svasdssvasds

ถอดบทเรียนราคาแพง น้ำท่วมเชียงราย-เชียงใหม่ รัฐต้องเร่งแก้ด่วน

ถอดบทเรียนราคาแพง น้ำท่วมเชียงราย-เชียงใหม่ รัฐต้องเร่งแก้ด่วน

วิกฤตน้ำท่วมหนักจ.เชียงรายและจ.เชียงใหม่ อาจารย์ สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมเผย ปัญหาอุทกภัยนี้ ถือเป็นบทเรียนราคาแพงที่รัฐต้องเร่งแก้ไขด่วน

SHORT CUT

  • อาจารย์สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อม มองปัญหาน้ำท่วมหนักจังหวัดเชียงราย-เชียงใหม่ ว่าเป็นบทเรียนราคาแพงที่ต้องเร่งแก้ไข
  • ประเทศไทยขาดการเตือนภัยที่ชัดเจน ว่าภัยจะเกิดขึ้นที่ไหน รุนแรงแค่ไหน การเตือนภัยไปไม่ถึงประชาชนระดับรากหญ้า
  • การเตือนภัยใช้ภาษาวิชาการ เข้าใจยาก ทำให้ประชาชนระดับรากหญ้าไม่สนใจข่าวสารเท่าที่ควร
  • ระบบราชการที่ต้องรองบก่อน จึงจะช่วยประชาชนได้

วิกฤตน้ำท่วมหนักจ.เชียงรายและจ.เชียงใหม่ อาจารย์ สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมเผย ปัญหาอุทกภัยนี้ ถือเป็นบทเรียนราคาแพงที่รัฐต้องเร่งแก้ไขด่วน

จากปัญหาอุทกภัยที่รุนแรงขึ้นของประเทศไทย อาจารย์สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อม ได้โพสต์ลงบนเฟซบุ๊ก Sonthi Kotchawat โดยเผยว่า ประเทศไทยได้บทเรียนครั้งใหญ่ ที่ต้องเร่งแก้ไขด่วน

  • ฝนที่ตกหนักในภาคเหนือขณะนี้เป็นอิทธิพลของพายุยางิ ขณะที่ร่องมรสุมความกดอากาศต่ำพาดผ่านภาคเหนือตอนบน ทำให้อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงรายน้ำท่วมหนักเสียหายมากที่สุดในรอบ 40 ปี มากกว่าปี 65 และที่อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ เกิดดินถล่มจากภูเขา ทับบ้านเรือนทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บหลายคน

ภาพมุมสูง ถ้ำผาจม บ้านแม่สาย ม.1 ต.เวียงพางคำ Cr.เทศบาลเวียงพางคำ

บทเรียนราคาแพงของวิปโยคแม่สาย แม่อายสะอื้นในครั้งนี้คืออะไร?

1.ประเทศไทยขาดแผนการเตือนภัยที่ชัดเจน

กรมอุตุนิยมวิทยาและสนทช. ได้แจ้งเตือนว่าจะเกิดฝนตกหนักในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย ในช่วงวันที่ 8 ถึงวันที่ 13 กันยายน จะเกิดน้ำท่วมไหลหลากและดินถล่ม แต่การเตือนภัยดังกล่าว อาจไปไม่ถึงประชาชนในระดับรากหญ้า

และการเตือนภัยดังกล่าว ไม่ได้ระบุความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างชัดเจน ทั้งยังไม่ได้ระบุถึงสถานที่เฉพาะเจาะจงว่าน้ำที่จะท่วมหนัก เกิดขึ้นที่ไหนบ้าง บอกเพียงกว้าง ๆ ว่าจะเกิดที่จ.เชียงรายและจ.เชียงใหม่ เป็นต้น ทำให้ประชาชนที่ได้รับข่าวสารในพื้นที่ไม่สนใจเท่าที่ควรเพราะทุกปี น้ำก็ท่วมประจำอยู่แล้ว ไม่ได้หนักหนาอะไร

2.ขาดการสื่อสารความเสี่ยงที่ทำให้ประชาชนเกิดความตระหนัก

ที่ผ่านมาใช้ช่องทางสื่อสารทางทีวี วิทยุ เฟซบุ๊กโดยใช้ภาษาทางวิชาการที่ยากจะเข้าใจ ทำให้ประชาชนระดับรากหญ้าไม่ค่อยสนใจเท่าที่ควร

น้ำท่วมเชียงราย Cr.สวท.เชียงราย กรมประชาสัมพันธ์

การสื่อสารหลังจากที่มีการคาดการณ์ว่าน้ำจะท่วมอย่างรุนแรงที่ไหนบ้าง ควรให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือ อปท.สื่อสารถึงตัวประชาชนโดยตรง โดยต้องระบุให้ชัดเจนว่าสถานการณ์จะเกิดขึ้นรุนแรงระดับใด ที่ไหนจะต้องเก็บข้าวของขึ้นที่สูง หรือต้องอพยพออกมา และมีที่ที่สามารถไปพักได้จุดใดบ้าง เป็นต้น

โดยทั่วไปผู้ว่าราชการจังหวัดหรือนายอำเภอต้องเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์หรือเป็น Commander สั่งการให้ดำเนินการทันที ยิ่งในต่างประเทศจะมีการใช้ระบบ sms สื่อสารเตือนภัยโดยส่งเข้าในระบบโทรศัพท์มือถือของคนที่อาศัยในพื้นที่โดยตรง เป็นต้น

แต่ปัจจุบัน ประเทศไทยยังไม่ได้เตรียมความพร้อมและยังไม่มีมาตรการป้องกันวิกฤตดังกล่าวเลย ต้องรอให้เกิดวิกฤตก่อนจึงจะประกาศให้พื้นที่เป็นเขตภัยพิบัติตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเพื่อนำงบประมาณออกมาแก้ไขและเยียวยาได้ ดังนั้นตามกฎหมายจึงมีแต่เพียงมาตรการบรรเทาทุกข์ แต่ไม่มีมาตรการป้องกันไว้ล่วงหน้า

3.ขาดแผนเผชิญเหตุฉุกเฉิน ติดระบบราชการ

เมื่อเกิดเหตุการณ์น้ำท่วม ดินถล่ม ราชการจะต้องประกาศเป็นเขตภัยพิบัติ เพื่อนำงบประมาณออกมาใช้บรรเทาทุกข์ให้ประชาชน ซึ่งทำได้ล่าช้ามาก เนื่องจากติดที่ระบบราชการ ต้องมีหนังสือเป็นทางการส่งออกไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขอให้ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร? ต้องมีเวลาในการเตรียมอุปกรณ์และกำลังคน

น้ำท่วมเชียงราย Cr.สวท.เชียงราย กรมประชาสัมพันธ์

กรณีน้ำท่วมที่อำเภอแม่สายจังหวัดเชียงราย ประชาชนจำนวนมากติดอยู่บนหลังคาและติดอยู่ในบ้านเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 2 วัน โดยหน่วยงานที่เข้าไปช่วยเหลือและบรรเทาทุกข์ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มมูลนิธิ จิตอาสา สมาคมและภาคประชาสังคม ส่วนหน่วยราชการยังล่าช้าอยู่ เพราะติดระบบราชการยกเว้น หน่วยทหารที่สั่งการและออกปฏิบัติงานได้ทันที

ที่มาข้อมูล

Sonthi Kotchawat

related