ฟาร์มเลี้ยงปลาแซลมอนวิถียั่งยืนในรัฐนิวยอร์กของสหรัฐฯ ตัดสินใจบริจาคปลาแซลมอนที่ยังมีชีวิต จำนวน 13,000 ตัวให้ธนาคารอาหารในท้องถิ่น หลังจากต้องปิดกิจการ โดยให้เหตุผลว่า ไม่อยากให้ปลากลายเป็นขยะอาหารหรือต้องทนเห็นปลาถูกแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพไปเปล่า ๆ
ธนาคารอาหารแห่งเซ็นทรัลนิวยอร์ก (Food Bank of Central New York) ธนาคารอาหารแห่งหนึ่งในรัฐนิวยอร์กของสหรัฐฯ ได้รับบริจาคปลาแซลมอนสด ๆ จำนวนมหาศาล ถามว่าสดแค่ไหน? ก็สดขนาดที่ว่าต้องลงไปจับกันเองในบ่อ!
ฟาร์มเลี้ยงปลาแซลมอนที่มีชื่อว่า “โลคอลโคโฮ” (LocalCoho) ตัดสินใจมอบปลาแซลมอนโคโฮ จำนวน 13,000 ตัว หรือราว 18,100 กิโลกรัมให้กับองค์กรแห่งนี้ เพื่อให้นำไปแปรรูปและแจกจ่ายให้กับผู้อดอยากยากไร้ในพื้นที่จำนวนหลายพันครอบครัว
แต่ใครจะคิดว่าเรื่องไม่จบเพียงเท่านี้ เพราะปลายังมีชีวิตอยู่และยังแหวกว่ายอยู่ในบ่อของฟาร์ม ทำให้ธนาคารอาหารแห่งนี้ต้องคิดหาวิธีที่รวดเร็วและแข่งกับเวลาในการจับปลาแซลมอนทั้งหมดขึ้นจากน้ำ นำไปแล่เป็นชิ้น ๆ และแช่แข็ง เพื่อนำไปแจกจ่ายให้กับหน่วยงานที่ดูแลด้านอาหารในพื้นที่ต่อไป ก่อนจะถึงเส้นตายที่ฟาร์มจะต้องปิดตัวลงในช่วงปลายเดือนที่ผ่านมา
ต้องขอบคุณบรรดาอาสาสมัครหลายสิบคนที่เข้ามาช่วยคนงานของฟาร์มตักปลาแซลมอนขึ้นจากบ่อ ทำให้สามารถนำปลาทั้งหมดขึ้นมาได้ภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์ ก่อนแช่แข็งและส่งไปแล่เป็นชิ้น ๆ ต่อไป
อาสาสมัครและคนงานต้องใส่ชุดกันน้ำและถุงมือเดินลุยลงไปในแท็งก์ เพื่อต้อนปลาแซลมอนให้เข้าไปติดในแห และตักปลาขึ้นมาใส่ภาชนะเก็บความเย็น
“ไบรอัน แมคมานัส” (Brian McManus) ซีอีโอของธนาคารอาหารแห่งนี้ เปิดเผยว่า การที่ทางธนาคารอาหารมีเวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์ในการดำเนินการทั้งหมดนี้ถือเป็นเรื่องที่เครียดและน่ากังวลไม่น้อย แต่ทราบดีว่าทุกฝ่ายมีความตั้งใจและความเชี่ยวชาญในการรับมือความท้าทายดังกล่าวได้”
การจัดการกับขยะอาหารถือเป็นความท้าทายอันน่ากังวลมาเป็นเวลานานหลายปี ทั้งในสหรัฐฯ และทั่วโลก โดยมากกว่าหนึ่งในสามของอาหารที่ผลิตในสหรัฐฯ ไม่เคยผ่านการบริโภคและส่วนใหญ่ต้องจบลงในแหล่งฝังกลบ
สำหรับ “โลคอลโคโฮ” (LocalCoho) เป็นสตาร์ทอัพที่นำร่องระบบการเลี้ยงปลาแซลมอนอย่างยั่งยืนด้วยการใช้ระบบน้ำหมุนเวียน โดยฟาร์มที่ตั้งอยู่ในเมืองออเบิร์นแห่งนี้ จัดส่งปลาแซลมอนโคโฮของฟาร์มให้กับผู้ค้าส่งและผู้ค้าปลีกหลายเจ้า รวมถึง ร้านซูชิระดับไฮเอนด์ในย่านแมนฮัตตัน โดยมีเป้าหมายในการสร้างฟาร์มเลี้ยงปลาแซลมอนระดับภูมิภาคทั่วภูมิภาค
อย่างไรก็ตาม บริษัทไม่สามารถระดมทุนได้มากพอที่จะมาขยายธุรกิจและทำกำไรได้ ทำให้ตัดสินใจปิดกิจการลงในสิ้นเดือนมกราคม
“อดัม ครามาร์ซิค” (Adam Kramarsyck) ผู้จัดการของฟาร์มแห่งนี้ เปิดเผยว่า ไม่ต้องการให้ปลาแซลมอนที่เลี้ยงดูฟูมฟักมาเองกับมือต้องกลายเป็นขยะอาหารหรือถูกนำไปแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพ จึงตัดสินใจติดต่อไปยังหน่วยงานต่าง ๆ ว่าจะสามารถบริจาคปลาเพื่อนำไปทำเป็นอาหารได้หรือไม่
ตามปกติแล้ว ฟาร์มแห่งนี้สามารถในการจับปลาและแปรรูปได้ประมาณ 600 ตัวต่อสัปดาห์โดยใช้แรงงานคน แต่สามารถเคลียร์บ่อทั้งหมดให้ว่างได้ภายในระยะเวลาไม่ถึงเดือน ด้วยความช่วยเหลือของอาสาสมัคร 42 คน
รวมถึงธุรกิจรถบรรทุกแช่เย็นในท้องถิ่น อย่าง Brown Carbonic ที่เสนอตัวช่วยขนส่งปลาไปยังผู้แปรรูปในเมืองโรเชสเตอร์ที่อยู่ห่างจากฟาร์มออกไปประมาณ 1 ชั่วโมง ร่วมด้วยพนักงานของฟาร์มที่ช่วยทำให้ภารกิจสุดโหดหินนี้สำเร็จได้ทันเวลา
ในท้ายที่สุด ปลาแซลมอนจำนวน 13,000 ตัวก็ถูกนำไปแปรรูปและแช่แช็ง ก่อนจะแจกจ่ายให้กับศูนย์แจกจ่ายอาหาร 243 แห่ง เช่นเดียวกับ โรงทาน สถานสงเคราะห์และสถาบันอื่น ๆ ที่อยู่ในเครือข่ายของธนาคารอาหาร
โดยรวมแล้ว ปลาแซลมอนทั้งหมดนี้จะถูกนำไปปรุงเป็นอาหารที่เต็มไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการและโปรตีนได้มากกว่า 26,000 จานสำหรับผู้ที่หิวโหย
ที่มา: AP
ข่าวที่เกี่ยวข้อง