SHORT CUT
ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ (University of Queensland) ประสบความสำเร็จในการทดลองปฏิสนธิ “จิงโจ้” ในหลอดแก้ว หรือ in-vitro fertilization (IVF) ซึ่งเป็นไข่และอสุจิที่เก็บมาจากจิงโจ้สีเทาตะวันออก (Macropus giganteus)
จริง ๆ แล้วจิงโจ้มีประชากรหลายล้านตัว และสามารถเอาชีวิตรอดได้ในธรรมชาติ ไม่ค่อยถูกรุกร่านจากสัตว์ชนิดอื่น ๆ แต่นักวิจัยบอกว่าเหตุที่ทดลองกับจิงโจ้เป็นเพราะว่าอาจจะขยายการทดลองไปสู่สัตว์ที่มีกระเป๋าหน้าท้องชนิดอื่น ๆ อาทิ โคอาลา
อย่างที่ทราบกันว่าวีถีชีวิตของโคอาลาในยุคสมัยนี้นั้นค่อนข้างอัตคัด มีภัยรายล้อมอยู่รอบตัว อาทิ ความเครียดจากอากาศร้อน การรุกรานของสัตว์ต่างถิ่น การขยายตัวของเมือง จึงเป็นที่มาว่าจะทำยังไงดีเพื่อจะอนุรักษ์ หรือหาวิธีเพิ่มประชากรของสัตว์เหล่านี้
แม้ว่าจะพบสัตว์มีกระเป๋าหน้าท้องในทวีปอเมริกา และปาปัวนิวกินี แต่สัตว์มีกระเป๋าหน้าท้องมีประมาณ 200 สายพันธุ์ที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปออสเตรเลีย
และทวีปนี้มีอัตราการสูญพันธุ์ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมโดยรวมสูงที่สุดในโลก โดยสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพเฉพาะตัวไปประมาณ 35% นับตั้งแต่คริสตศตวรรษที่ 16
แอนเดรส แกมบินี หัวหน้าคณะนักวิจัย เปิดเผยว่า “ออสเตรเลียเป็นแหล่งรวมของสัตว์มีกระเป๋าหน้าท้องหลากหลายสายพันธุ์มากที่สุดในโลก แต่ยังมีอัตราการสูญพันธุ์ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมสูงที่สุดด้วย”
“เป้าหมายสูงสุดของเราคือการสนับสนุนการอนุรักษ์สัตว์มีกระเป๋าหน้าท้องที่ใกล้สูญพันธุ์ เช่น โคอาล่า แทสเมเนียนเดวิล วอมแบตจมูกขนทางเหนือ และพอสซัมลีดบีเตอร์”
นักวิจัยเริ่มลงมือด้วยการทำ ICSI หรือ “อิ๊กซี” (Intracytoplasmic Sperm Injection) เป็นการช่วยปฎิสนธิโดยวิธีฉีดอสุจิ 1 ตัวเข้าไปในเซลล์ไข่ ช่วยเพิ่มอัตราการปฎิสนธิและโอกาสการตั้งครรภ์ได้ วิธีนี้ใช้ในมนุษย์เช่นกัน แต่ไม่บ่อยนักในกรณีของสัตว์มีกระเป๋าหน้าท้อง
“เนื่องจากจิงโจ้เทาตะวันออกมีมากเกินไป เราจึงเก็บไข่และอสุจิของจิงโจ้เพื่อใช้เป็นแบบจำลองเพื่อปรับเทคโนโลยีตัวอ่อนที่ใช้กับสัตว์เลี้ยง และมนุษย์อยู่แล้ว”
“ปัจจุบัน เรากำลังปรับปรุงเทคนิคในการรวบรวม เพาะเลี้ยง เก็บรักษาไข่ และอสุจิของจิงโจ้ โดยการพัฒนาวิธีการถนอมอาหาร เรามุ่งหวังที่จะปกป้องวัสดุทางพันธุกรรมของสัตว์ที่มีเอกลักษณ์และมีค่าเหล่านี้เพื่อใช้ในอนาคตเพื่อให้แน่ใจว่าพวกมันจะได้รับการอนุรักษ์”
ดังนั้น หากว่ากันในเชิงวิทยาศาสตร์แล้ว การทำ IVF ผลิตตัวอ่อน สามารถปกป้องประชากรสัตว์ (มีกระเป๋าหน้าท้อง) ใกล้สูญพันธุ์ได้ ไม่ต้องเหนื่อยไปควานหาคู่ผสมพันธุ์ในธรรมชาติ ซึ่งมีน้อยลงทุกที นี่จึงเป็นการทดลองที่จะมีความสำคัญมาก ๆ ในอนาคตอันใกล้
ที่มา: Newatlas
ข่าวที่เกี่ยวข้อง