svasdssvasds

"ไจแกนโทพิธิคัส" ลิงยักษ์แห่งยุคดึกดำบรรพ์ สูญพันธุ์เพราะอะไร ?

"ไจแกนโทพิธิคัส" ลิงยักษ์แห่งยุคดึกดำบรรพ์ สูญพันธุ์เพราะอะไร ?

"ไจแกนโทพิธิคัส" ลิงยักษ์ที่สูญพันธุ์จากโลกไปแล้วเกือบ 3 แสนปี สูง 3 ม. และหนักเกือบ 300 กก. แม้จะได้ชื่อว่าเป็นโคตรลิงยักษ์ แต่ใหญ่ขนาดนี้ ยังหนีไม่พ้นมหันตภัย Climate Change เป็นเพราะอะไรติดตามได้ที่บทความนี้

ไจแกนโตพิธิคัส โคตรลิงยักษ์ยุคโบราณ Cr.Garcia/Joannes-Boyau (Southern Cross University)

ไจแคนโตพิธิคัส สูญพันธุ์เพราะอะไร?

นักวิทยาศาสตร์เปิดเผยการศึกษาพบว่า ลิงยักษ์สายพันธุ์โบราณ “ไจแคนโตพิธิคัส” (gigantopithecus) ซึ่งเป็นลิงยักษ์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่โลกใบนี้เคยมีมา สูญพันธุ์ไปเมื่อหลายแสนปีก่อนเพราะปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศทำให้พวกมันขาดแคลนอาหาร

โดยพบว่า ลิงยักษ์สายพันธุ์นี้ ซึ่งครั้งหนึ่งอาศัยอยู่ทางตอนใต้ของประเทศจีน มีความสูงราว 3 เมตร และน้ำหนักมากถึง 295 กิโลกรัม แต่ด้วยขนาดที่ใหญ่โตขนาดนี้ก็ทำให้มันมีจุดอ่อน

สเกลเทียบไซส์ระหว่างมนุษย์ และไจแกนโตพิธิคัส Cr. Prehistoric Life

เรเนาด์ โจแอนเนส โบยาว นักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยเซาเทิร์นครอสส์ของออสเตรเลีย และผู้ร่วมวิจัยในบทความที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature เปิดเผยว่า มันเป็นเพียงสัตว์ที่มีขนาดตัวใหญ่มาก และเมื่ออาหารเริ่มที่จะหายาก มันก็ตัวใหญ่เกินไปที่จะปีนต้นไม้เพื่อไปสำรวจหาแหล่งอาหารใหม่ๆ

ลิงยักษ์ดังกล่าวมีชีวิตรอดมาได้ราว 2 ล้านปีในผืนป่าของมณฑลกว่างสี ในประเทศจีน พวกมันกินผลไม้ พืช ผัก และดอกไม้ในป่าเป็นอาหาร จนกระทั่งสภาพแวดล้อมเริ่มเปลี่ยนไป นักวิจัยพบว่า มีหลักฐานที่พบตามถ้ำในมณฑลกว่างสีบ่งชี้ว่า ป่าเริ่มมีผลไม้น้อยลง เมื่อราว 6 แสนปีก่อน เพราะพื้นที่ดังกล่าวเผชิญกับฤดูแล้งที่นานขึ้น

นักวิจัยยังพบว่า ลิงยักษ์ไม่ได้สูญพันธุ์ไปอย่างรวดเร็ว แต่ดูเหมือนว่ามันค่อยๆสูญพันธุ์ไปเมื่อราวๆ 215,000 - 295,000 ปีก่อน ในขณะที่ลิงขนาดเล็กกว่าสามารถปีนต้นไม้ขึ้นไปหาอาหารอื่นๆได้ ส่วนลิงยักษ์หันมากินเปลือกไม้ เมล็ดผลไม้และอาหารที่ไม่มีสารอาหารใดๆ

จาง หยิงซี แห่งสถาบันบรรพชีวินวิทยาสัตว์ที่มีกระดูกสันหลังและบรรพชีวินมนุษย์วิทยาของจีน เปิดเผยว่า เมื่อป่าเปลี่ยนแปลงไป ก็เริ่มมีอาหารที่ลิงยักษ์ชื่นชอบไม่เพียงพอ

มนุษย์เคยเจอกับไจแกนโทพิธิคัสหรือไม่?

หากบอกว่าเจ้าลิงยักษ์รายนี้มีชีวิตอยู่ราว ๆ สองแสนปีก่อน นั่นหมายความว่า บรรพบุรุษของเราอย่าง “โฮโม อิเร็กตัส” อาจเคยได้เผชิญหน้ากับโคตรลิงยักษ์รายนี้ ลองจินตนาการเล่น ๆ ว่า มนุษย์โบราณกลุ่มนี้ ไปแย่งอาหารพวกมันกิน แล้วพวกมันเกิดโมโหฟึดฟัดขึ้นมา ไม่อยากจะคิดเลยว่า สภาพศพต้นตระกูลเราจะเป็นเช่นไร...

ฮิโม อิเร็กตัส มนุษย์ที่อาศัยอยู่ยุคเดียวกับไจแกนโตพิธิคัส Cr. Tim Evanson / Flickr

ลิงยักษ์ ที่ขณะนี้เราเจอแค่ฟันของมัน

สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์เรียนรู้เกี่ยวกับการสูญพันธุ์ของลิงยักษ์มาจากการศึกษาฟอสซิลฟันและกระดูกขากรรไกรล่าง ชิ้นส่วนทั้งหมดนั้นล้วนพบในประเทศจีน แต่ไม่เคยมีการพบกระโหลกส่วนหัวของพวกมันอย่างสมบูรณ์

ชิ้นส่วนฟันของ "ไจแกนโตพิธิคัส" Cr. Wei Wang, Theis Jensen

มีเรื่องเล่าที่ถูกส่งต่อกันมาถึงการค้นพบชิ้นส่วนลิงยักษ์ตัวนี้ ย้อนกลับในยุคศตวรรษที่ 1930s มีนักบรรพชีวินชาวเยอรมันท่านหนึ่ง นามว่า “G.H.R. von Koenigswald” วันหนึ่งของเดินดุ่ม ๆ เข้าที่ไปร้านขายยาในฮ่องกง ซึ่งเป็นร้านที่ขายสินค้าจำพวกกระดูกสัตว์ของหายากอะไรทำนองนั้น แล้วอวดอ้างว่าเป็น “กระดูกมังกร” ทุกคนคงพอนึกภาพออก

นักบรรพชีวินชาวเยอรมัน นามว่า “G.H.R. von Koenigswald Cr. Wikimedia commons

เขามักแวะมาดูร้านแบบนี้อยู่บ่อย ๆ เพราะมักเจอกระดูกสัตว์หายากในยุคบรรพกาล ช่วงแรกก็ยังไม่เจออะไรน่าสนใจ ทว่า ก่อนจะกลับสายตาเขากลับเหลือบไปเห็นกระดูกชิ้นส่วนวางอยู่ ซึ่งเป็นชิ้นส่วนที่คุณ Koenigswald  ไม่เคยพบเจอมาก่อน ต่อมสงสัยใครรู่ทำงานทันที เขารีบควักเงินจ่ายให้เฮียเจ้าของร้าน แล้วนำไปศึกษาต่อทันที

ผลปรากฏว่านั่นคือ ฟันของลิงที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก หรือปัจจุบันเรารู้จักกันในชื่อ “ไจแกนโตพิธิคัส” นั่นเอง แต่อย่างที่กล่าวไป ทุกวันนี้ในแวดวงนักขุดซากสัตว์ดึกดำบรรพ์ยังไม่พบเจอกระดูกส่วนอื่น ๆ ของมัน ดังนั้น ภาพที่เห็นจึงเป็นเพียง “ลิงจำลอง” ในจินตนาการของนักวิทยาศาสตร์เท่านั้น

ทำไม gigantopithecus ถึงใหญ่ที่สุดในโลก?

เหตุที่นักวิทยาศาสตร์คาดว่า เจ้าลิงยักษ์รายนี้อาจมีส่วนสูงถึง 3 เมตร และมีน้ำหนักเกือบ 300 กิโลกรัม ก็เพราะคาดคะเนจากขนาดฟันของมัน ตามหลักฐานที่ค้นพบจากอดีตจนถึงปัจจุบัน สรุปได้ว่า ฟันกรามบนของมันใหญ่กว่ากรอริล่าถึง 57.8% และฟันกรามล่างใหญ่กว่า 33% เล่นเอาลิงสายพันธุ์อื่น ๆ กลายเป็นสัตว์ไซส์จิ๋วไปเลย

ทั้งนี้ เมื่อราว 2 ล้าน – 22 ล้านปีก่อน เคยมีลิงยักษ์หลายสายพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในแอฟริกา ยุโรป และเอเชีย โดยนักวิทยาศาสตร์พบฟอสซิลของพวกมัน แต่มาทุกวันนี้ มีเพียงแค่กอริลลา ชิมแปนซี อุรังอุตัง โบโนโบ และมนุษย์เท่านั้นบนโลกใบนี้

 

 

ที่มา: CNN , Prehistoric Wildlife , New Scientist

เนื้อหาที่น่าสนใจ

related