svasdssvasds

ขยะล้นโลก ไร้วิธีจัดการ ขยะมากถึง 1 ใน 5 ของโลกอยู่ในอาเซียน

ขยะล้นโลก ไร้วิธีจัดการ ขยะมากถึง 1 ใน 5 ของโลกอยู่ในอาเซียน

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าปัญหา “ขยะล้นโลก” เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่เป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งเกิดจากการใช้ทรัพยากรในการอุปโภค-บริโภคของมนุษย์ ร่วมรณรงค์เร่งแก้ปัญหาขยะเนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลก 5 มิถุนายน

SHORT CUT

  • ในแต่ละปี มนุษย์ทั่วโลกสร้างขยะมากถึง 2.12 พันล้านตัน แต่กลับมีการบริหารจัดการที่ไม่เหมาะสม
  • ขยะส่วนใหญ่บนโลกใบนี้ถูกนำไปทิ้งตามบ่อทิ้งขยะ หรือทิ้งตามแม่น้ำ และในท้ายที่สุด พวกมันก็ลอยไปอยู่ในทะเล
  • หากมนุษย์เราไม่ช่วยเหลือกันอย่างจริงจัง คำกล่าวที่ว่า "ขยะล้นโลก" ก็คงจะเกิดขึ้นในอนาคต

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าปัญหา “ขยะล้นโลก” เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่เป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งเกิดจากการใช้ทรัพยากรในการอุปโภค-บริโภคของมนุษย์ ร่วมรณรงค์เร่งแก้ปัญหาขยะเนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลก 5 มิถุนายน

ในแต่ละปี มนุษย์ทั่วโลกสร้างขยะมากถึง 2.12 พันล้านตัน แต่เรากลับมีการบริหารจัดการที่ไม่เหมาะสม โดยขยะส่วนใหญ่บนโลกใบนี้ถูกนำไปทิ้งตามบ่อทิ้งขยะ หรือทิ้งตามแม่น้ำ และในท้ายที่สุด พวกมันก็ลอยไปอยู่ในทะเล แต่ปัญหาขยะจะยิ่งรุนแรงมากขึ้นในประเทศที่มีฐานะไม่ร่ำรวย ดังนั้นหากมนุษย์เราไม่ช่วยเหลือกันอย่างจริงจัง คำกล่าวที่ว่า "ขยะล้นโลก" ก็คงจะเกิดขึ้นในอนาคต

ประเทศร่ำรวยขนขยะมาทิ้งที่ประเทศยากจนกว่า

เมื่อปลายปี 2021 สำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของสหรัฐฯ ประกาศนโยบายที่ตั้งเป้าว่า สหรัฐฯจะต้องมีอัตราการรีไซเคิลขยะให้ได้ 50 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี 2030 โดยตัวเลขเมื่อปี 2018 คาดการณ์ว่า สหรัฐฯสามารถรีไซเคิลขยะได้เพียงแค่ 32 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น และมีขยะพลาสติกเพียงแค่ 8.7 เปอร์เซ็นต์ที่ถูกนำกลับมารีไซเคิลในแต่ละปี 

ทั้งนี้ เนื่องจากในปี 2018 จีน ซึ่งเป็นประเทศนำเข้าขยะรายใหญ่ ประกาศจะไม่รับขยะพลาสติกจากต่างประเทศมาจัดการอีกแล้ว นอกจากนี้ ยังมีการลงนามของกว่า 180 ประเทศที่จะใช้มาตรการอันเข้มงวดขึ้น ต่อประเด็นการที่ชาติร่ำรวยจะขนขยะพลาสติกไปทิ้งในประเทศยากจนกว่า อย่างไรก็ตาม แม้จีนจะไม่รับขยะพลาสติกและยังมีข้อตกลงร่วมกันของหลายชาติ แต่ในปี 2021 สหรัฐฯก็ยังคงส่งออกขยะพลาสติก 45 ล้านตันไปทิ้งในต่างประเทศอยู่ดี และมากขึ้นกว่าปี 2020 ด้วย

สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร แคนาดา ไอร์แลนด์ และเยอรมนี เคยพึ่งพาประเทศอย่างจีน อินโดนีเซีย มาเลเซีย เคนยา เวียดนาม และตุรกี ในการรีไซเคิลขยะ อย่างไรก็ตาม เมื่อประเทศเหล่านั้นเต็มไปด้วยขยะจำนวนมาก และไม่มีเทคโนโลยีหรืออุปกรณ์ที่จะจัดการขยะรีไซเคิลอย่างเหมาะสม ก็ทำให้ในท้ายที่สุดขยะเหล่านั้นได้รับการจัดการที่ไม่ดี และถูกเผาแทนที่จะถูกนำไปรีไซเคิล

ประชากรในอาเซียนกำลังเพิ่มขึ้น ขยะก็เพิ่มตาม

ขยะมากถึง 1 ใน 5 ของโลกใบนี้อยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยนอกจากสาเหตุเรื่องการรับขยะจากต่างประเทศมาจัดการแล้ว อีกสาเหตุสำคัญที่ทำให้ขยะในภูมิภาคนี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องก็คือ การขยายตัวของเขตเมือง และการขยายตัวของเศรษฐกิจ ประกอบกับจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น โดยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของเรามีประชากรเพิ่มขึ้นเกือบ 25 เปอร์เซ็นต์ เป็นกว่า 690 ล้านคนแล้ว 

ปัจจัยต่างๆนำมาสู่การบริโภคที่เพิ่มขึ้น และทำให้เกิดการสร้างขยะตามมา ซึ่งขยะเกิดขึ้นได้จากทุกช่องทางการบริโภค ไม่ว่าจะเป็นการสั่งซื้อของออนไลน์ ที่ต้องมีขยะจากบรรจุภัณฑ์ หรือจะเป็นการซื้อของจากหน้าร้านทั่วไป

รายงานยังชี้ว่า กว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของขยะที่ลอยลงไปในทะเลมาจากภูมิภาคอาเซียนของเรานี่เอง นอกจากนี้ เรายังมีการจัดการขยะอย่างไม่เหมาะสม โดยพบว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของขยะถ้าไม่ถูกทิ้งในที่ทิ้งขยะ ก็จะถูกนำไปเผา

ขยะล้นอินโดนีเซียจนชาวบ้านต้องย้ายบ้านหนี

ในอินโดนีเซีย แต่ละวันจะมีขยะมากถึง 7 พันตันมาถึงที่บ่อทิ้งขยะบันตาร์เกบัง ซึ่งมีขนาดความกว้างเท่าสนามฟุตบอลกว่า 200 สนามรวมกัน และมีความสูงกว่าตึก 15 ชั้น โดยบ่อทิ้งขยะแห่งนี้ตั้งอยู่ในเมืองเบกาซี ที่นี่รองรับขยะจากกรุงจาการ์ตามานานกว่า 30 ปีแล้ว รอบๆบ่อทิ้งขยะแห่งนี้ก็รายล้อมไปด้วยหมู่บ้านจำนวนมาก ซึ่งมีประชาชนราว 20,000 คนอาศัยอยู่  ปัญหาที่ตามมาก็คือกลิ่นและความสะอาด ส่งผลทำให้ชาวบ้านจำนวนมากต้องย้ายหนี แต่ประชาชนส่วนใหญ่ที่ยังอาศัยอยู่ก็คือคนที่ประกอบอาชีพเก็บของเก่าขาย 

บ่อทิ้งขยะบันตาร์เกบังเป็นหนึ่งในบ่อทิ้งขยะที่ใหญ่ที่สุดในโลก และมันยังคงมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้รัฐบาลพยายามผลักดันให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ใกล้ๆย้ายออก เพราะรัฐต้องการขยายพื้นที่ทิ้งขยะ 

ในแต่ละปี โลกของเราสร้างขยะจากสิ่งทอราว 92 ล้านตัน

อีกหนึ่งสิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือขยะจากสิ่งทอ โดย Fast fashion หรือแฟชั่นตามกระแสที่ได้รับความนิยมกำลังผลักดันให้ปัญหานี้รุนแรงมากขึ้น เราพบเห็นปัญหาขยะเสื้อผ้าจำนวนมากเกลื่อนทะเลทรายอาตากามาของชิลี ซึ่งคาดการณ์ว่า มีเสื้อผ้ามือสองมากถึง 59,000 ตันส่งมาถึงท่าเรือในประเทศชิลี เพื่อให้บรรดาพ่อค้าแม่ค้าได้มาเลือกสินค้าดีๆนำไปขายต่อ แต่เสื้อผ้ามากถึง 39,000 ตันกลับกลายเป็นขยะและถูกนำไปทิ้งในทะเลทราย

ปัญหานี้เกิดขึ้นเช่นเดียวกันในประเทศกานา ซึ่งหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อม OR Foundation รายงานว่า บรรดาพ่อค้าแม่ค้ากานานำเข้าเสื้อผ้าถึง 15 ล้านตัวต่อสัปดาห์ แต่ 40 เปอร์เซ็นต์ของสินค้าเหล่านั้นกลายเป็นขยะ เพราะเสื้อผ้าที่สภาพไม่ดีและน่าจะนำไปขายต่อไม่ได้แล้ว จะถูกนำไปทิ้งที่บ่อขยะ และบ่อยครั้งพวกมันก็ลงเอยอยู่ที่ทะเล ก่อให้เกิดปัญหาด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมตามมา

กานากลายเป็นประเทศที่นำเข้าเสื้อผ้ามากที่สุดในโลกเมื่อปี 2021 โดยข้อมูลจากหอสังเกตการณ์ความซับซ้อนทางเศรษฐกิจ หรือ OEC ระบุว่า เสื้อผ้าที่กานานำเข้าในปี 2021 นั้นมีมูลค่า 214 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนใหญ่มาจากจีน สหราชอาณาจักรและแคนาดา

ที่มา : globalcitizeneco-business

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

related