Colossal Biosciences บริษัทพันธุวิศวกรรม สัญชาติอเมริกัน ทำสำเร็จ คืนชีพ “ไดร์วูลฟ์" หมาป่าดึกดำบรรพ์จากเมื่อ 10,000 ปีก่อน ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง
ดูเหมือนว่าการคืนชีพสัตว์ดึกดำบรรพ์จะไม่ใช่เรื่องราวแฟนตาซีอีกต่อไปแล้ว เพราะล่าสุด “Colossal Biosciences” บริษัทเทคโนโลีชีวภาพและพันธุวิศวกรรม สัญชาติอเมริกัน ได้ทำการคืนชีพ “ไดร์วูลฟ์" (Direwolf) ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ไม่เคยปรากฏบนโลกมานานกว่า 12,000 ปี ให้กลับมาชีวิตได้สำเร็จ
บริษัท Colossal Biosciences คืนชีพไดร์วูลฟ์ให้กลับมามีชีวิตถึง 3 ตัว ตัวแรกชื่อ โรมูลัส (Romulus) ตัวที่สองชื่อ รีมัส (Remus) ทั้งสองเกิดมาเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2567 ตอนนี้ อายุได้ 6 เดือนแล้ว และน้องคนเล็กชื่อ คาลีซี (Khaleesi) อายุ 2 เดือน
หากใครจำกันได้ เร็ว ๆ นี้ บริษัท Colossal Biosciences ถูดพูดถึงเป็นวงกว้างหลังพยายามที่จะคืนชีพช้างแมมมอธขนยาว แม้ยังทำไม่สำเร็จ แต่บริษัทก็สามารถสร้างหนูแมมมอธขนยาวได้สำเร็จ
นักวิทยาศาสตร์จากบริษัท Colossal คืนชีพ "ไดร์วูลฟ์" ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้งด้วยเทคโนโลยีชีวภาพสุดล้ำ โดยเริ่มจากการถอดรหัสพันธุกรรมของไดร์วูลฟ์จากกะโหลกอายุ 72,000 ปี และฟันอายุ 13,000 ปี แล้วนำไปเปรียบเทียบกับพันธุกรรมของหมาป่าสีเทาในปัจจุบัน
ผลพบว่า ยีนของไดร์วูลฟ์ต่างจากหมาป่าสีเทาใน 14 ยีนหลัก ซึ่งส่งผลต่อรูปร่าง ขนาด ขน ทรงหัว และฟัน รวมแล้วมีความแตกต่างกันถึง 20 จุด ทีมวิจัยจึงนำ เซลล์โปรเจนิเตอร์ของเยื่อบุหลอดเลือด (endothelial progenitor cell) จากหมาป่าสีน้ำตาลมาตัดต่อพันธุกรรมในยีนทั้ง 14 ตัวนี้ เพื่อให้แสดงลักษณะเฉพาะของไดร์วูลฟ์
แต่การตัดต่อพันธุกรรมไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะยีนหนึ่งตัวอาจควบคุมหลายลักษณะ เช่น ยีนที่ทำให้ขนเป็นสีขาวในหมาป่าสีเทา อาจทำให้ตาบอดหรือหูหนวกด้วย ทีมวิจัยจึงต้องดัดแปลงยีนอื่นเพิ่มอีก 2 ตัว เพื่อ "ปิด" ยีนที่ให้สีดำและสีแดง ทำให้ได้หมาป่าขนขาวแบบไดร์วูลฟ์ แต่ยังคงการได้ยินและการมองเห็นปกติ
หลังจากนั้น นักวิทยาศาสตร์ได้นำ นิวเคลียสของเซลล์ที่ตัดต่อพันธุกรรมแล้ว ไปใส่ในไข่ของหมาป่าสีเทา เพื่อเพาะเป็นเอ็มบริโอ จากนั้นนำเอมบริโอ 45 ตัวไปฝังในมดลูกของแม่บุญธรรม ซึ่งเป็นสุนัขบ้าน 2 ตัว และหลังจากผ่านไป 65 วัน ก็เกิดเป็นลูกหมาป่าแบบที่เห็น
บริษัท Colossal Biosciences เผยว่า จากการเฝ้าสังเกต “โรมูลัส” และ “รีมัส” ตลอด 6 เดือนที่ผ่านมา พบว่าทั้งสองตัวนี้มีลักษณะที่แตกต่างจากลูกหมาป่าทุกวันนี้อย่างชัดเจน แม้จะอายุเพียง 6 เดือน แต่พวกมันมีความยาวตัวถึง 1.2 เมตร และหนักกว่า 36 กิโลกรัม ซึ่งถือว่าใหญ่กว่าลูกหมาป่าปกติอย่างมาก และคาดว่าตอนโตเต็มวัยอาจยาวได้ถึง 1.8 เมตร และหนักกว่า 70 กิโลกรัมเลยทีเดียว
นอกจากขนาดที่ใหญ่แล้ว ลักษณะภายนอกของพวกมันก็โดดเด่นไม่แพ้กัน พวกมันมีขนที่หนาแน่น หัวกว้าง ฟันใหญ่ ไหล่และขาแข็งแรงมาก รวมถึงเสียงหอนที่ไม่เหมือนหมาหรือหมาป่าทั่วไป
สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างคือพฤติกรรมของพวกมัน ทั้งโรมูลัสและรีมัสมักจะรักษาระยะห่างจากมนุษย์ แม้แต่กับผู้ดูแลที่เลี้ยงดูมาตั้งแต่เล็ก ก็ยังเข้าใกล้ได้แค่ในระยะที่มันยอมรับ ซึ่งเป็นลักษณะนิสัยแบบเดียวกับหมาป่าในธรรมชาติ พฤติกรรมเหล่านี้บ่งชี้ชัดเจนว่า ทั้งสองตัวมีลักษณะใกล้เคียงกับหมาป่าไดร์วูลฟ์ดั้งเดิมมากกว่าหมาบ้านทั่วไป
อย่างไรก็ดี บริษัท Colossal Biosciences ได้ปล่อยให้หมาป่าทั้ง 3 ใช้ชีวิตอย่างเงียบ ๆ ในระบบปิด เป็นเขตอนุรักษ์แห่งหนึ่ง (ไม่ระบุสถานที่) ในสหรัฐอเมริกา
ต้องบอกว่าการทำแบบนี้แวดวงวิทยาศาสตร์เรียกกันว่า “De-extinction หรือ” การทำให้ไม่สูญพันธุ์ กล่าวคือ เราใช้เทคโนโลยี หรือนวัตกรรมสุดล้ำในปัจจุบัน เพื่อตัดต่อยีนให้ใกล้เคียง เพื่อที่จะกู้ชีพสิ่งดึกดำบรรพ์ที่ครั้งหนึ่งเคยมีชีวิตอยู่บนโลก หมาป่า 3 ตัวนี้ คือตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมที่สุด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง