SHORT CUT
นักวิจัย ค้นพบหลักฐานที่บ่งชี้ว่า สโตนเฮนจ์ (Stonehenge) ก้อนหินโบราณอายุนับพันปี อาจถูกส่งมาจากสก็อตแลนด์ ด้วยระยะทางกว่า 700 กม. โดยศึกษา และวิเคราะห์จากองค์ประกอบของหิน
สโตนเฮนจ์ (Stonehenge) หนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลกในยุคกลาง ถือเป็นวัตถุที่มีปริศนาให้ นักวิทยาศาสตร์ หรือผู้ที่สนใจได้ศึกษา และแกะรอยถึงต้นตอที่มาของหินทั้ง 112 ก้อนนี้ แต่ดูเหมือนว่าข้อสันนิษฐานใหม่อาจช่วยให้เราเข้าใกล้คำตอบมากยิ่งขึ้น
Stonehenge ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ดึงดูดให้คนแวะมาเยี่ยมชมมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ตั้งอยู่ทุ่งหญ้าราบซัลลิสเบอร์รี่ ทางตอนใต้ของเกาะอังกฤษ ตั้งเรียงกันเป็นวงกลมซ้อนกันสามวง ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าหินเหล่านี้มีอายุไม่ต่ำกว่า 5,000 ปี
ซึ่งจุดประสงค์ของการสร้างนั้นก็มีแตกต่าง หลากหลาย อาทิ เป็นสถานที่บูชาพระอาทิตย์ สร้างเพื่อไว้ศึกษาดวงดาว หรือปรากฏการณ์บนท้องฟ้า
สำหรับที่มาของหินลึกลับเหล่านี้ มีผู้สันนิษฐานเอาไว้หลายครั้งหลายหน ในปี 1923 เฮนรี เฮอร์เบิร์ต โธมัส นักธรณีวิทยาชาวเวลส์ ระบุว่า หินที่อยู่วงนอกของสโตนเฮนจ์ มาจากเนินเขาพรีเซลี ในเขตเพมโบรคเชอร์ของเวลส์ ส่วนหินแท่นที่อยู่ตรงกลางนั้นเป็นหินคนละก้อนกัน และผู้คนก็เชื่อกันมาตลอดว่าหินทุกก้อนมาจากแหล่งเดียวกัน
ผู้ทำการศึกษาในครั้งนี้มีชื่อว่า แอนโธนี คลาร์ก นักศึกษาปริญญาเอกชาวเวลส์ ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสาร Nature เขาตั้งข้อสันนิษฐานว่าหินส่วนใหญ่ถูกนำมาจากสก็อตแลนด์ ซึ่งอยู่ไกลออกไป 700 กิโลเมตร อันที่จริงหินถูกนำมาจากทุกพื้นที่ของเกาะบริเตนใหญ่
คำถามคือทำไมทีมนักวิจัยจึงสันนิษฐานเช่นนั้น ทีมนักวิจัยได้วิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีของเศษหินที่หลุดออกจากแท่นหิน ซึ่งชี้ว่าทั้งอายุ องค์ประกอบ ค่อนข้างแตกต่างจากหินที่กระจายอยู่ส่วนอื่น ๆ ของโลก
ทว่า หินที่มีองค์ประกอบใกล้เคียงกับสโตนเฮนจ์มากที่สุดคือหินจากภูมิภาคเคธเนสส์, ออร์กนีย์ และ มอเรย์ เฟิร์ธ ทางตะวันออกเฉียงเหนือของสกอตแลนด์
แม้เริ่มแกะรอยจากหลักฐานได้แล้ว แต่ดร.โรเบิร์ต อิกเซอร์ จากมหาวิทยาลัยยูนิเวอร์ซิตี้ คอลเลจ ลอนดอน ซึ่งมีส่วนร่วมในการศึกษาครั้งนี้ชวนตั้งคำถามว่าหินถูกขนส่งมาไกลกว่า 700 กิโลเมตรได้อย่างไร ด้วยวิธีใด และทำไมต้องขนย้ายมาไว้ ณ สถานที่นี้ ด้วยเหตุนี้ การศึกษาสโตนเฮนจ์ หินโบราณอายุหลายพันปียังคงดำเนินต่อไป
ที่มา: BBC
ข่าวที่เกี่ยวข้อง