เครือซีพีเดินหน้าฟื้นฟูหญ้าทะเลสร้างระบบนิเวศสำคัญกักเก็บคาร์บอนฯ ภายใต้โครงการซูเปอร์มาร์เก็ตชุมชนชาวประมงพื้นบ้าน จ.ตรัง - สตูล
“หญ้าทะเล” เป็นพืชชั้นสูงที่พบในทะเล ซึ่งทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ แต่หลายคนอาจจะยังไม่ทราบว่าหญ้าทะเลมีความสำคัญอย่างไรต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมโลก “หญ้าทะเล” ถือเป็นฮีโร่แห่งมหาสมุทร ที่ช่วยกักเก็บคาร์บอนในปริมาณมาก ซึ่งจะช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศที่เป็นสาเหตุของสภาวะโลกร้อน อีกทั้งหญ้าทะเลยังเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหารสำคัญสำหรับสัตว์น้ำหลายชนิด เช่น ปลา กุ้ง และหอย
นอกจากนี้รากของหญ้าทะเลยังช่วยยึดเกาะดินและทราย ทำให้ลดการกัดเซาะชายฝั่งและป้องกันการสูญเสียพื้นที่ชายฝั่งและกรองสารพิษและสารอาหารส่วนเกินจากน้ำ ทำให้น้ำทะเลสะอาดขึ้นและส่งผลดีต่อสิ่งมีชีวิตในทะเล โดยในประเทศไทยมีการค้นพบหญ้าทะเลถึง 13 ชนิด จากทั้งหมด 60 ชนิดทั่วโลก โดยหญ้าทะเลสามารถเติบโตได้ดีในเขตน้ำตื้นชายฝั่งทะเลและรอบเกาะ ทั้งฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน ครอบคลุม 19 จังหวัดชายฝั่งประเทศไทย
นายปฐพร เกื้อนุ้ย ผู้จัดการฝ่าย ด้านพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐและกิจการสัมพันธ์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ เผยว่า เครือซีพีได้เดินหน้าขับเคลื่อนภารกิจ “ซีพี ร้อย รักษ์ โลก ฟื้นฟูหญ้าทะเล” ผ่านกิจกรรมปลูก “หญ้าทะเล” ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องหันมาร่วมกันแก้ปัญหาความเสื่อมโทรมของหญ้าทะเล เพราะถือเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ ซึ่งเป็นแหล่งอาหารของพะยูน และเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำหลากหลายชนิด ภายใต้โครงการซูเปอร์มาร์เก็ตชุมชนชาวประมงพื้นบ้าน จ.ตรัง-สตูล พร้อมผนึกกำลังกับหน่วยงานจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคการศึกษา ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน และชุมชน 5 ชุมชน ในพื้นที่ ต.ทุ่งหว้า ต.นาทอน ต.ขอนคลาน และ ต.ทุ่งบุหลัง
โดยมีแผนงานที่สำคัญ คือ อนุรักษ์ ปกป้อง ฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลให้ยั่งยืน ซึ่งในปีที่ผ่านมามีการทำประชาคมร่วมกัน เพื่อขับเคลื่อนโครงการให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ จนสามารถเป็นซูปเปอร์มาเก็ตของชุมชน ด้วยแนวคิดสร้างแหล่งอาหารที่สมบูรณ์และแหล่งที่อยู่อาศัยให้สัตว์ทะเลน้อยใหญ่หมุนเวียนให้เกิดวงจรวิถีชีวิตให้คนอยู่ร่วมกับทะเลได้อย่างยั่งยืน
ปัจจุบันมีการติดตามความคืบหน้าของแปลงฟื้นฟูหญ้าทะเลชุมชน ที่ดำเนินการมาแล้วเป็นระยะเวลา 3 เดือนในพื้นที่ เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง และพื้นที่ อ่าวไม้ขาว จ.สตูล ซึ่งเป็นระบบนิเวศสำคัญของท้องทะเลไทยโดย นายนนท์ นาคะเสถียร ผู้จัดการทั่วไป สำนักปฏิบัติการความยั่งยืนทางทะเล (Marine Sustainability) ด้านพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐและกิจการสัมพันธ์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ ร่วมกับ นางสาวทิพย์อุสา แสงสว่าง ตัวแทนจากกลุ่มอาสาสมัครพิทักษ์ดุหยงเกาะลิบงและเยาวชนเกาะลิบง ลงพื้นที่เก็บข้อมูลพร้อมติดตามความคืบหน้าของโครงการดังกล่าว ทีมปฏิบัติการได้ลงสำรวจพื้นที่ทดลองฟื้นฟูหญ้าทะเล ซึ่งมีจุดกั้นคอกสำหรับวิจัยและเก็บข้อมูล รวม 3 จุด 5 คอก ได้แก่ จุดสะพานช้าง – 1 คอก จุดแหลมจูโหย – 2 คอก และ จุดอ่าวดุหยง – 2 คอก จากการสำรวจพบว่า แปลงวิจัยมีปริมาณหญ้าทะเลชนิด “หญ้าใบมะกรูด” ปกคลุมเต็มพื้นที่ แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มการฟื้นตัวที่ดีขึ้นอย่างมาก
โดยพบว่าหญ้าทะเลในพื้นที่ปกคลุมถึง 100% ตอกย้ำความสำเร็จของแนวทางฟื้นฟู และสะท้อนถึงพลังความร่วมมือของชุมชนท้องถิ่นในการอนุรักษ์ท้องทะเล
ความสำคัญของหญ้าทะเลในการลดโลกร้อน ทำให้หลายภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคการศึกษา ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน และชุมชน เริ่มให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์และฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเลมากขึ้น โดยมีการจัดโครงการรณรงค์ปลูกหญ้าทะเลในหลายพื้นที่ เครือซีพีมุ่งหวังสร้างความร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน การอนุรักษ์หญ้าทะเลไม่เพียงช่วยลดภาวะโลกรวน แต่ยังเป็นการรักษาสมดุลของระบบนิเวศ และช่วยให้ทรัพยากรทางทะเลคงอยู่สำหรับคนรุ่นต่อไป ด้วยความร่วมมือระหว่าง ชุมชนเกาะลิบง เครือข่ายอนุรักษ์ และภาคีเครือข่ายต่างๆ
เครือซีพี เชื่อมั่นว่าการฟื้นฟูท้องทะเลไทย คือ กุญแจสำคัญในการรักษาทรัพยากรธรรมชาติ และสร้างความยั่งยืนให้กับระบบนิเวศทางทะเล เพื่อให้พะยูนและสัตว์ทะเลหายากยังคงมีแหล่งอาหารและที่อยู่อาศัยต่อไป