เกิดอะไรขึ้น? เมื่อนักวิทยาศาสตร์สังเกตเห็นแนวโน้มการเย็นตัวที่ผิดปกติบริเวณผิวน้ำของมหาสมุทรแอนตาร์กติก สวนทางกับพื้นที่ส่วนใหญ่ของโลกที่อุ่นขึ้นเรื่อยๆ
ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดได้เปิดเผยถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้น เมื่อพวกเขาพบว่ามหาสมุทรรอบทวีปแอนตาร์กติกามีอุณหภูมิที่เย็นลง ไม่ตรงกับ 'แบบจำลองสภาพอากาศ' ที่คาดการณ์ว่า เมื่อโลกร้อนขึ้น มหาสมุทรทั่วโลกก็จะร้อนขึ้นตามไปด้วย ทำให้พวกเขาต้องค้นหาสาเหตุที่ทำให้เป็นเช่นนั้น
ผลการวิจัยของพวกเขาระบุว่า สิ่งที่ทำให้ 'แบบจำลองสภาพอากาศ' มีความผิดพลาด เนื่องจากการประเมินปริมาณน้ำฝนที่ต่ำเกินไป
เมื่ออากาศอุ่นขึ้น ภูมิภาคนี้จะมีฝนตกมากขึ้น ทำให้น้ำแข็งละลายมากขึ้น ซึ่งยิ่งทำให้ฝนตกมากขึ้นไปอีก วงจรดังกล่าวได้ส่งผลให้มีน้ำจืดไหลลงสู่มหาสมุทรใต้มากขึ้น และเนื่องจากน้ำจืดมีความหนาแน่นไม่เท่ากับน้ำเค็ม จึงลอยอยู่บนผิวน้ำแทนที่จะจมลงไปด้านล่าง ซึ่งน้ำจืดเหล่าที่ได้ทำหน้าที่เสมือน 'ฝาปิด' ป้องกันไม่ให้น้ำทะเลอุ่นขึ้น กลายเป็นปรากฎการณ์ที่ส่งผลกระทบมากกว่าที่นักวิทยาศาสตร์เคยคาดคิด
การเปลี่ยนแปลงที่คลาดเคลื่อนไปจาก 'แบบจำลองสภาพอากาศ' จากเทคโนโลยีที่ทันสมัยครั้งนี้ ทำให้นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกต้องยอมรับว่า แบบจำลองดังกล่าวมีข้อบกพร่องและไม่สามารถคาดการณ์ความเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติของโลกได้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งทำให้เกิดความกังวลว่าการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลในอนาคตยังมีความไม่แน่นอนและอาจเลวร้ายมากกว่าที่คิด
ทั้งนี้ อุณหภูมิผิวน้ำทะเลของทวีปแอนตาร์กติกายังถือเป็นส่วนหนึ่งของความท้าทายครั้งยิ่งใหญ่สำหรับนักวิทยาศาสตร์และรัฐบาล ที่ต้องเตรียมรับมือกับผลกระทบจากสภาพอากาศที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้อย่างแม่นยำอีกต่อไป ซึ่งกำลังจะส่งผลกระทบต่อประมาณน้ำฝนของทั่วโลก