องจัดการพื้นที่เอง
ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ เป็นกฎหมายที่มุ่งหมายจะให้การรับรองและคุ้มครองสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทย โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมและรักษาวัฒนธรรม ประเพณี ภาษา และวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้ให้คงอยู่ต่อไป อย่างไรก็ตาม ร่างกฎหมายนี้ได้ก่อให้เกิดข้อถกเถียงและความขัดแย้งในหลายประเด็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมาตรา 27
มาตรา 27 เป็นส่วนหนึ่งของร่าง พ.ร.บ. นี้ที่ได้รับความสนใจและเป็นประเด็นถกเถียงมากที่สุด โดยมาตรานี้เกี่ยวข้องกับสิทธิในการจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติของกลุ่มชาติพันธุ์ ฝ่ายที่เห็นด้วยมองว่ามาตรานี้จะช่วยให้กลุ่มชาติพันธุ์สามารถจัดการที่ดินและทรัพยากรในพื้นที่ของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และเป็นการรับรองสิทธิของพวกเขาในการดำรงชีวิตตามวิถีที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมและประเพณี
ในขณะที่ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกังวลว่ามาตรา 27 อาจส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรของรัฐ และอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์กับหน่วยงานรัฐหรือประชาชนกลุ่มอื่นๆ มีความกังวลว่าการให้สิทธิในการจัดการที่ดินและทรัพยากรแก่กลุ่มชาติพันธุ์อาจนำไปสู่การใช้ทรัพยากรที่ไม่ยั่งยืน หรืออาจกระทบต่อโครงการพัฒนาของรัฐ
โดยฝ่ายไม่เห็นมีความเห็นมากมายตัวอย่างเช่น จิตติพจน์ วิริยะโรจน์ สส. เพื่อไทย แสดงความเห็น ‘ไม่เห็นด้วย’ ต่อการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ชาติพันธุ์ในครั้งนี้ ระบุว่า โดยภาพรวมยังไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม รัฐธรรมนูญ และหลักกฎหมาย เหตุผลคือ กฎหมายฉบับนี้ ประสงค์ที่จะทำตามรัฐธรรมนูญมาตรา 70 ว่าด้วยการคุ้มครองวัฒนธรรมและวิถีชีวิต แต่ที่ท่านตรากฎหมายมานั้น ครอบคลุมไปถึงการครอบครองที่ดินซึ่งกระทบกระเทือนไปถึงกฎหมายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกฎหมายที่ดินด้วย
จิตติพจน์ ย้ำว่า ตามหลักการแล้วหากท่านประสงค์คุ้มครองวัฒนธรรมและวิถีชีวิต ก็ไม่ควรที่จะครอบคลุมไปถึงการครอบครองที่ดิน กฎหมายฉบับนี้เกินเลยอำนาจไปกว่าหลักการที่เรารับในวาระแรก
จิตติพจน์ ระบุว่า โครงสร้างกฎหมายที่ร่างมามีลักษณะพิเศษ นั่นคือ มีการกำหนดพื้นที่ที่เรียกว่า ‘พื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์’ ซึ่งในพื้นที่นี้จะดำเนินการบริหารโดยธรรมนูญ โดยยกเว้นข้อกฎหมาย แม้จะมีเขียนระบุไว้ในมาตรา 28 ว่า ‘ในกรณีที่ผู้มีสิทธิอยู่อาศัยหรือใช้ประโยชน์ตามวรรคหนึ่ง ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ดังกล่าว ให้นำกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่นั้นมาใช้บังคับและดำเนินการตามกฎหมายแก่ผู้นั้นต่อไป’ โดย จิตติพจน์ กล่าวว่า
“การที่ท่านเขียนว่า ‘และ’ ก็หมายความการ ขอเพียงทำตามธรรมนูญ จะไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายใดๆ ทั้งสิ้น หมายถึงว่า พื้นที่พิเศษที่ท่านเขียนขึ้นมา กฎหมายไทยจะบังคับใช้ไม่ได้” จิตติพจน์ กล่าว
จิตติพจน์ มองว่าการเขียนกฎหมายเช่นนี้ จะทำให้พื้นที่ควบคุม เป็นพื้นที่เสมือนนอกกฎหมายในประเทศไทย เพราะสามารถ Overrule กฎหมายต่างๆ ของประเทศไทย โดยอาศัยธรรมนูญได้
วรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล สส. อีกคนของพรรคเพื่อไทย ก็ได้อภิปรายแสดงความกังวลต่อมาตราดังกล่าว ระบุว่า เห็นด้วยในหลักการที่ให้มีการดูแลกลุ่มชาติพันธุ์ แต่การร่างกฎหมาย ไม่สามารถร่างเพื่อยกเว้นข้อใดข้อหนึ่ง ซึ่งในมาตรา 27 ของรัฐธรรมนูญราชอาณาจักรไทยเขียนว่า ‘บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย’
“วันนี้เรากำลังจงใจกระทำขัดต่อรัฐธรรมนูญ คือยกร่างกฎหมายเพื่อให้สิทธิแก่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ผมว่ามันจะเกิดความแตกแยกในประเทศไทย” วรวัจน์ กล่าว
โดย วรวัจน์ ได้แสดงความประสงค์ ในส่วนอื่นๆ ของร่างกฎหมายชาติพันธุ์ ตนพอรับได้ แต่ในมาตรา 27 นั้น ตนขอให้ตัดถ้อยคำเกี่ยวกับการยกเว้นกฎหมายต่างๆ ออกไป เพื่อไม่ให้มีกฎหมายซ้อนกฎหมาย
ศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ สส. พรรคเพื่อไทย ยืนยันว่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้แก้ไข พ.ร.บ.อุทยานฯ และ พ.ร.บ.ป่าสงวนฯ เพื่อให้ประชาชนที่อยู่ในป่าสามารถอยู่ในป่าได้โดยการแจ้งการครอบครอง ไม่ได้มีปัญหาอะไรเลย แม้กระทั่งเหตุการณ์บ้านบางกลอย ศักดิ์ดา กล่าวว่า วันนี้ก็ไม่มีใครไปรื้อบ้านบางกลอย ยังอยู่เหมือนเดิมครับ
“ผมรับราชการกรมป่าไม้และอุทยานมาทั้งชีวิต ทราบข้อมูลเรื่องนี้ดี กรมป่าไม้ กรมอุทยาน เจ้าหน้าที่ ไม่เคยไปไล่จับ โดยเฉพาะชาติพันธุ์ ยกเว้นกลุ่มชาติพันธุ์หรือบุคคลใดเข้าไปแผ้วถางพื้นที่ใหม่”
“พื้นที่คุ้มครองฯ ที่ประกาศทั้งหมด เป็นพื้นที่ในป่าอนุรักษ์ แหล่งต้นน้ำลำธาร แหล่งซับน้ำ ถ้าเราปล่อยให้มีการประกาศพื้นที่คุ้มครองฯ แล้วให้กลุ่มชาติพันธุ์อยู่อาศัย ผมไม่เชื่อหรอกครับว่าคนอยู่กับป่า จะไม่เผลอถางป่า” ศักดิ์ดา กล่าว
ขณะที่ฝ่ายเห็นด้วย เช่น มานพ คีรีภูวดล สส. พรรคประชาชน มองว่า มาตราที่ 27 เป็นหัวใจของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ และกรรมาธิการฯ ได้แก้ไขตามที่ประชุมใหญ่ได้เสนอแล้ว
โดย สส. มานพ ให้เหตุผลสำคัญคือ ถ้าไม่เขียนแบบนี้ เจ้าหน้าที่ไม่ว่าจะเป็นกรมอุทยาน กรมป่าไม้ ฯลฯ ที่จะมีการประกาศเขตวัฒนธรรมพิเศษ จะเข้าไปทำงานตาม พ.ร.บ.ฯ นี้ไม่ได้ เพราะจะเป็นการยกเว้นการปฏิบัติหน้าที่ กล่าวคือ ทุก พ.ร.บ. ในประเทศไทยจะเขียนกำกับไว้ว่า เจ้าหน้าที่และเจ้าพนักงานตาม พ.ร.บ. ฉบับนี้ เช่น หากใครไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ. อุทยาน ก็ไม่สามารถใช้ พ.ร.บ.ฯ ได้
ดังนั้น กฎหมายมาตรา 27 ของ พ.ร.บ.ชาติพันธุ์ฉบับนี้ เป็นการสร้างนวัตกรรมใหม่ เป็นโซ่ข้อกลางที่จะทำให้ประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐทำงานด้วยกันได้ถูกต้องกฎหมาย โดยชอบด้วยกฎหมายครับ
สส.มานพ ยังตั้งคำถามว่า ทราบไหมว่าวันนี้ ถ้าจะเอาตามกฎหมายอุทยาน, ป่าสงวน วันนี้เราต้องย้ายประชาชนประมาณ 10 ล้านคนทั่วประเทศออกจากป่าทั้งหมด แต่วันนี้ที่อยู่กันได้เพราะอะลุ่มอล่วย เพราะพี่น้องประชาชนอยู่มาก่อนกฎหมาย
เขายกตัวอย่างว่า ช่วงนี้ชาวบ้านทั่วไปเขาทำแนวกันไฟร่วมกันอุทยาน ซึ่งตามกฎหมายแล้ว ชาวบ้านไม่ได้มีหน้าที่ไปทำแนวกันไฟ ไม่ได้เขียนไว้ในกฎหมาย แต่วันนี้ที่ชาวบ้านเขาไปทำได้ เพราะเป็นผลประโยชน์ร่วมกัน ต้องรักษาป่าด้วยกัน หากลองไปดูกฎหมายอุทยาน จะมีที่เขียนว่า ห้ามเก็บก้อนหิน ห้ามคนเดินเข้าไป ห้ามเก็บใบไม้ คนที่อนุญาตทำได้คือเจ้าหน้าที่อุทยานเท่านั้น แต่ข้อเท็จจริงวันนี้คือประชาชนกับเจ้าหน้าที่ ทำงานด้วยกัน รักษาป่าด้วยกัน ทำฝาย ดูแลไฟป่า โดยไม่มีกฎหมายรองรับ
“พ.ร.บ.ฉบับนี้แหละที่จะทำหน้าที่เป็นโซ่ข้อกลางที่จะมาช่วยลดความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชน และจะไม่ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐร่วมมือทำผิดกฎหมาย และทำงานร่วมมือกับประชาชนโดยชอบด้วยกฎหมาย หัวใจมันมีแค่นี้
“ทำไมต้องมีมาตรานี้ เป้าหมายสูงสุดคือ 1. ลดความขัดแย้ง สร้างความร่วมมือ 2. คนและป่าอยู่ด้วยกันอย่างยั่งยืน” มานพกล่าว
ด้าน ชลน่าน ศรีแก้ว สส. เพื่อไทย ระบุว่า ตนเห็นด้วยอย่างยิ่งที่คณะกรรมาธิการเขียนมาแบบนี้ เหตุผลคือ เพราะกฎหมายฉบับนี้ เน้นไปที่การส่งเสริมและคุ้มครองวิถีชาติพันธุ์ ถ้าเขาได้สิทธิ์และมีโอกาสที่เท่าเทียมกับคนไทยทั่วไป กฎหมายฉบับนี้ก็ไม่จำเป็นต้องเขียน ซึ่งขณะนี้พวกเขา (กลุ่มชาติพันธุ์)ไม่มี กฎหมายที่ใช้บังคับเขาอยู่ในปัจจุบัน ไม่ได้ให้โอกาสเขาอย่างนั้น
ชลน่าน กล่าวต่อว่า มาตรา 27 ในร่างก่อนหน้าของคณะรัฐมนตรี ประกาศพื้นที่คุ้มครอง 3 ขั้นตอนคือ หนึ่ง - ให้ชุมชนเป็นผู้จัดทำแผนแม่บทภายใต้การรับฟังความเห็น สอง-ส่งให้ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม จัดทำแผนที่และแผนแม่บทร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สาม-เมื่อผ่านแล้ว ส่งให้กรรมการฯประกาศพื้นที่
ชลน่าน มองว่า เนื้อหาในร่างเดิมนั้นมีปัญหาคือ “ในขั้นตอนที่ 2 ผมคิดว่ามันจะกลายเป็นคอขวด จะไปต่อไม่ได้เลย เหมือนกับกรณีรับรองแนวเขตพื้นที่ทำกินในปัจจุบันนี้ คล้ายกัน แล้วพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์จะไม่มีทางเกิดขึ้น เพราะมันจะเป็นการใช้ดุลยพินิจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ ดุลยพินิจประเภทนี้ทำลายประเทศเรามานานมากแล้ว”
ชลน่าน ชี้ว่า เมื่อร่างดังกล่าวผ่านสภาวาระ 1 และถูกส่งให้คณะกรรมาธิการฯ พิจารณา ตนเห็นว่า ร่าง พ.ร.บ. ชาติพันธุ์ฉบับนี้ของกรรมาธิการฯ มีแนวทางที่จะเกิดพื้นที่คุ้มครองได้จริงๆ โดยมองว่า การเขียนมาตรา 27 ฉบับนี้ ไม่ได้ละเว้นกฎหมาย เพราะถ้าอ่านดีๆ มาตรา 27 นี้ ว่าด้วยการจัดทำแผนแม่บทและแผนที่เท่านั้น หากไม่ละเว้นหลักเกณฑ์ในการบังคับใช้กฎหมายอื่น คุณขีดเขตไม่ได้ เพราะเจ้าหน้าที่ไม่ยอม เมื่อเขียนแบบนี้ เจ้าหน้าที่ก็สบายใจว่ามีตรงนี้เปิดช่องให้อนุญาตได้
โดยสรุป ชลน่าน เห็นด้วยกับการแก้ถ้อยคำในมาตรา 27 ของคณะกรรมาธิการฯ และมองว่า มาตรา 27 ไม่ได้เว้นกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ เพราะมาตราที่ 28 เขียนรองรับไว้ชัดเจนว่า ‘หากชุมชนมีการทำผิดข้อตกลงที่ทำไว้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐ สามารถยกเลิกพื้นที่คุ้มครองและกลับไปใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ได้
ด้าน เอกราช อุดมอำนวย สส.พรรคประชาชน ได้แสดงความเห็นกรณีที่ สส. บางท่านมองว่า ร่างกฎหมายชาติพันธุ์ มาตรา 27 นั้น Overrule หรืออยู่เหนือกฎหมายต่างๆ ของประเทศไทย
โดยเอกราชได้ยกตัวอย่าง สภาชุดแรกของประเทศไทยเมื่อปี 2489 ได้ออกร่าง พ.ร.บ.ฯ ฉบับหนึ่งชื่อว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา สตูล และมีหนึ่งมาตราที่เขียนไว้ว่า ในการวินิจฉัยชี้ขาดคดีแพ่งเกี่ยวกับเรื่องครอบครัวและมรดก อิสลาม ศาสนิกของศาลชั้นต้นฯ ให้ใช้กฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดกแทนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
เอกราช มองว่า กฎหมายที่ยกตัวอย่าง มีลักษณะใกล้เคียงกับกฎหมายชาติพันธุ์ นั่นคือ การเขียนเพื่อเป็นโซ่ข้อกลางในการบังคับใช้กฎหมายอื่นๆ นี่คือความเข้าใจในความแตกต่างหลากหลาย
“ขอร้องว่าเราอย่าถอยหลังไปต่ำกว่ามาตรฐานของเพื่อน สส. สมัย 2489 เลย เห็นใจพี่น้องชาติพันธุ์เถอะครับ ผมเห็นด้วยกับกรรมาธิการเสียงข้างมากที่แก้ไขกฎหมายมาแล้ว เขาทำเต็มที่แล้ว”
ด้าน จุลพงศ์ อยู่เกษ จากพรรคประชาชน ก็ได้ยกตัวอย่างกฎหมาย 2 ฉบับที่เกี่ยวกับการกำหนดพื้นที่เช่นกัน เพื่อมาอธิบายว่า มาตร 27 ในร่างกฎหมายชาติพันธุ์นี้ ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่
โดย จุลพงศ์ อธิบายตัวอย่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชนฯ 2562 มาตรา 103 ระบุว่า มิให้นำกฎหมายว่าด้วยอุทยานแห่งชาติ หรือกฎหมายการสงวนและคุ้มครองสัตว์ มาบังคับใช้ในพื้นที่ป่าชุมชน อีกฉบับคือ พ.ร.บ.เขตพัฒนาเศรษฐกิจตะวันออก 2561 มาตรา 37 กำหนดให้อำนาจกรรมการนโยบาย โดยยกเว้นกฎหมายหลายฉบับ เช่น กฎหมายการเดินเรือน่านน้ำไทย, กฎหมายว่าด้วยชลประทานหลวง, กฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการพลังงาน, กฎหมายว่าด้วยสัมปทาน, และกฎหมายว่าด้วยนิวเคลียร์สันติ
“ที่เพื่อนสมาชิกบอกว่า การเขียนแบบนี้จะทำให้พื้นที่ของชาติพันธุ์เป็นพื้นที่นอกกฎหมาย ผมถามว่าพื้นที่ป่าชุมชนและพื้นที่อีอีซี เป็นพื้นที่นอกกฎหมายหรือเปล่าครับ ทำไมเราจะกำหนดพื้นที่ให้ชุมชนไม่ได้ แต่ทำไมเราถึงกำหนดพื้นที่ให้นายทุน ทำไมทำได้”ด้วย
หลายท่านเห็นด้วยกับร่างกฎหมายชาติพันธุ์ โดยเฉพาะมาตรา 27 เนื่องจากมองว่าเป็นหัวใจสำคัญที่จะช่วยลดความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชน และส่งเสริมให้คนกับป่าอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน เหตุผลหลักที่สนับสนุนร่างกฎหมายนี้ มีดังนี้
จะเห็นได้ว่าฝ่ายที่เห็นด้วยมองว่า มาตรา 27 เป็นโซ่ข้อกลาง มาตรานี้เป็นนวัตกรรมใหม่ที่จะทำให้ประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐทำงานร่วมกันได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย หากไม่มีมาตรานี้ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการประกาศเขตวัฒนธรรมพิเศษจะไม่สามารถปฏิบัติงานตาม พ.ร.บ. นี้ได้ เพราะจะเป็นการยกเว้นการปฏิบัติหน้าที่
ลดความขัดแย้งและสร้างความร่วมมือ มาตรา 27 จะช่วยลดความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชน โดยทำให้เจ้าหน้าที่รัฐสามารถทำงานร่วมกับประชาชนได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ต้องอะลุ่มอล่วยเหมือนที่ผ่านมา
ส่งเสริมสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ กฎหมายนี้เน้นการส่งเสริมและคุ้มครองวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ หากกลุ่มชาติพันธุ์มีสิทธิและโอกาสเท่าเทียมกับคนไทยทั่วไป กฎหมายนี้ก็ไม่จำเป็นต้องมี แต่ปัจจุบันกลุ่มชาติพันธุ์ยังไม่มีสิทธิและโอกาสเหล่านั้น
กระบวนการจัดทำแผนแม่บท มาตรา 27 กำหนดให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดทำแผนแม่บทภายใต้การรับฟังความคิดเห็น ซึ่งแตกต่างจากร่างเดิมที่ให้หน่วยงานรัฐเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งอาจเกิดปัญหาคอขวดและทำให้พื้นที่คุ้มครองไม่เกิดขึ้นจริง
มาตรา 27 ไม่ได้ละเว้นกฎหมาย มาตรา 27 เป็นเพียงการจัดทำแผนแม่บทและแผนที่เท่านั้น ไม่ได้ละเว้นกฎหมายอื่น ๆ ที่บังคับใช้อยู่ หากชุมชนทำผิดข้อตกลงที่ทำไว้กับเจ้าหน้าที่รัฐ สามารถยกเลิกพื้นที่คุ้มครองและกลับไปใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องได้
เปรียบเทียบกับกฎหมายอื่น มีตัวอย่างกฎหมายอื่น ๆ ที่ยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายบางฉบับในบางพื้นที่ เช่น พ.ร.บ.ป่าชุมชนฯ และ พ.ร.บ.เขตพัฒนาเศรษฐกิจตะวันออก ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการกำหนดพื้นที่พิเศษสำหรับชุมชนไม่ใช่เรื่องใหม่และไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ
เห็นใจพี่น้องชาติพันธุ์ การแก้ไขกฎหมายครั้งนี้เป็นการแสดงความเห็นใจและให้โอกาสกลุ่มชาติพันธุ์ได้มีพื้นที่และวิถีชีวิตที่เป็นของตนเอง
ดังนั้น สส. ที่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายนี้ มองว่า มาตรา 27 เป็นเครื่องมือสำคัญในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ส่งเสริมความร่วมมือ และคุ้มครองสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ โดยไม่ละเว้นการบังคับใช้กฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
กลุ่มชาติพันธุ์จะได้รับการรับรองสิทธิและมีอำนาจในการจัดการตนเองและทรัพยากรมากขึ้น วัฒนธรรมและประเพณีของกลุ่มชาติพันธุ์จะได้รับการส่งเสริมและอนุรักษ์ ความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์กับรัฐและสังคมโดยรวมอาจดีขึ้น
อาจเกิดความขัดแย้งเกี่ยวกับการจัดการที่ดินและทรัพยากรอาจมีการใช้ทรัพยากรที่ไม่ยั่งยืนหากไม่มีการจัดการอย่างเหมาะสม รัฐอาจสูญเสียอำนาจในการบริหารจัดการบางส่วน
หากมาตรา 27 ของร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. .... ผ่าน จะส่งผลกระทบหลายด้าน โดยมีประเด็นสำคัญดังนี้:
การคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์: มาตรา 27 มีเจตนาเพื่อคุ้มครองและพิทักษ์วิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ โดยการกำหนดพื้นที่คุ้มครองเป็นกรณีพิเศษ ซึ่งจะทำให้กลุ่มชาติพันธุ์สามารถใช้ชีวิตตามวิถีดั้งเดิมได้ โดยมีข้อตกลงร่วมกันระหว่างชุมชนและเจ้าหน้าที่รัฐ
การยกเว้นการใช้กฎหมาย: ในพื้นที่คุ้มครอง จะมีการยกเว้นการใช้กฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น พ.ร.บ.ป่าไม้, พ.ร.บ.ป่าสงวน เป็นต้น ซึ่งเป็นประเด็นที่ ส.ส. หลายคนกังวลว่าจะขัดต่อรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะประโยคที่ว่า "โดยไม่ต้องนำกฎหมายที่เกี่ยวข้องมาใช้บังคับแก่พื้นที่ดังกล่าว" ซึ่งอาจถูกมองว่าเป็นการลบล้างกฎหมาย หรือทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกัน
การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ: มาตรานี้มีขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาการจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่ประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากกฎหมายที่ดินของรัฐ โดยจะเปิดโอกาสให้ประชาชนในพื้นที่คุ้มครองสามารถใช้ประโยชน์จากที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติได้ ตามธรรมนูญของพื้นที่คุ้มครอง แต่ต้องเป็นไปอย่างสมดุล ไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม
การมีส่วนร่วมของประชาชน: การประกาศพื้นที่คุ้มครองต้องทำข้อตกลงระหว่างชุมชนและเจ้าหน้าที่รัฐ และต้องมีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย นอกจากนี้ จะมีการจัดตั้งคณะกรรมการบริหารพื้นที่คุ้มครองฯ ซึ่งมีผู้แทนจากทั้งหน่วยงานรัฐและชุมชน โดยมีผู้แทนชุมชนเป็นประธาน เพื่อให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการพื้นที่ และกำหนดกติกาต่างๆ ร่วมกัน
การทำธรรมนูญของพื้นที่: คณะกรรมการบริหารพื้นที่คุ้มครองฯ จะจัดทำธรรมนูญของพื้นที่ ซึ่งต้องประกอบด้วยสิทธิและหน้าที่ของประชาชนในพื้นที่ รวมถึงมาตรการบังคับใช้ธรรมนูญ โดยต้องไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย ศีลธรรมอันดี หรือความมั่นคงของรัฐ และต้องสอดคล้องกับแผนแม่บทและแผนที่
อ้างอิง