SHORT CUT
คนไม่กล้ากินไม่เป็นไร สหราชอาณาจักรอนุมัติการนำ 'เนื้อสัตว์จากห้องแล็บ' ไปใส่ในอาหารสำหรับสัตว์เลี้ยง ซึ่งทางบริษัทวิจัยกำลังวางแผนที่จะผลิตเนื้อส่งขายให้อุตสาหกรรมอาหารสัตว์เร็ว ๆ นี้
เนื้อสัตว์ที่เพาะในห้องแล็บ (Lab-grown meat) ยังคงเป็นนวัตกรรมอาหารที่สร้างประเด็นถกเถียงขึ้นทั่วโลก แม้ฝ่ายสนับสนุนจะมองว่ามันช่วยลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากฟาร์มปศุสัตว์ แต่หลายคนก็ยังไม่กล้าที่จะเปิดใจ อีกทั้งยังมีราคาสูงเกินกว่าที่คนทั่วไปจะเข้าถึง ทำให้มันยังคงเป็นเรื่องยากหากจะผลักดันให้เนื้อจากห้องแล็บได้รับความนิยมมากกว่านี้ ขณะที่บริษัทหลายสิบแห่งทั่วโลกก็พยายามแข่งขันเพื่อผลิตเนื้อสัตว์สังเคราะห์ราคาถูกออกสู่ตลาดให้ได้
ตอนนี้ดูเหมือนตลาดสำหรับเนื้อสัตว์สังเคราะห์จะไม่ถูกจำกัดแค่การนำมาปรุงเป็นอาหารสำหรับมนุษย์อีกต่อไป เมื่อสหราชอาณาจักรกลายเป็นประเทศแรกในยุโรปที่ได้อนุมัติการนำเนื้อสัตว์ที่ปลูกในห้องแล็บไปใส่ในในอาหารสัตว์เลี้ยง โดยเลือกเป็นเนื้อไก่ที่เพาะเลี้ยงโดยบริษัทสตาร์ทอัพ Meatly ซึ่งกำลังวางแผนเพาะเนื้อจำนวนมากเพื่อนำไปผลิตอาหารสัตว์ภายในช่วงต้นปีหน้า
แน่นอนว่ามีผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางนี้ พวกเขาเป็นกังวลต่อสวัสดิภาพของสัตว์เลี้ยงที่ต้องกินเนื้อสัตว์สังเคราะห์ดังกล่าว ทั้งยังมองว่าการพึ่งพาเนื้อจากห้องแล็บจะส่งผลเสียต่อเกษตรกรในระยะยาว รวมถึงปัจจัยด้านต้นทุนการผลิตที่อาจทำให้อาหารสัตว์มีราคาสูงขึ้นด้วย
ขณะที่ทาง Meatly ยืนยันว่า พวกเขามีวิธีที่ปลอดภัยและประหยัดในการนำเนื้อสัตว์ที่เพาะปลูกออกสู่ตลาดอย่างรวดเร็ว ทั้งยังผ่านการทดสอบที่แสดงให้เห็นว่าไก่ที่เพาะเลี้ยงนั้นปราศจากแบคทีเรียและไวรัส สารอาหารที่ใช้ในการเลี้ยงเซลล์นั้นปลอดภัย ทั้งยังมีคุณค่าทางโภชนาการไม่ต่างจากเนื้อสัตว์ปกติแน่นอน
ด้านสำนักงานมาตรฐานอาหาร (FSA) ได้แสดงความยินดีที่เห็นการใช้นวัตกรรมและวัตถุดิบทางเลือกในอาหารสัตว์ อย่างไรก็ตาม ความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ดังกล่าวยังคงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งทาง FSA จะติดตามผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่ออกสู่ตลาดอย่างใกล้ชิด
ที่มา