งานวิจัยล่าสุดชี้ อุณหภูมิที่สูงขึ้นจากภาวะโลกร้อน กำลังส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของชาวออสเตรเลีย ทำให้พฤติกรรมโรคทางจิตเพิ่มขึ้น 49% ภายในปี 2050 หากไม่แก้
ความร้อนที่รุนแรงถือเป็นความเสี่ยงอันตรายที่สุดที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในออสเตรเลีย และไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อร่างกายเท่านั้น แต่ยังอาจส่งผลต่อสุขภาพจิตของประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ
ผลการศึกษาใหม่ที่ได้รับการตีพิม์ลงในวารสาร Nature Climate Change ระบุว่า อุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นในออสเตรเลียกำลังส่งผลกระทบต่อสภาพการใช้ชีวิตและการทำงาน และเมื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเลวร้ายยิ่งขึ้น ความท้าทายนี้อาจเพิ่มภาระของโรคทางจิตใจและพฤติกรรม (Mental and Behavioral Disorders : MBDs) ให้รุนแรงขึ้น
MBDs ครอบคลุมกลุ่มโรคหลากหลาย รวมถึง โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า โรคอารมณ์สองขั้ว โรคจิตเภท โรคการใช้แอลกอฮอล์และสารเสพติด ตลอดจน ความผิดปกติทางจิตใจและและการใช้สารเสพติดอื่น ๆ
ตามการคาดการณ์ล่าสุดพบว่า หากสามารถจำกัดอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เกิน 3 องศาเซลเซียสภายในปี 2100 เมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม ภาระของโรค MBDs อาจเพิ่มขึ้น 11% ในช่วงปี 2030 และอาจพุ่งขึ้นถึง 27.5% ภายในปี 2050
แต่หากไม่มีความพยายามอย่างจริงจังในการดำเนินการเพื่อบรรเทาภาวะโลกร้อนและวิกฤตสภาพอากาศทวีความรุนแรงขึ้น อาจทำให้ภาระของโรค MBDs เพิ่มสูงถึงเกือบ 49% ภายในปี 2050
ศาสตราจารย์เผิง ปี้ (Peng Bi) นักวิจัยด้านสุขภาพสิ่งแวดล้อมจากมหาวิทยาลัยแอดิเลดของออสเตรเลีย ซึ่งเป็นผู้เปิดเผยว่า ผลกระทบที่เป็นอันตรายของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อสุขภาพจิตและอารมณ์นั้นได้รับการยอมรับมากขึ้นทั่วโลก และสถานการณ์จะยิ่งเลวร้ายลงหากไม่มีการลงมือแก้ไขใด ๆ
นอกจากนี้ยังระบุด้วยว่า ตั้งแต่ความเครียดเล็กน้อยไปจนถึงอาการร้ายแรง อย่าง โรคจิตเภท อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นกำลังทำให้ชีวิตของผู้คนหลายล้านคนต้องยากลำบากมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มคนหนุ่มสาวที่มักเผชิญกับปัญหาสุขภาพจิตตั้งแต่อายุยังน้อย คนกลุ่มนี้กำลังตกอยู่ในความเสี่ยงมากเป็นพิเศษเมื่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศรุนแรงขึ้น
การประมาณการใหม่ของงานวิจัยนี้อ้างอิงตามข้อมูลด้านสุขภาพจากทุกรัฐและเขตปกครองของออสเตรเลียในช่วงระหว่างปี 2003 – 2018 ซึ่งชุดข้อมูลแสดงให้เห็นว่าการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลและการเข้าห้องฉุกเฉินที่เกี่ยวข้องกับโรค MBDs มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วงที่เกิดอุณหภูมิพุ่งสูง
แม้คลื่นความร้อนเหล่านี้มักจะไม่เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตในกลุ่มผู้ป่วย MBDs แต่ก็ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อคุณภาพชีวิตโดยรวมในช่วงหลายปีที่ผู้ป่วยมีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ ยกตัวอย่างเช่น คลื่นความร้อนที่แผ่ปกคลุมเมืองแอดิเลดในปี 2008 เป็นเวลานานถึง 15 วัน ส่งผลทำให้การเข้ารักษาในโรงพยาบาลของเด็กที่เกี่ยวข้องกับโรค MBDs เพิ่มขึ้นถึง 64% และเพิ่มขึ้น 10% ในกลุ่มผู้สูงวัยที่มีอายุตั้งแต่ 75 ปีขึ้นไป
นักวิทยาศาสตร์ยังไม่แน่ใจว่า อุณหภูมิที่พุ่งสูงส่งผลต่อสุขภาพจิตอย่างไร แต่มีความเป็นไปได้ว่าการเปลี่ยนแปลงในอุณหภูมิของเลือดอาจส่งผลต่อการนำออกซิเจนไปยังระบบประสาทส่วนกลางได้ นอกจากนี้อุณหภูมิที่สูงยังอาจรบกวนรูปแบบการนอนหลับและการตอบสนองต่อความเครียด ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นปัจจัยที่อาจส่งผลต่อสุขภาพจิตได้
ปัจจุบัน คาดว่า เกือบ 44 เปอร์เซ็นต์ของชาวออสเตรเลีย อายุ 16 ปีถึง 85 ปี หรือคิดเป็นจำนวนกว่า 8.6 ล้านคน เคยประสบปัญหาเกี่ยวกับโรค MBDs อย่างน้อยในหนึ่งช่วงวัยของชีวิต
แม้อัตราความเสี่ยงโดยรวมต่อปีของการเข้ารักษาในโรงพยาบาลจากคลื่นความร้อนในกลุ่มนี้ยังถือว่าต่ำ แต่หากแนวโน้มของภาวะโลกร้อนยังคงดำเนินต่อไป ความเสี่ยงดังกล่าวอาจเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ จาก 1.8% เป็น 2.8% ภายในปี 2050 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นที่สูงเกินกว่าที่จะอธิบายได้ด้วยแค่การเพิ่มขึ้นของประชากรหรือการเข้าสู่สังคมสูงวัย
ข้อค้นพบนี้มีความน่าสนใจ เนื่องจากชี้ให้เห็นว่าสุขภาพจิตของผู้สูงอายุอาจไม่ได้เปราะบางต่อคลื่นความร้อนมากอย่างที่คิด แต่ในทางกลับกัน งานวิจัยล่าสุดบางชิ้นพบว่า กลุ่มคนหนุ่มสาวอาจเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากอุณหภูมิที่สูงมากกว่าผู้สูงอายุด้วยซ้ำ
เหตุผลหนึ่งอาจเป็นเพราะคนหนุ่มสาวมักมีความสามารถในการรับมือกับคลื่นความร้อนได้ดีกว่าในทางสรีรวิทยา นักวิจัยจึงคาดว่า คนกลุ่มนี้อาจไม่ได้ใช้มาตรการป้องกันตัวเองเท่าที่ควร และกลุ่มอายุนี้ยังมีแนวโน้มที่จะทำงานกลางแจ้งท่ามกลางสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าวมากกว่าคนในกลุ่มอายุอื่น ๆ
จิงเหวิน หลิว (Jingwen Liu) นักวิจัยด้านสาธารณสุข ซึ่งเป็นผู้เขียนบทวิเคราะห์ของงานวิจัยชิ้นนี้ ระบุว่า เมื่อพิจารณาถึงการที่คนรุ่นใหม่มักเริ่มเผชิญกับปัญหาสุขภาพจิตตั้งแต่อายุน้อย และยังต้องแบกรับภาระทางจิตใจเพิ่มเติมจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเสริมสร้างความเข้มแข็งทางจิตใจให้กับคนกลุ่มนี้
ทีมวิจัยทิ้งท้ายว่า จำเป็นเข้าใจให้ลึกซึ้งขึ้นว่าอุณหภูมิที่สูงอาจส่งผลต่อสุขภาพจิตได้อย่างไร เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขและแพทย์มีองค์ความรู้และเครื่องมือที่จำเป็นในการปกป้องประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคาดการณ์ว่าภาวะโลกร้อนจะยังคงดำเนินไปและเร่งตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว
ที่มาข้อมูล