svasdssvasds

วิกฤตภูมิอากาศทำคลื่นความร้อนในมหาสมุทรนานขึ้น 3 เท่า

วิกฤตภูมิอากาศทำคลื่นความร้อนในมหาสมุทรนานขึ้น 3 เท่า

งานวิจัยใหม่พบว่าวิกฤตสภาพภูมิอากาศทำให้คลื่นความร้อนในมหาสมุทรยาวนานขึ้นถึง 3 เท่า ส่งผลให้พายุรุนแรงขึ้น ทำลายระบบนิเวศสำคัญ อย่าง ป่าสาหร่ายทะเลและแนวปะการัง

ผลการศึกษาพบว่า วิกฤตสภาพภูมิอากาศได้ส่งทำให้คลื่นความร้อนในมหาสมุทรยาวนานขึ้นถึง 3 เท่า ซึ่งความร้อนในทะเลที่เพิ่มขึ้นอย่างผิดปกตินี้ไม่เพียงแต่จะทำให้พายุทวีความรุนแรงขึ้นเท่านั้น แต่ยังทำลายระบบนิเวศทางทะเลที่สำคัญ เช่น ป่าสาหร่ายทะเลและแนวปะการัง

นักวิทยาศาสตร์ ระบุว่า ราวครึ่งหนึ่งของคลื่นความร้อนในมหาสมุทร นับตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา จะไม่เกิดขึ้นหากไม่มีภาวะโลกร้อนที่เกิดจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงฟอสซิล และคลื่นความร้อนไม่เพียงแต่เกิดบ่อยครั้งขึ้นเท่านั้น แต่ยังรุนแรงขึ้นด้วย ด้วยมีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงขึ้น 1 องศาเซลเซียส แต่ในบางพื้นที่อาจร้อนกว่านั้นมาก

งานวิจัยนี้เป็นการประเมินผลกระทบของวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่มีต่อคลื่นความร้อนในมหาสมุทรทั่วโลกอย่างครอบคลุมเป็นครั้งแรก และยังเผยให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างลึกซึ้ง โดยระบุว่า มหาสมุทรที่ร้อนขึ้นยังดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมาได้น้อยลง ซึ่งเป็นตัวเร่งอุณหภูมิโลกให้สูงขึ้นอีก

วิกฤตภูมิอากาศทำคลื่นความร้อนในมหาสมุทรนานขึ้น 3 เท่า

ดร.มาร์ต้า มาร์กอส (Dr Marta Marcos) จากสถาบันศึกษาเมดิเตอร์เรเนียนในเมืองมายอร์กาของสเปน ซึ่งเป็นผู้นำการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Proceedings of the National Academy of Sciences ระบุว่า ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน มีคลื่นความร้อนในทะเลที่ร้อนกว่าอุณหภูมิปกติถึง 5 องศาเซลเซียส ทำให้เป็นเรื่องแย่มากเมื่อลงไปว่ายน้ำ เนื่องจากน้ำร้อนเหมือนซุป

นอกจากจะทำลายล้างระบบนิเวศใต้น้ำ อย่าง ทุ่งหญ้าทะเลแล้ว ดร.มาร์กอส ยังระบุด้วยว่า อุณหภูมิของมหาสมุทรที่อุ่นขึ้นยังให้พลังงานมากขึ้นแก่พายุรุนแรงที่ส่งผลกระทบต่อผู้คนบนชายฝั่งและผู้ที่อยู่ห่างไกลออกไป

หนึ่งในตัวอย่างหายนะคือเหตุการณ์ฝนตกหนักที่ทำให้เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ในลิเบียเมื่อปี 2023 ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไปถึง 11,000 ราย โดยภาวะโลกร้อนทำให้มีโอกาสเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ได้มากขึ้นถึง 50 เท่า เนื่องจากอุณหภูมิทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเพิ่มขึ้นถึง 5.5 องศา ส่งผลให้เกิดไอน้ำมากขึ้น และและส่งผลให้เกิดฝนตกหนักตามไปด้วย

ดร. มาร์กอส กล่าวว่า ทางออกเดียวคือการลดการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล เพราะเป็นความสัมพันธ์ที่ชัดเจนมาก ความร้อนส่วนเกินมากกว่า 90% ที่ถูกกักเก็บไว้โดยก๊าซเรือนกระจกนั้นสะสมอยู่ในมหาสมุทร หากหยุดทำให้อากาศร้อนขึ้น ก็จะหยุดการทำให้มหาสมุทรร้อนขึ้นได้ด้วย

วิกฤตภูมิอากาศทำคลื่นความร้อนในมหาสมุทรนานขึ้น 3 เท่า

คลื่นความร้อนทางทะเลครั้งสำคัญในช่วงไม่นานมานี้ รวมถึง เหตุการณ์ในมหาสมุทรแปซิฟิกระหว่างปี 2014 - 2015 ซึ่งทำให้สัตว์ทะเลตายเป็นจำนวนมาก ความร้อนรุนแรงยังเกิดในทะเลแทสมันในปี 2015 - 2016 ยังไม่รวมถึง เหตุการณ์ที่อุณหภูมิทะเลสูงเป็นประวัติการณ์รอบสหราชอาณาจักรและในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เมื่อปี 2013 ที่ผ่านมา โดยนักวิทยาศาสตร์เคยออกมาเตือนในปี 2019 ว่าคลื่นความร้อนในมหาสมุทรกำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว คล้ายกับไฟป่าที่เผาทำลายพื้นที่ป่าเป็นบริเวณกว้าง

ขณะที่ดร.โซอี้ เจคอบส์ (Dr Zoe Jacobs) จากศูนย์สมุทรศาสตร์แห่งชาติของสหราชอาณาจักร ซึ่งไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของทีมวิจัยนี้ กล่าวว่า คลื่นความร้อนในมหาสมุทรก่อให้เกิดความเสี่ยงอย่างมากต่อสังคม โดยเฉพาะเหตุการณ์บางครั้งที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายเป็นมูลค่าหลายล้านดอลลาร์ เนื่องจากส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมประมง การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และการท่องเที่ยว นอกจากนี้ยังพบว่ามีส่วนทำให้คลื่นความร้อนบนบกรุนแรงขึ้น และเพิ่มความรุนแรงของการเกิดสภาพอากาศสุดขั้ว เช่น พายุเฮอร์ริเคนและพายุฝนด้วย

วิกฤตภูมิอากาศทำคลื่นความร้อนในมหาสมุทรนานขึ้น 3 เท่า

ทีมนักวิจัยที่นำโดยดร.มาร์กอส ได้สร้างแบบจำลองอุณหภูมิผิวน้ำทะเลตั้งแต่ปี 1940 โดยตัดผลกระทบที่เกิดจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศออกไป จากนั้นจึงนำผลการศึกษาไปเปรียบเทียบกับการวัดอุณหภูมิจริงจากมหาสมุทร เพื่อแสดงให้เห็นว่าภาวะโลกร้อนได้ส่งผลทำให้ให้อุณหภูมิสูงขึ้นอย่างไร โดยเน้นที่คลื่นความร้อนในช่วงฤดูร้อน เนื่องจากเป็นช่วงที่มีอุณหภูมิสูงที่สุดและสร้างความเสียหายมากที่สุด

ผลการวิเคราะห์พบว่า ในช่วงปี 1940 มีวันที่คลื่นความร้อนรุนแรงในมหาสมุทรเฉลี่ยประมาณ 15 วันต่อปี แต่ปัจจุบันตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 50 วันต่อปี และในบางภูมิภาค เช่น มหาสมุทรอินเดีย มหาสมุทรแอตแลนติกเขตร้อน และมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตก มีวันที่คลื่นความร้อนถึง 80 วันต่อปี หรือ 1 วันในทุก ๆ 5 วัน

ทะเลในเขตร้อนที่มีอุณหภูมิอุ่นอยู่แล้ว ความร้อนที่เพิ่มขึ้นจึงมีแนวโน้มที่จะทำให้คลื่นความร้อนยาวนานขึ้น ส่วนในทะเลที่เย็นกว่า ความร้อนที่เพิ่มเข้ามายังสามารถทำให้ความรุนแรงของคลื่นความร้อนเพิ่มขึ้นได้ เช่น ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและทะเลเหนือ

ดร.เซียงโป เฟิง (Dr Xiangbo Feng) จากมหาวิทยาลัยเรดดิ้ง ซึ่งเป็นหนึ่งหนึ่งในทีมวิจัยกล่าวว่า เมื่ออุณหภูมิโลกยังคงเพิ่มสูงขึ้น คลื่นความร้อนในทะเลจึงมักเกิดขึ้นบ่อยและรุนแรงมากขึ้น กิจกรรมของมนุษย์กำลังเปลี่ยนแปลงมหาสมุทรไปอย่างสิ้นเชิง และจำเป็นต้องมีการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศอย่างเร่งด่วน เพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมทางทะเล
 
ที่มา: The Guardian