จ. เลย ของบประมาณ 28 ล้านบาท เตรียมศึกษา และวางแผนสร้าง "กระเช้าไฟฟ้า" เพื่อใช้เป็นแลนด์มาร์กในการดึงดูดนักท่องเที่ยว ย้ำ! ต้องคุยกับหลายฝ่ายเพื่อศึกษาทั้งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
สิ้นปีนี้ ใครวางแผนไปภูกระดึงบ้าง? ถือเป็นข่าวดีสำหรับสายท่องเที่ยว เมื่อ จ.เลย เล็งสร้าง “กระเช้าไฟฟ้า” ขึ้นภูกระดึง เพื่อใช้เป็นแลนด์มาร์กสำคัญในการดึงดูดนักท่องเที่ยว มองภาพใหญ่สร้างเม็ดเงินมูลค่ามหาศาล
ล่าสุด นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า จังหวัดเลยได้ยื่นของบประมาณเพื่อการออกแบบและสร้าง “กระเช้าไฟฟ้า” ขึ้นภูกระดึง ที่อุทยานแห่งชาติภูกระดึง เป็นจำนวนเงิน 28 ล้านบาท โดยการดำเนินการดังกล่าว เป็นไปตามมติครม. เมื่อปี 2555 ที่ให้องค์การบริหารพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) ของกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา จัดสรรพื้นที่หลายแห่งให้กลายเป็นจุดแลนด์มาร์กของนักท่องเที่ยว
เชื่อว่าหลายท่านอาจเคยได้ยินชื่อเสียงเรียงนามของ “ภูกระดึง” กันเป็นอย่างดี เพราะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอด ที่นักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติให้ความสนใจ และตบเท้ากันเข้ามาท่องเที่ยวกันอยู่ทุกปี นางพวงเพ็ชร เผยว่า งบประมาณจำนวน 28 ล้านจะถูกใช้ไปกับการศึกษาสำรวจ และออกแบบสร้างกระเช้าไฟฟ้า ซึ่งในขั้นตอน และกระบวนการก่อสร้างจำเป็นต้องทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIO) เพื่อให้ทราบถึงแผนการดำเนินงานก่อสร้างที่ชัดเจน และทางจังหวัดเลยจำเป็นต้องแนบแพลนการก่อสร้างไปด้วย
ส่วนเหตุผลที่ผลักดันให้มีการก่อสร้าง กระเช้าไฟฟ้า ขึ้นภูกระดึงก็เพราะว่า จ.เลยคือจังหวัดทำเลทองสำหรับนักท่องเที่ยว แม้จะหน้าหนาว หน้าร้อน หรือหน้าฝน ก็ยังมีคนตบเท้ามาเที่ยวกันแน่นอยู่ตลอด ทั้งปี ซึ่งแน่นอนว่า หากการก่อสร้างสำเร็จ จำนวนนักท่องเที่ยว และเม็ดเงินที่หมุนเวียนใน จ.เลยจะดีดสูงขึ้นมหาศาล
เกิดกระแสต่อต้าน
นางพวงเพ็ชร กล่าวว่า เส้นทางเดิมที่เคยใช้ก็ยังใช้ต่อไปได้ มิจำเป็นต้องขึ้นกระเช้าไฟฟ้าอย่างเดียว เส้นทางการเดินขึ้นภูกระดึงก็ยังสามารถใช้ได้ตามเดิม ใครใคร่เดินเดิน ทว่า จำเป็นต้องมีทางเลือกเพิ่มเติม เพื่อใช้เป็นหมัดเด็ดในการดึงดูดนักท่องเที่ยว และจะสามารถสร้างรายได้มหาศาลให้กับจังหวัดเลย
ทางด้านนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นถึงประเด็นดังกล่าวไว้ว่า เข้าใจกลุ่มคนที่ต้องการอนุรักษ์เสน่ห์และความเป็นธรรมชาติของภูกระดึงเอาไว้
พร้อมยกว่า ในหลาย ๆ ประเทศก็ได้วางกลยุทธ์เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวในลักษณะนี้เช่นกัน แถมสร้างเม็ดเงินได้มากมายมหาศาล ทว่า ต้องเร่งคุยกับหลาย ๆ ฝ่าย ในการหารือเรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ กระเช้าไฟฟ้า ขึ้นภูกระดึง สามารถกลายเป็นจุดยุทธศาสตร์เพื่อใช้ดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ ในขณะเดียวกันก็ต้องไม่กระทบกับระบบนิเวศในระแวกนั้นจนเกินไปด้วย
ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร?
แม้ในตอนนี้จะยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดของตัวกระเช้าไฟฟ้าออกมา ว่าเป็นสเป็กแบบไหน และของแบรนด์ใด แต่พอจะคาดการณ์ได้ ในเรื่องผลกระทบของกระเช้าไฟฟ้าต่อสิ่งแวดล้อมได้ดังนี้
หากเราเทียบกันการขนส่งคนจากต้นทางไปยังปลายทาง แม้จะในระยะสั้นหรือระยะยาวก็ตาม กระเช้าไฟฟ้าถือว่ามีปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนที่ต่ำมาก นอกจากนี้กระเช้าไฟฟ้ายังมีประโยชน์อีก 2 ด้านด้วยกัน
อย่างแรกคือ ทำให้ไม่ต้องสร้างทางหรือถนนเดินจากจุด A ไปจุด B ในกรณีของภูกระดึงจะช่วยย่นระยะเวลาในการเดินทางได้ และอาจทำให้มีการหมุนเวียนของนักท่องเที่ยวในแต่ละวันเพิ่มมากขึ้น อย่างที่สองคือ เมื่อนักท่องเที่ยวเข้าไปอยู่ในกระเช้าไฟฟ้าแล้ว จะลดจำนวนขยะที่ถูกทิ้งอยู่ตามทางเดินได้
นอกจากจะสามารถช่วยลดขยะ และการปล่อยมลพิษออกสู่ชั้นบรรยากาศแล้ว ในหลาย ๆ ประเทศ พบว่า การเดินทางด้วย กระเช้าไฟฟ้า มีราคาที่เป็นมิตรกับผู้ใช้งานพอสมควร
เนื่องจากความเรียบง่ายของเทคโนโลยีที่ใช้ ทำให้ราคาไม่ได้ดีดขึ้นสูงมาก ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับยี่ห้อที่จังหวัดเลยจะเลือกใช้ด้วย ว่าคำนวณต้นทุนออกมาแล้ว จะมีราคาอยู่ที่เท่าไร
มองรอบโลกดู “กระเช้าไฟฟ้า”
ในอดีตประเทศโคลอมเบีย ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีความรุนแรง และมีอัตราการเกิดอาชญกรรมสูง พร้อมทั้งปัญหายาเสพติด ปัญหาเรื่องมลพิษ พร้อมทั้งเมืองที่ไม่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของชาวโคลอมเบีย
แต่เมื่อเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่าน ประเทศโคลอมเบียก็ได้เร่งฟื้นฟูพัฒนาประเทศให้กลับมาสะอาดขึ้นอีกครั้ง หลากหลายวิธีด้วยกัน หนึ่งในนั้นคือเรื่องการขนส่ง โคลอมเบียได้เปิดตัว Metrocable ซึ่งเป็นกระเช้าไฟฟ้าที่ใช้เชื่อมคนที่อยู่ใจกลางเมืองไปยังภูเขาสูงได้
กระเช้าไฟฟ้าในประเทศโคลอมเบีย ถูกบันทึกว่า แทบไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนแม้แต่นิดเดียว เพราะมีการติดแผงโซลาร์เซลล์ไว้บนหลังคาของกระเช้า ที่สามารถใช้ขับเคลื่อนกระเช้าได้นานถึง 7 – 8 ชั่วโมงต่อวัน นั่นจึงเป็นเหตุผลให้ทำไมถึงมีอัตราการปล่อยมลพิษออกสู่ชั้นบรรยากาศน้อย
ที่มา: earthbound
เนื้อหาที่น่าสนใจ