ครั้งสุดท้ายที่คุณเห็น "ปูเสฉวน" เดินทั่วชายหาดคือเมื่อไหร่แชร์กันหน่อย? เพราะปัจจุบันปูเสฉวนอาจเปลี่ยนไปจากภาพที่คุณเคยเห็น พวกมันกำลังย้ายบ้านใหม่ จากเปลือกหอยในธรรมชาติ มาเป็น "ขยะทะเล" ส่งตรงจากน้ำมือมนุษย์
สาเหตุหลัก ๆ ที่ “ปูเสฉวน” หายหน้าหายตา ไม่ค่อยออกมาเดินบนหายชาดให้เราเห็นนั้นเพราะว่า ถูกจับไปเลี้ยง บ้านเลี้ยงเพื่อขาย (ทั้งไทยและเทศ) ว่ากันว่าราคาขายอยู่ที่ตัวละ 80 – 2,500 บาทเลยทีเดียว
ซึ่งผู้เชี่ยวชาญก็ได้ออกมาเตือนแล้วว่า ปูเสฉวนควรถูกปล่อยให้อยู่ตามธรรมชาติ ไม่ควรนำมาเป็น “สัตว์เลี้ยง” เนื่องจากเป็นสัตว์ที่ต้องการน้ำจืดและในทะเลในการดำรงชีวิต หากนำไปเลี้ยงทีบ้านพวกมันจะขาดสาอาหารที่ได้จากน้ำทะเล และตายได้
คำถามถัดมาคือ ในเมื่อก็พูดกันหนาหูว่าห้ามนำปูเสฉวนไปเลี้ยง แต่ทำไมถึงยังพบเห็นปูเสฉวนในตลาดซื้อขายอยู่ คำตอบคือ ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายเข้ามาควบคุมดูแลในส่วนนี้ “ปูเสฉวน” ไม่ได้อยู่ในรายชื่อพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 รวมถึงไม่อยู่ในบัญชี IUCN Red List ทำให้ผู้จับปูไม่ได้รับโทษทางกฎหมาย
Hermit Crab หรือปูเสฉวน เป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง ซึ่งจัดอยู่ในตระกูลเดียวกับปูและกุ้ง (Crustacea) ขนาดโตเต็มวัยประมาณ 5 นิ้ว แต่ปูชนิดนี้มีความแตกต่างตรงที่ เป็นสัตว์ที่ไม่มีเปลือกแข็งหุ้มร่างกายเฉกเช่นสัตว์ในตระกูลเดียวกัน ดังนั้น เราจึงเห็นภาพปูเสฉวนอาศัยอยู่ในเปลือกหอยอยู่บ่อย ๆ
“ปูเสฉวน 2024” ดูเหมือนจะได้บ้านหลังใหม่ แต่เป็นบ้านที่ทำจาก “ขยะทะเล” พลาสติก ขวดแก้ว หรือกระทั่งก๊อกน้ำ จะบอกว่าพวกมันฉลาดเลือกก็คงไม่ได้ เพราะเมื่อหาเปลือกหอยไม่ได้ พวกมันก็ต้องใช้สิ่งของที่หาได้ง่ายที่สุดบนชายหาดนั่นคือ “ขยะ”? มาใช้เป็นกระดองหุ้มร่างกาย
มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ระบุว่า ในแต่ละปีปูเสฉวนตกเป็นเหยื่อของขยะพลาสติกในมหาสมุทรอินเดียราว 508,000 ตัว และในมหาสมุทรแปซิฟิกอีกราว 61,000 ตัว
แม้เราจะเข้าใจว่า ปูเสฉวนเอาพลาสติกมาหุ้มกายเพราะนึกว่าเป็นเปลือกหอย ซึ่งก็เป็นไปได้ แต่นักวิจัยจากโปแลนด์ วิเคราะห์ถึงสาเหตุที่ปูเสฉวนจำต้องนำพลาสติกมาหอหุ้มร่างกายเอาไว้ 2 ประการที่น่าสนใจ
เมื่อชายหาดไร้เปลือกหอย ซึ่งปกติแล้วเป็นบ้านหลังหลักของพวกมัน พวกมันจึงต้องหาของใกล้ตัวที่พอหาได้ แต่มีประโยชน์พอกันมาแก้ขัดไปก่อน อีกหนึ่งความเป็นไปได้คือ Demand – Supply ของเปลือกหอยสวนทางกัน
กล่าวคือ บริเวณชายหาดแถวนั้นอาจจะมีปูเสฉวนเยอะกว่าเปลือกหอยในธรรมชาติ ทำให้ปูเสฉวนบางตัว จำต้องนำขยะพลาสติกมาหุ้มร่างกายเอาไว้
หากเรานำขยะทะเล จำพวกพลาสติก ก๊อกน้ำ หรือขวดแก้ว ในไซส์เท่า ๆ กับเปลือกหอย แล้วมาวัดน้ำหนัก พบว่า ขยะเหล่านี้มีน้ำหนักเบากว่า ซึ่งอาจอนุมานได้ว่า การหันมาใช้พลาสติกอาจช่วยพวกมันให้ไม่ต้องแบกบ้านหนัก ๆ อย่างที่เคยทำ
นอกจากความแตกต่างเรื่องน้ำหนักแล้ว นักวิจัยพบอีกว่า วัสดุพลาสติกมีความสว่างและมันเงามากกว่าเปลือกหอย และจะสีสันจะตัดกับพื้นหลังในธรรมชาติ ทำให้ปูเสฉวนเด่นเด้งเรียกสายตา “ผู้ล่า” สีโดยรวมจะไม่ได้กลืนไปกับธรรมชาติอย่างที่เคยเป็น
อีกทั้งพฤติกรรมของปูเสฉวนก็ค่อย ๆ เปลี่ยนให้ “จุกจิก เรื่องมาก” กว่าเดิม เมื่อเปลือกหอยที่พบไม่ผ่าน QC ล่ะก็ พวกมันก็พร้อมที่จะหันหลังใส่ แล้วอาจไปนำขยะทะเลมาใช้เป็นบ้านมากกว่า
สำหรับใครที่ไม่อยากเห็น “ปูเสฉวน” ต้องเดินไปเดินมาพร้อมกับต้องแบกขยะพลาสติกจากน้ำมือมนุษย์ สามารถร่วมกันบริจาคเปลือกหอยเพื่อคืนบ้านหลังเดิมให้กับพวกมันได้ โดยสามารถบริจาคได้ที่ อุทยานแห่งชาติเกาะลันตา หรือตามที่อยู่ด้านล่างนี้
59 ม.5 อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา
ต.เกาะลันตาใหญ่ อ.เกาะลันตา กระบี่
81150 โทร.075-656576
ในเมื่อขยะมันเกิดจากเรา ถ้าขยะจะลดมันก็ต้องลดเพราะเรา นอกจาก Keep The World อยากเชิญชวนให้ร่วมบริจาคเปลือกหอยเพื่อคืนบ้านให้ปูเสฉวนแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดคือ ขอความร่วมมือไม่สร้างขยะลงทะเลอีก เพราะเรื่องราวของปูเสฉวนเป็นคำตอบแล้วว่า โยนทิ้งแล้วมันไม่จบ มันมีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมในแบบที่เราก็ไม่อาจรับผิดชอบได้
ที่มา: The Conversation
ข่าวที่เกี่ยวข้อง