เมื่อซีรีส์ยอดนิยม "The Last of Us" กลับมาฉายซีซันที่ 2 ต้องเผชิญคำถามอีกครั้งว่า เนื้อเรื่องสุดสยองนี้มาจากความเป็นจริงมากน้อยเพียงใด โลกร้อนทำคนเป็นซอมบี้ได้ไหม?
แม้ว่าแนวคิดที่ว่าเชื้อราสามารถเปลี่ยนมนุษย์ให้กลายเป็นซอมบี้อาจจะฟังดูไม่น่าเชื่อ แต่บรรดานักวิทยาศาสตร์ได้ศึกษาความเชื่อมโยงเบื้องหลังวิวัฒนาการของเชื้อราและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงภัยคุกคามที่เชื้อราสามารถก่อให้เกิดขึ้นกับสายพันธุ์ต่างๆ ได้
ยกตัวอย่างในซีรีส์ "The Last of Us" เชื้อราคอร์ดิเซป (Cordyceps) ซึ่งเป็นเชื้อราที่แพร่ระบาดในแมลง ได้พัฒนาเป็นเชื้อก่อโรคที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนขึ้น หนึ่งในเชื้อราคอร์ดิเซปที่รู้จักอย่างกว้างขวางคือ "เชื้อรามดซอมบี้" หรือ Ophiocordyceps unilateralis เชื้อราปรสิตที่แพร่ระบาดและควบคุมพฤติกรรมของมดช่างไม้จนพามันไปสู่ความตาย
ดร. จิม ครอนสตัด นักจุลชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบีย อธิบายว่า ในความเป็นจริงแล้วเชื้อราคอร์ดิเซปไม่สามารถปรับตัวจากการติดเชื้อในแมลงสู่มนุษย์ เพราะอุณหภูมิร่างกายที่อบอุ่นและภูมิคุ้มกันของเราทำให้เชื้อราเหล่านี้ไม่สามารถอยู่รอดได้
ขณะที่เนื้อหาของซีรีส์ได้ตั้งทฤษฎีว่า "การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ" ได้ทำให้เชื้อราบางชนิดอาจปรับตัวเพื่อเอาชีวิตรอดในสภาพอากาศที่อบอุ่นขึ้น ซึ่งทำให้เชื้อรามีโอกาสแพร่เชื้อสู่มนุษย์ได้มากขึ้น
ในความเป็นจริง มีหนึ่งในเชื้อราที่แพร่ระบาดมากขึ้นเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอยู่จริง เช่น ไข้หุบเขาที่เกิดจากเชื้อรา Coccidioides ซึ่งเจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่ร้อนและแห้งแล้งอย่างพื้นที่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของสหรัฐอเมริกา และหากมนุษย์สูดดมเข้าไปก็จะมีอาการป่วยคล้ายไข้หวัดใหญ่ที่อาจรุนแรงได้ โดยผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าอุณหภูมิที่สูงขึ้นและภัยแล้งที่ยาวนานกำลังมีความสัมพันธ์กับการเจริญเติบโตและการแพร่กระจายที่เพิ่มขึ้นของเชื้อราชนิดนี้
การศึกษาล่าสุดยังพบข้อมูลที่น่าเป็นกังวลว่า เมื่อสภาพอากาศอบอุ่นขึ้น เชื้อราอาจอพยพไปยังพื้นที่ใหม่ ทำให้จำนวนคนที่เสี่ยงภัยเพิ่มมากขึ้น
เมื่อปีที่แล้ว รัฐแคลิฟอร์เนียพบผู้ป่วยไข้หุบเขาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และเนื่องจากอุณหภูมิที่สูงขึ้น ทำให้เชื้อราชนิดนี้แพร่ระบาดไปนอกพื้นที่ดั้งเดิมมากขึ้น ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เชื่อมโยงแนวโน้มนี้กับการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิและสภาพดินอันเนื่องมาจากสภาพอากาศโดยตรง
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเชื้อราจะมีลักษณะที่น่ากลัวแต่ก็ไม่ได้เลวร้ายไปเสียหมด เพราะเชื้อรามีบทบาทสำคัญในระบบนิเวศน์ เช่น ย่อยสลายสารอินทรีย์และทำหน้าที่เป็นแหล่งดูดซับคาร์บอน เชื้อราบางชนิดยังถูกนำไปใช้ในการผลิตยาไปจนถึงการผลิตอาหาร และบางชนิดยังช่วยรีไซเคิลสารอาหารในระบบนิเวศอีกด้วย