svasdssvasds

ทำความรู้จัก “สนธิสัญญาพลาสติก” ฉบับแรก เร่งเจรจาก่อนขยะท่วมโลก

ทำความรู้จัก “สนธิสัญญาพลาสติก” ฉบับแรก เร่งเจรจาก่อนขยะท่วมโลก

บรรดาผู้นำระดับโลกจะรวมตัวกันที่เมืองหลวงของแคนาดาในสัปดาห์นี้ เพื่อหารือความคืบหน้าในการร่าง “สนธิสัญญาพลาสติก” ระดับโลกฉบับแรกที่จะควบคุมมลพิษจากพลาสติกที่เพิ่มสูงขึ้นในสิ้นปีนี้

SHORT CUT

  • สนธิสัญญาพลาสติกฉบับแรกของโลกมีเป้าหมายจะบรรลุข้อตกลงภายในปลายปีนี้ ซึ่งอาจเป็นข้อตกลงสำคัญที่สุดเรื่องการลดก๊าซเรือนกระจกและปกป้องสิ่งแวดล้อมนับตั้งแต่ข้อตกลงปารีสปี 2015
  • ประเทศต่างๆ ยังมีจุดยืนที่แตกต่างกัน เช่น กลุ่มผู้ผลิตพลาสติกคัดค้านการจำกัดการผลิตและเปิดเผยสารเคมี ขณะที่กลุ่ม High-Ambition Coalition (รวมอียู) ต้องการให้กำหนดเป้าหมายการยุติมลพิษในปี 2583
  • ความท้าทายในการเจรจาคือการหาจุดร่วมจากมุมมองที่แตกต่าง ก่อนการเจรจารอบสุดท้ายในเดือนธันวาคมที่ปูซาน เพื่อบรรลุข้อตกลงที่มีประสิทธิภาพในการแก้ไขวิกฤตมลพิษพลาสติกระดับโลก

บรรดาผู้นำระดับโลกจะรวมตัวกันที่เมืองหลวงของแคนาดาในสัปดาห์นี้ เพื่อหารือความคืบหน้าในการร่าง “สนธิสัญญาพลาสติก” ระดับโลกฉบับแรกที่จะควบคุมมลพิษจากพลาสติกที่เพิ่มสูงขึ้นในสิ้นปีนี้

ทำไมเราถึงมีการเจรจาสนธิสัญญาพลาสติก?

ในปี 2022 (พ.ศ. 2565) ที่การประชุมสมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ ประเทศต่างๆ ได้ตกลงร่วมกันที่จะจัดทำข้อตกลงระหว่างประเทศที่มีผลผูกพันทางกฎหมาย เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตมลพิษพลาสติกที่กำลังคุกคามโลกของเรา  โดยมีเป้าหมายที่จะให้ข้อตกลงนี้แล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2024 (พ.ศ. 2567)

สนธิสัญญาพลาสติกฉบับนี้ มุ่งที่จะจัดการกับปัญหาพลาสติกแบบครบวงจร ครอบคลุมตั้งแต่ต้นทางที่การผลิต ไปจนถึงปลายทางที่การใช้งานและการกำจัดทิ้ง ซึ่งจะเป็นความพยายามครั้งสำคัญของนานาชาติ ในการร่วมมือกันรับมือกับวิกฤตขยะพลาสติกที่กำลังส่งผลกระทบเลวร้ายต่อระบบนิเวศของโลกเรา จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการปกป้องโลกใบนี้ ทัดเทียมกับข้อตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเมื่อปี 2015

ทำความรู้จัก “สนธิสัญญาพลาสติก” ฉบับแรก เร่งเจรจาก่อนขยะท่วมโลก

พลาสติกมีปัญหาอะไร?

ปัจจุบัน ขยะพลาสติกกลายเป็นภัยคุกคามระดับโลกที่ก่อให้เกิดมลพิษต่อภูมิประเทศและทางน้ำ ในขณะที่การผลิตพลาสติกก็ยังเกี่ยวข้องกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมหาศาลอันนำไปสู่ภาวะโลกร้อน ซึ่งจากรายงานจากห้องปฏิบัติการแห่งชาติ Lawrence Berkeley National Laboratory ของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ระบุว่าขณะนี้อุตสาหกรรมพลาสติก คิดเป็นสัดส่วน 5% ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนทั่วโลก ซึ่งอาจเพิ่มขึ้นเป็น 20% ภายในปี 2593 หากแนวโน้มในปัจจุบันยังดำเนินต่อไป

การผลิตพลาสติกจะเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่าภายในปี 2603 เว้นแต่สนธิสัญญาจะกำหนดขีดจำกัดการผลิต ตามที่บางคนเสนอ

ทำความรู้จัก “สนธิสัญญาพลาสติก” ฉบับแรก เร่งเจรจาก่อนขยะท่วมโลก

ความท้าทายในการเจรจาคืออะไร?

การเจรจาสนธิสัญญาพลาสติกในสัปดาห์นี้ถือเป็นการประชุมครั้งใหญ่ที่สุด ด้วยจำนวนผู้เข้าร่วมกว่า 3,500 คน จากหลากหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกรัฐสภา ผู้นำธุรกิจ สมาชิกสภานิติบัญญัติ นักวิทยาศาสตร์ ไปจนถึงองค์กรสิ่งแวดล้อมต่างๆ

อย่างไรก็ตาม การเจรจา 3 รอบก่อนหน้าที่จัดขึ้นในปุนตา เดล เอสเต ประเทศอุรุกวัย, ปารีส และไนโรบี กลับเผยให้เห็นถึงความเห็นที่แตกต่างกันของแต่ละชาติในประเด็นสำคัญๆ 

ในการเจรจาล่าสุดที่กรุงไนโรบี เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ร่างสนธิสัญญาได้ขยายความยาวจาก 30 หน้า เป็น 70 หน้า เพราะบางประเทศยืนกรานที่จะผนวกข้อคัดค้านต่อมาตรการเข้มงวด เช่น การจำกัดการผลิตและการยกเลิกการใช้ เข้าไปในเนื้อหาด้วย

ขณะนี้ประเทศต่างๆ กำลังเผชิญแรงกดดันอย่างหนักในการหาจุดยืนร่วมกัน ก่อนการเจรจาขั้นสุดท้ายจะจัดขึ้นในเดือนธันวาคมที่เมืองปูซาน ประเทศเกาหลีใต้ เพื่อให้สามารถบรรลุข้อตกลงที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ทันตามกำหนด

ทำความรู้จัก “สนธิสัญญาพลาสติก” ฉบับแรก เร่งเจรจาก่อนขยะท่วมโลก

ประเทศต่างๆ ต้องการอะไรจากสนธิสัญญา?

ในการเจรจาสนธิสัญญาพลาสติก ประเทศผู้ผลิตพลาสติกและปิโตรเคมีหลายแห่ง อาทิ ซาอุดิอาระเบีย อิหร่าน และจีน ซึ่งรวมตัวกันภายใต้ชื่อ "กลุ่มประเทศที่มีแนวคิดเดียวกัน" หรือ Like-Minded Countries ได้แสดงจุดยืนคัดค้านการกำหนดขีดจำกัดการผลิต และพยายามขัดขวางไม่ให้มีการใช้ถ้อยคำในสนธิสัญญาที่จะนำไปสู่การจำกัดการผลิต, การเปิดเผยข้อมูลสารเคมี หรือการกำหนดเป้าหมายการลดขนาดการใช้ ตั้งแต่การประชุมที่ไนโรบีเมื่อปีก่อน

ในขณะเดียวกัน มีอีกกลุ่มหนึ่งที่เรียกตัวเองว่า "แนวร่วมความคาดหวังสูง" หรือ High-Ambition Coalition ประกอบด้วย 60 ประเทศ รวมถึงชาติสมาชิกสหภาพยุโรป, ประเทศหมู่เกาะต่างๆ และญี่ปุ่น ซึ่งตั้งเป้าที่จะยุติมลพิษพลาสติกให้ได้ภายในปี 2040 กลุ่มนี้ได้รับการหนุนหลังจากองค์กรสิ่งแวดล้อม ที่เรียกร้องให้มีการบัญญัติกฎหมายที่มีผลผูกพันเพื่อ "ยับยั้งและลดการผลิตและการใช้พลาสติกใหม่ให้อยู่ในระดับที่ยั่งยืน" นอกจากนี้ยังมีการเสนอมาตรการอื่นๆ อย่างการเลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งที่สร้างปัญหา และการแบนสารเคมีบางชนิดที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

ทางด้านสหรัฐฯ แม้จะประกาศเป้าหมายที่จะกำจัดขยะพลาสติกภายในปี 2040 เช่นเดียวกับกลุ่ม High-Ambition Coalition แต่กลับเสนอแนวทางที่แตกต่างออกไป โดยต้องการให้แต่ละประเทศกำหนดแผนปฏิบัติการของตัวเอง จากนั้นจึงส่งรายละเอียดของแผนเหล่านั้นมาเป็นพันธสัญญาต่อสหประชาชาติเป็นระยะๆ

ทำความรู้จัก “สนธิสัญญาพลาสติก” ฉบับแรก เร่งเจรจาก่อนขยะท่วมโลก

อุตสาหกรรมปิโตรเคมีต้องการอะไร?

อุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่มีบทบาทสำคัญในการผลิตพลาสติก ผ่านตัวแทนอย่างกลุ่ม Global Partners for Plastics Circularity ซึ่งประกอบไปด้วยผู้ผลิตรายใหญ่ในสมาคมอย่าง American Chemistry Council และ Plastics Europe ได้ออกมาแสดงจุดยืนคัดค้านการบังคับจำกัดปริมาณการผลิต โดยให้เหตุผลว่าจะทำให้ต้นทุนตกไปที่ผู้บริโภคในรูปของสินค้าที่แพงขึ้น พร้อมย้ำว่าสนธิสัญญาควรมุ่งจัดการพลาสติกที่ผลิตออกมาแล้วมากกว่า

กลุ่มอุตสาหกรรมเหล่านี้ยังเสนอแนวทางที่เน้นการส่งเสริมการใช้ซ้ำ การรีไซเคิล รวมถึงเทคโนโลยีที่สามารถแปรรูปพลาสติกกลับไปเป็นเชื้อเพลิง ในประเด็นของความโปร่งใสเรื่องสารเคมีที่ใช้ในกระบวนการผลิตพลาสติก พวกเขามองว่าควรเป็นเรื่องของความสมัครใจของแต่ละบริษัทที่จะเลือกเปิดเผยข้อมูลเหล่านั้น มากกว่าที่จะถูกบังคับด้วยกฎหมาย

ทำความรู้จัก “สนธิสัญญาพลาสติก” ฉบับแรก เร่งเจรจาก่อนขยะท่วมโลก

แบรนด์สินค้าต้องการอะไร?

บริษัทผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคชั้นนำกว่า 200 แห่ง อาทิ Unilever, PepsiCo และ Walmart ได้ร่วมตัวกันจัดตั้ง "Business Coalition for a Plastics Treaty" หรือ "พันธมิตรภาคธุรกิจเพื่อสนธิสัญญาพลาสติก" 

เช่นเดียวกับภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมี บรรดาแบรนด์สินค้าเหล่านี้ที่ใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกจำนวนมาก ก็มีบทบาทไม่น้อยในการเจรจาครั้งนี้ แต่น่าสนใจว่าจุดยืนของพวกเขากลับสวนทางกับฝั่งผู้ผลิตพลาสติก โดยสนับสนุนสนธิสัญญาที่ครอบคลุมการจำกัดปริมาณการผลิต, กำหนดระยะเวลาการใช้และลดการใช้ลง, ส่งเสริมนโยบาย reuse, วางกฎเกณฑ์การออกแบบผลิตภัณฑ์, ขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต ไปจนถึงการจัดการกับขยะพลาสติก ดังที่ระบุไว้ในแถลงการณ์ก่อนการประชุมที่กรุงออตตาวา

ที่มา

  • Reuters
related