ลอยกระทงแบบรักษ์โลกและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทำยังไงได้บ้าง? กระทงรักษ์โลกต้องเป็นแบบไหน? ปัญหาสิ่งแวดล้อมของเทศกาลลอยกระทงที่ไม่ควรมองข้าม
วันลอยกระทงเวียนกลับมาทีไร Keep The World ก็อยากให้คนไทยเคารพคงคาอย่างจริงใจ ใช่ทิ้งขยะลงน้ำ เพราะปัญหาของโลกต้องแก้ไขตั้งแต่วันนี้ ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของคนรุ่นต่อไป สปริงนิวส์ในคอลัมน์ Keep The World ขอแนะนำแนวทางการเข้าร่วมประเพณีลอยกระทงฉบับใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม ว่าแบบไหนดีต่อโลก ยังไงบ้าง
ในสมัยก่อน กระทงที่ประดิษฐ์ขึ้นมานั้น มีเพียงไม่กี่แบบ และสมัยก่อนยังไม่มีตะปู แม็ก หรือกระทงหลากหลายรูปแบบเท่าสมัยนี้ ฉะนั้น สิ่งที่มากับกระทงสมัยใหม่นั้น มีมลพิษแฝงอยู่มากมาย ดังนี้
กระทงใบตอง เป็นกระทงที่ทำมาจากองค์ประกอบของต้นกล้วย ตั้งแต่ ลำต้น ใบตอง หรือหยวกกล้วย นำมาประกอบเป็นกระทง ซึ่งส่วนประกอบทั้งหมดของต้นกล้วยเหล่านี้สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ โดยใช้เวลาย่อยสลายประมาณ 14 วัน
แต่อย่างไรก็ เมื่อก่อนการทำกระทงจะใช้ไม้กลัด ซึ่งก็ย่อยสลายได้ แต่ปัจจุบันเพื่อให้กระทงมั่นคงขึ้น จึงมีการใช้ตะปู เข็มหมุด ปักแทนไม้กลัด ซึ่งกระทงที่เป็นแบบนี้อันตรายต่อระบบนิเวศเนื่องจากเหล็กหรือโลหะเหล่านี้ย่อยสลายยากและเสี่ยงเกิดอันตรายต่อพนักงานเก็บกระทงด้วย ดังนั้น เลือกกระทงที่ไม่มีเข็มกลัด หมุด หรือตะปูจะดีที่สุด
ยืนยันว่ากระทงที่ทำจากโฟมไม่ดีต่อสิ่งแวดล้อมทั้งสิ้น ควรเลี่ยงการลอยกระทงโฟม เนื่องจาก โฟมเป็นวัสดุที่ใช้เวลาย่อยสลายนานถึง 50 ปี ยิ่งเราอุดหนุนกระทงโฟมเยอะ โฟมในสิ่งแวดล้อมยิ่งมีมากขึ้นไปอีกแล้วเมื่อไหร่มันจะย่อยสลายหมดล่ะ
แม้ว่ากระทงที่ทำมาจากขนมปังหรือกรวยไอศกรีมจะเป็นวัสดุที่ย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ และเคยขึ้นชื่อว่าเป็นกระทงรักษ์โลก แต่จากการสอบถามนักวิชาการแล้ว หากจัดการปริมาณไม่ดี กระทงขนมปังก็เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมได้ เช่น
การเลือกลอยกระทงขนมปังในแหล่งน้ำปิด น้ำนิ่ง ที่ไม่มีการไหลระบายออกไปยังแหล่งน้ำอื่นและปลาที่มากินก็กินไม่หมด ตัวขนมปัง ซึ่งเป็นแป้งคาร์โบไฮเดรต เมื่อลงน้ำ น้ำมีเชื้อจุลินทรีย์จะเริ่มย่อยแป้ง ซึ่งกระบวนการทำงานของเชื้อจุลินทรีย์จะทำให้ออกซิเจนในน้ำลดลง เมื่อออกซิเจนในน้ำมีลดน้อยลง สัตว์น้ำก็ตายได้ แถมอาจเกิดน้ำเน่าเสียได้ง่ายมากขึ้นด้วย
ดังนั้น การหลีกเลี่ยงการลอยกระทงขนมปังไปเลยจะเป็นการแก้ปัญหาที่ครบจบกว่าการซื้อไปแล้วต้องเลือกลอยในแหล่งน้ำที่เหมาะสม ซึ่งก็เดาไม่ได้ว่าปลาจะกินหมดไหม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
กระทงน้ำแข็ง เป็นไอเดียกระทงที่น่ารักและดูเหมือนจะเป็นมิตรต่อระบบนิเวศมากที่สุดในบรรดากระทงทั้งหมด เพราะใช้เวลาย่อยสลายหรือละลายเพียงแค่ 30 นาที – 1 ชั่วโมงได้ ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิของน้ำในขณะนั้น
จากการสอบถามผู้เชี่ยวชาญกับความกังวลของกระทงน้ำแข็งต่อสิ่งแวดล้อม กระทงน้ำแข็งเคยถูกทดสอบว่าเมื่อลอยลงแหล่งน้ำจะเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของแหล่งน้ำแค่ไหน และกระทบต่อสัตว์น้ำหรือไม่ ผลปรากฏว่า เปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของแหล่งน้ำน้อยมากและไม่กระทบต่อสัตว์น้ำ การที่จะเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิแห่งน้ำได้นั้น คือต้องลอยเป็นจำนวนที่เยอะมาก ๆ จึงอาจจะเป็นไปได้
กระทงกระดาษใช้เวลาย่อยสลายนานอย่างไม่เชื่อ โดยใช้เวลาย่อยสลายประมาณ 2-5 เดือนเลย ก็ดูเหมือนจะดีต่อสิ่งแวดล้อมเพราะย่อยสลายได้ แต่กระดาษที่นำมาใช้ โดยเฉพาะกระดาษสมัยใหม่ ที่มีคุณลักษณะที่แตกต่างกันออกไป บางร้านเป็นกระดาษพ่นสี บางร้านเป็นกระดาษที่มีการปนเปื้อนของสารเคมี หรือกระดาษบางที่ก็อาจบริสุทธิ์จริง แต่เราก็คงไม่มีเวลามานั่งตรวจสอบขนาดนั้น ดังนั้น หากเลี่ยงได้ก็เลี่ยงเพื่อลดความยุ่งยากไปเลย อีกอย่าง การจัดเก็บก็ยาก เพราะพอกระดาษเปียกน้ำก็จะยุ่ยและจัดเก็บได้ยากมากขึ้น
ลอยกระทงออนไลน์ เป็นรูปแบบการลอยกระทงแบบใหม่ที่รู้สึกว่าดีมาก ๆ เหมาะกับยุคสมัย สำหรับคนที่ไม่ซีเรียสว่าต้องลอยกระทงแบบจับต้องได้ เพราะลอยกระทงออนไลน์ใช้ใจล้วน ๆ เราสามารถไหว้ขอขมาแม่คงคาโดยที่ไม่ต้องลอยตามธรรมเนียมก็ย่อมได้
กระทงกะลา ถูกสร้างขึ้นมา ด้วยการมองหาวัสดุรอบตัวที่สามารถลอยได้มาทำเป็นกระทง ซึ่งก็ง่ายดีสำหรับคนลอยกระทงสมัยก่อน เพราะไม่ต้องออกไปตัดใบตองและมานั่งพับจีบให้ยุ่งยาก เพียงแค่เอากะลาเหลือ มาปักเทียน ใส่ดอกไม้ลงไปก็ลอยได้แล้ว ซึ่งกะลาใช้เวลาย่อยสลายตามธรรมชาติประมาณ 15 วันเท่านั้น ก็ไม่เสียหายอะไรถ้าจะลอยด้วยกระทงกะลา
การเลือกใช้วัสดุธรรมชาติ ย่อมเป็นสิ่งที่เราสนับสนุนเสมอ แต่ต้องอยู่ในปริมาณที่พอดีกับแหล่งน้ำที่เราลอยไป กระทงมันสำปะหลังใช้เวลาย่อยสลายตามธรรมชาติเร็วพอๆกับน้ำแข็ง ตามข้อมูลจากกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม คือ 30 นาที-1ชั่วโมง
ยุคสมัยนี้ดูเหมือน กระทงที่ทำจากอาหารปลาหลากสีที่ทำจากแป้งข้าวโพด กำลังเป็นที่นิยมอย่างมาก แต่จากการสอบถามผู้เชี่ยวชาญด้านชีววิทยา อาหารปลาหลากสีก็มีโทษคล้ายกับขนมปังเลย เนื่องจากเป็นคาร์โบไฮเดรตเหมือนกัน
ซึ่งในความเป็นจริง ปลาสามารถกินได้และย่อยสลายได้ แต่การกินแต่คาร์โบไฮเดรตมาก ๆ โดยไม่มีสารอาหารอื่น ๆ เสริม อาทิ ไขมัน โปรตีน วิตามิน เกลือแร่ เหมือนที่อาหารเม็ดสำหรับปลามี ก็อาจส่งผลไม่ดีต่อสุขภาพของปลาได้ และถ้าปลากินไม่หมด ก็ทำให้ออกซิเจนในน้ำน้อย ปลาตายน้ำเน่าได้เช่นกัน ดังนั้น ก็ควรเลี่ยงไปเลยตั้งแต่แรกจะดีกว่า ถ้าคุณอยากรักษ์โลกหมดจด
เราไม่สามารถคาดเดาการเคลื่อนที่ของลมได้ว่า ในวันที่เราลอย โคมจะลอยไปทางไหน และจะลอยไปตกบ้านใครหรือเปล่า หรือลงป่าข้างทาง โคมลอยได้ด้วยการจุดไฟ ดังนั้น ไฟย่อมไม่ถูกกับของที่ติดไฟง่ายอย่างเช่นไม้และใบไม้ใบหญ้า
การลอยโคมสมัยก่อนก็ไม่ได้นิยมมากนัก และมีจำนวนน้อยมาก แต่ปัจจุบันการลอยโคมมีเยอะมากขึ้น เพราะใช้ถ่ายรูปได้สวยดี Amazing Thailand แต่มันก็อันตราย มีออกข่าวบ่อย ๆ ว่าโคมลอยตกใส่บ้านหลายเคสแล้ว และเสี่ยงทำให้เกิดไฟป่าได้ด้วย
พลุทำหมายแมวตกใจ เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจส่วนบุคคลเลย แต่ Keep The World แนะนำว่า ไม่จุดจะดีกว่า แม้ว่ามันจะสวยงาม แต่มันก็มีเสียงที่ดังมาก ๆ สำหรับพลุบางประเภท เสียงที่ดังมาก ๆ อาจทำให้น้องหมาน้องแมว สัตว์เลี้ยงสุดรักของใครหลาย ๆ ตกใจ ขวัญหนีดีฝ่า และก็วิ่งกระโจนออกจากบ้านไปเลยก็มี แม้บางบ้านจะเก็บพวกเขาไว้มิดชิดก็ตาม แต่เราก็ยังคงมีข่าวหมาแมวหายในวันลอยกระทงบ่อยมาก และไฟจากพลุก็ระวังเหตุไฟไหม้ด้วยล่ะ
ข้อเสนอแนะเพิ่มเติม หากอยากลอย ลองเลือกลอย 1 กระทง ต่อ 1 ครอบครัวก็ได้นะ เพื่อลดจำนวนกระทงที่ไม่จำเป็น ลดภาระของเจ้าหน้าที่และลดความยุ่งยากต่อการจัดเก็บได้
ที่มาข้อมูล
กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง