svasdssvasds

อึ้ง! คนไทยก่อขยะอาหารปีละเกือบ 10 ล้านตัน แนะวิธีส่งต่อกลุ่มเปราะบาง

อึ้ง! คนไทยก่อขยะอาหารปีละเกือบ 10 ล้านตัน แนะวิธีส่งต่อกลุ่มเปราะบาง

ปัจจุบันไทยมีปริมาณขยะอาหารมากถึงปีละเกือบ 10 ล้านตัน แหล่งกำเนิดที่มีการทิ้งของขยะอาหารสูงสุดคือ ตลาดสด ห้าง และอาคารสำนักงาน ที่มีศูนย์อาหาร ซึ่งบางส่วนก็เป็นเพียงอาหารส่วนเกิน ที่ยังสามารถส่งต่อให้กลุ่มเปราะบางได้

ทำความเข้าใจความแตกต่างของ "ขยะอาหาร" กับ "อาหารส่วนเกิน" ก่อน

อาหารส่วนเกิน คืออะไร?

อาหารส่วนเกิน (Food surplus) เป็นอาหารที่เกินจากความต้องการของเรา ถึงแม้จะสามารถนำไปบริโภคต่อได้ แต่คนส่วนมากเลือกที่จะ “ทิ้ง” เพราะเกินความต้องการของเรา เช่น ผัก ผลไม้ที่ถูกตัดแต่งเพื่อความสวยงาม หรืออาหารกระป๋องที่เราทิ้งไปโดยที่ยังไม่หมดอายุ

ขยะอาหาร คืออะไร?

ขยะอาหาร (Food waste) คือ เศษอาหารที่ไม่สามารถนำมาบริโภคต่อได้ อาจเป็นสิ่งที่เหลือจากการบริโภค เช่น เปลือกผลไม้ หรือ อาจจะเป็นอาหารที่เราทิ้งให้หมดอายุจนไม่สามารถเอามาบริโภคต่อได้

ซึ่งสุดท้ายทั้ง "อาหารส่วนเกิน" และ "ขยะอาหาร" ก็จะถูกทิ้งรวมกัน ถึงแม้ว่าจะมีส่วนที่ยังกินได้อยู่ก็ตาม

ไทยมีปริมาณขยะอาหารมากถึงปีละเกือบ 10 ล้านตัน

ขยะอาหาร พบมากสุดที่ไหน

น.ส.ปรีญาพร สุวรรณเกษ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า ปัจจุบันไทยมีปริมาณขยะอาหารเกิดขึ้นประมาณ 9.7 ล้านตัน หรือ 146 กิโลกรัม/คน/ปี แหล่งกำเนิดที่มีการทิ้งของขยะอาหารสูงสุดคือ

  1. ตลาดสด
  2. ห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อ
  3. อาคารสำนักงาน

ซึ่งแหล่งกำเนิดดังกล่าว ส่วนใหญ่มีศูนย์อาหารอยู่ด้วย ซึ่งเป็นแหล่งที่ก่อให้เกิดขยะอาหารที่สำคัญและควรวางแผนบริหารจัดการตั้งแต่ต้นทาง

ขยะอาหาร พบมากสุดคือ ตลาดสด ห้าง อาคารสำนักงาน ที่มีศูนย์อาหาร

ด้านดร.ชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. กล่าวว่า “ปัจจุบันการจัดการขยะอาหารและอาหารส่วนเกินเป็นปัญหาสำคัญในระดับโลก UN กำหนดให้การลดขยะอาหารเป็นหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เมื่อปี 2558 กำหนดเป้าลดขยะอาหารในระดับค้าปลีกและบริโภคทั่วโลกลงครึ่งหนึ่งภายในปี 2573

ในไทยขยะอาหารและอาหารส่วนเกินเป็นปัญหาสำคัญ โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ มีขยะอาหารและอาหารส่วนเกินถูกทิ้งจากหลายแหล่ง ทั้งบ้านเรือน ตลาด ซูเปอร์มาร์เก็ต โรงแรม ร้านอาหาร ศูนย์อาหาร แล้วถูกส่งไปกำจัดด้วยการนำไปเทกองกลางแจ้ง หรือเผากลางแจ้ง ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัย และสร้างความเดือดร้อนรำคาญแก่ประชาชน เช่น เกิดกลิ่นเหม็น น้ำเสียจากน้ำชะขยะปนเปื้อนสู่แหล่งน้ำผิวดินและแหล่งน้ำใต้ดิน เป็นแหล่งเพาะพันธุ์เชื้อโรค เกิดมลพิษทางอากาศ 

ดร.ชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส.

“กรุงเทพฯ และปริมณฑล เป็นแหล่งรวมการค้า การบริการ สถานประกอบการ ศูนย์การค้า สำนักงาน อาคารขนาดใหญ่ มีประชากรหนาแน่น มีการดำเนินชีวิตแบบคนเมือง มักไม่มีพื้นที่จัดการขยะอาหารและอาหารส่วนเกิน อีกทั้งไม่สะดวกในดำเนินการด้วยตนเอง ดังนั้นการแก้ปัญหาด้วยการจัดการขยะอาหารและอาหารส่วนเกินที่ต้นทาง การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภค และการเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างผู้ก่อให้เกิดขยะอาหารและอาหารส่วนเกินผ่านวิธีการนำไปใช้ประโยชน์ในรูปแบบต่าง ๆ รวมถึงการส่งต่อยังกลุ่มเปราะบาง จึงเป็นทางออกหนึ่งที่สำคัญในการลดปริมาณขยะอาหารและอาหารส่วนเกิน ลดมลพิษ
ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และลดความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพในเขตเมือง”

อาหารส่วนเกิน  เป็นอาหารที่เกินจากความต้องการของเรา ถึงแม้จะสามารถนำไปบริโภคต่อได้

รัฐ-เอกชน แสดงเจตจำนงร่วมจัดการขยะอาหารและอาหารส่วนเกิน

ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวว่า เมื่อวันที่ 18 ม.ค. 2567 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กรมอนามัย สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) และศูนย์อาหารของรัฐและเอกชน 14 แห่งทั่วประเทศ ร่วมแสดงเจตจำนงร่วมจัดการขยะอาหารและอาหารส่วนเกิน เพื่อป้องกัน ลด กำจัด ใช้ประโยชน์จากขยะอาหารและอาหารส่วนเกิน มุ่งเป้าลดความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพในเขตเมือง

ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย

มีความร่วมมือจัดการขยะอาหารและอาหารส่วนเกินสำคัญ 5 ด้าน

  1. สนับสนุนให้ศูนย์อาหารและหน่วยงานต่าง ๆ มีข้อมูลและกำหนดเป้าหมายลดปริมาณขยะอาหารและอาหารส่วนเกินด้วยระบบคัดแยกและรวบรวมให้เอื้อต่อการนำไปใช้ประโยชน์และกำจัดอย่างเหมาะสม
  2. ส่งเสริมให้ผู้บริโภคมีพฤติกรรมป้องกันและลดการเกิดขยะอาหารและอาหารส่วนเกิน
  3. ส่งเสริมองค์ความรู้และแนวปฏิบัติที่ดี สำหรับผู้ประกอบอาหารและผู้จำหน่ายอาหารในการป้องกัน ลด คัดแยก และจัดการขยะอาหารและอาหารส่วนเกิน
  4. พัฒนาและขยายผลรูปแบบที่เหมาะสมและแนวปฏิบัติที่ดีในการป้องกันและลดการเกิดขยะอาหารและอาหารส่วนเกินจากศูนย์อาหาร และจัดการขยะอาหารและอาหารส่วนเกินที่แหล่งกำเนิด
  5. ขับเคลื่อนนโยบายและแผนจัดการขยะอาหารและอาหารส่วนเกิน ด้วยกลไกข้อมูล กฎระเบียบ และการสื่อสาร เพื่อให้เกิดการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมและกว้างขวาง

โดยสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย สนับสนุนให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการจัดการขยะอาหารอย่างเป็นระบบ สนับสนุนทางวิชาการ การเผยแพร่ข้อมูล และผลักดันให้เกิดการจัดการขยะอาหารจากแหล่งอาหารอย่างเป็นรูปธรรม

ข่าวอื่นที่เกี่ยวข้อง

related