ระวัง! กินเห็ดมีพิษไม่รู้ตัว ไม่แน่ใจ ไม่รู้จัก ไม่เก็บ เห็ดบางชนิดเหมือนเห็ดกินได้ แต่กินไปมีพิษ ถึงตายได้ ข้อควรรู้ วิธีสังเกตเห็ดมีพิษ และวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น
วันที่ 15 เมษายน 2568 นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า เนื่องจากสภาพอากาศที่เริ่มมีฝนตกในหลายพื้นที่ ส่งผลให้มีเห็ดป่าหรือเห็ดที่ขึ้นเองตามธรรมชาติผุดขึ้นมา ซึ่งมีทั้งเห็ดกินได้ และกินไม่ได้ เนื่องจากเห็ดบางชนิดมีพิษ โดยเฉพาะเห็ดในระยะดอกตูม ลักษณะคล้ายเห็ดกินได้จนไม่สามารถแยกได้ด้วยตาเปล่า หากไม่มีความรู้หรือความชำนาญอาจทำให้เข้าใจผิดและนำเห็ดมาประกอบอาหารทานจนเกิดอาการเจ็บป่วยและเสียชีวิตได้
ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงายว่า เห็ดพิษเป็นต้นเหตุของอาการเจ็บป่วยและเสียชีวิตที่พบได้บ่อยในไทย เห็ดที่มักทำพิษกับผู้ป่วยบ่อย ๆ คือเห็ดระโงกพิษ หรือบ้างเรียกว่าเห็ดระโงกหิน เห็ดระงาก หรือ เห็ดไข่ตายซาก เห็ดชนิดนี้จะมีลักษณะคล้ายเห็ดระโงกขาว หรือเห็ดไข่ห่าน ที่เป็นเห็ดกินได้และมักนิยมทาน
เห็ดระโงกขาวที่กินได้จะมีรอยขีดสั้น ๆ เหมือนซี่หวีที่ผิวรอบขอบหมวก เมื่อผ่าก้านจะเห็นว่าก้านกลวง เห็ดระโงกมักพบได้มากในช่วงเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม มักพบในป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ หรือป่าที่มีลักษณะค่อนข้างโปร่ง มีแสงแดดส่องถึงพื้นล่าง และที่สำคัญคือมักอยู่ตามไม้วงศ์ยางนา เช่น ยางนา ตะเคียน กระบาก รัง พะยอม
ส่วนเห็ดระโงกพิษ มักจะไม่มีรอยขีดเป็นซี่ ๆ ที่รอบหมวก ผิวเรียบเนียน และมีหยักเล็กน้อยที่ขอบหมวกแทน ปลอกหุ้มโคนเห็ดจะมีก้านสูง กลางดอกหมวกจะนูนเล็กน้อย มีกลิ่นค่อนข้างแรง ซึ่งเห็ดมีพิษนี้ แม้จะนำไปผ่านความร้อนหรือปรุงให้สุกแล้ว ก็ไม่สามารถที่จะทำลายสารพิษนั้นได้
หลังจากทานเห็ดระโงกพิษไปแล้ว มักจะไม่เกิดอาการทันที แต่จะเริ่มมีอาการหลังจากเวลาผ่านไป 4-6 ชั่วโมง อาการแรกเริ่มคือวิงเวียน คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย หรือบางรายอาการอาจเกิดขึ้นช้ากว่า 10 ชั่วโมงหรือข้ามวันไปแล้ว เมื่อผ่านไปหลายวันการทำงานของตับจะเริ่มแย่ลง เอนไซม์ตับสูงขึ้น มีภาวะตับอักเสบ หากรุนแรงมาก ๆ ก็อาจทำให้ตับวายและเสียชีวิตได้
หากที่บ้านมีผงถ่านกัมมันต์หรือผงคาร์บอนให้รีบกินเพื่อดูดซับพิษและจิบน้ำเพื่อชดเชยของเหลวที่เสียไป แต่สิ่งที่สำคัญเหนืออื่นใด คือการรีบพาไปพบแพทย์หรือสถานพยาบาลใกล้บ้านให้เร็วที่สุด พร้อมแจ้งประวัติการกินเห็ดและนำเห็ดที่เหลือหรือนำเห็ดติดตัวไปด้วย เพื่อให้เจ้าหน้าที่ช่วยตรวจสอบว่าได้รับสารพิษมาจากเห็ดชนิดใด เพื่อการรักษาที่แม่นยำมากขึ้น
นอกจากนี้ ควรกระตุ้นให้มีการอาเจียน เช่น การล้วงคอ หรือกินไข่ขาวดิบหรือใช้เกลือแดงผสมน้ำอุ่นกระตุ้นให้อาเจียน แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาลให้แพทย์ทำการรักษาต่อไป
ข้อมูลโดย อ.นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ หัวหน้าหน่วยระบบหัวใจและหลอดเลือด ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มช. เผยว่า เห็ดพิษมีหลายชนิด แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มคือ
3.1 กลุ่มที่ทำให้มีอาการซึมชัก
3.2 กลุ่มที่ทำให้มีอาการประสาทหลอน เช่น เห็ดขี้ควาย ที่มักขึ้นตามมูลสัตว์ มีสาร LSD ที่มีฤทธิ์หลอนประสาท ชาวต่างชาตินิยมเสพเห็ดเหล่านี้เพื่อความสนุกสนานเพลิดเพลิน มีผลต่อจิตใจ อารมณ์ ทำให้รู้สึกสนุกสนาน อารมณ์เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ควบคุมตัวเองไม่ได้ มีอาการวิตกกังวลกระวนกระวาย เห็นภาพหลอน
นอกจากนี้ยังมีกลุ่มที่ตัวเห็ดไม่ได้มีพิษแต่เมื่อรับประทานร่วมกับแอลกอฮอล์ จะมีอาการเหมือนคนเมาสุราอย่างหนัก เช่นเห็ดหิ่งห้อย เห็ดน้ำหมึก เห็ดถั่ว เป็นต้น
ภูมิปัญญาชาวบ้านมีวิธีใช้ทดสอบความเป็นพิษของเห็ด เช่น การจุ่มช้อนเงินลงในหม้อต้มเห็ด ถ้าช้อนกลายเป็นสีดำ ก็หมายความว่าเห็ดเป็นพิษ คล้ายกับวิธีตรวจสอบพิษของชาวเกาหลีสมัยก่อน ที่มักใช้ตะเกียบเหล็กในการคีบอาหาร หากเหล็กเปลี่ยนสีดำก็หมายความว่าอาหารนั้นมียาพิษ
อีกวิธีหนึ่งคือการนำเห็ดไปต้มกับข้าวสาร ถ้าไม่เป็นพิษเข้าสารจะสุก แต่ถ้าเป็นพิษข้าวสารจะสุก ๆ ดิบ ๆ กับวิธีที่แสนง่ายคือการสังเกตดอกเห็ดที่มีรอบแมลงกัดกิน แมลงกินได้ คนก็กินได้
สุดท้ายนี้ ช่วงหน้าฝน ถ้าหลีกเลี่ยงการกินเห็ดได้ก็ควรหลีกเลี่ยง โดยเฉพาะเห็ดป่าหรือเห็ดที่ไม่มีที่มา ไม่เก็บเห็ดบริเวณที่มีการใช้สารเคมี เนื่องจากเห็ดจะดูดซับพิษจากสารเคมีมาไว้ในดอกเห็ด รวมถึงไม่กินเห็ดดิบ เช่น เห็ดน้ำหมาก หรือกินเห็ดร่วมกับเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ เช่น เห็ดหิ่งห้อย เห็ดน้ำหมึก หรือเห็ดถั่วที่ขึ้นตามธรรมชาติ เพราะจะทำให้เกิดพิษได้
หากมีข้อสงสัยสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422
ที่มาข้อมูล