เปิดข้อดี ข้อเสียกระทงขนมปัง-กรวยไอศกรีม สำหรับเทศกาลลอยกระทง ทำไมถึงไม่ควรลอย ขอขมาสายน้ำจริงเหรอ? กับอาจารย์เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ภาคชีววิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เทศกาลลอยกระทง มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องตามกาลเวลา เทศกาลลอยกระทงยังคงอบอุ่นเสมอสำหรับชาวไทย และเป็นโอกาสทองให้กับผู้ประกอบการต่าง ๆ หลากหลายสาขากอบโกยกำไรจากเทศกาลเหล่านี้ แต่สำหรับเทศกาลลอยกระทง สิ่งที่น่ากังวลมากที่สุดคือ ปริมาณของกระทงที่นำมาลอยกันตามความเข้าใจว่า ประเพณีลอยกระทงก็ต้องลอยกระทงสิ แม้ว่าในความเป็นจริง เราไม่จำเป็นต้องลอยก็ได้
Springnews ได้สัมภาษณ์รศ. ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่ากระทงขนมปังและกรวยไอศกรีมที่ใช้กันอยู่ช่วงนี้ ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมจริงหรือไม่?
สำหรับกระทง ถ้าไม่มองในแง่ของประเพณี ก็คือการลอยวัตถุต่าง ๆ ลงน้ำ ของที่ลอยลงไปสุดท้ายก็ต้องเก็บขึ้นมา แต่ถ้าไม่ก็ไม่ต่างอะไรกับการทิ้งขยะลงในแม่น้ำ
อาจารย์กล่าวว่า เราต้องยอมรับก่อนว่า ในช่วงลอยกระทงที่ผ่านมาหลายปี ผู้คนมีความใส่ใจเรื่องของสิ่งแวดล้อมมากขึ้น จึงมีคนคิดออกแบบกระทงขนมปังหรือกรวยไอศกรีมบ้าง เพราะเชื่อว่า ย่อยสลายได้ง่าย จึงทำให้หลายคิดแต่เรื่องของการย่อยสลาย แม้ว่าในความเป็นจริงเมื่อลงไปแล้ว ปลาหรือสัตว์น้ำจะมากินจนหมดไปเลยก็โอเค แต่ถ้าเกิดไม่กินก็จะค่อย ๆ ย่อยสลาย และคนก็คิดว่าไม่กี่วันก็ย่อยสลาย มันก็ดีกว่ากระทงหยวกกล้วยหรือกระทงโฟมแล้ว
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
สวนดุสิตโพล เผยสำรวจ ประชาชนกว่า 88 % คิดว่างานลอยกระทงช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ
ลอยกระทง 65 กทม. จัดเจ้าหน้าที่ 2,000 นาย ดูแลความปลอดภัยโป๊ะ ท่าเทียบเรือ
เชียงใหม่ ผุดจุดถ่ายภาพโคมลอยจำลอง หวังลดปริมาณขยะช่วงเทศกาลลอยกระทง
เพจดัง ชวน เลิกลอยกระทง ชี้เพิ่มขยะ : บางอย่างก็ต้องปรับให้เข้ากับยุคสมัย
ลอยกระทง 65 กับจุดหมายปลายทาง กระทงกว่าแสนใบหลังข้ามคืนวันงานเทศกาล
แต่ประเด็นมันอยู่ที่ว่า ขนมปังมันเป็นแป้ง เป็นคาร์โบไฮเดรต เมื่อลงไปยังแหล่งน้ำ ถ้าไม่กินโดยสัตว์น้ำ โดยปลา มันก็จะอยู่ในน้ำเฉย ก็จะกลายเป็นหน้าที่ของเชื้อจุลินทรีย์ที่อยู่ในน้ำ จุลินทรีย์จะทำหน้าที่ย่อยแป้งพวกนี้เอาไปเป็นอาหารของมันเอง แต่กระบวนการย่อยของจุลินทรีย์จะต้องใช้ออกซิเจนด้วย เลยทำให้ออกซิเจนในน้ำลดลง
ยกตัวอย่างมีข่าว เรือน้ำตาลล่ม แล้วมีข่าวตามมาว่า เรือน้ำตาลล่ม เชื้อจุลินทรีย์ทำงาน แล้วปลาก็ตาย เพราะว่ามันมีออกซิเจนในน้ำน้อย อันนี้ก็คล้าย ๆ กัน อันนี้ก็มีการทดสอบไปเยอะแล้ว โดยเฉพาะบ่อน้ำปิด ที่ตอนเช้าจะต้องมีสัตว์น้ำลอยขึ้นมาตายเสมอไม่ว่าจะตัวเล็กหรือตัวใหญ่ เพราะเชื้อจุลินทรีย์มีปัญหาและทำให้ออกซิเจนในน้ำน้อยลง
หรือแม้กระทั่งในแหล่งน้ำกว้าง มันก็เหมือนเราทิ้งขยะชีวภาพลงไปในแหล่งน้ำ ก็ทำให้เชื้อจุลินทรีย์มีมากขึ้น และออกซิเจนในน้ำลดลงนั่นเอง แต่คงไม่ได้เห็นผลรวดเร็วทันที
ดังนั้นในด้านของงานวิชาการ จึงมองว่า กระทงขนมปังเป็นกระทงที่ไม่ควรใช้มากที่สุด เพราะเก็บยากและส่งผลเสียต่อสายน้ำได้ง่ายที่สุด จึงจะดีกว่า ถ้าเราไม่เพิ่มขยะให้กับลำน้ำเลย ไม่ผิดที่ไม่รู้ แต่จะผิดถ้ารู้แล้วไม่แก้มากกว่า แถมยังไปส่งเสริมกันมากขึ้น มันก็จะยังทำให้คนลอยกันมากขึ้น
แล้วกระทงแบบไหนดีสุด?
ในบรรดาของกระทงทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น กระทงหยวกกล้วย กระทงโฟม กระทงขนมปัง กระทงกะลาเทียน สำหรับนักวิชาการแล้ว น่าจะเป็นกระทงน้ำแข็ง กับกระทงเทียนที่สามารถนำกลับมาแปรรูปหรือใช้ใหม่ได้
กระทงน้ำแข็ง ในทางวิชาการแล้ว เคยทดลองและคำนวนกันแล้วว่ากระทงน้ำแข็งไม่ได้เปลี่ยนแปลงสภาพน้ำได้มากขนาดนั้นเหมือนที่หลายคนกังวล หากจะส่งผลกระทบจริงน้ำแข็งต้องเยอะมากจริง ๆ เช่น ลองทดลองในบ่อจุฬา ก็พบว่า หากจะทำให้น้ำเปลี่ยนอุณหภูมิสัก 1 องศาเซลเซียส ต้องใช้น้ำแข็งถึง 1 ตัน จึงจะเปลี่ยนแปลงได้
ลอยยังไงดีให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ในมุมผู้เขียนและนักวิชาการมองว่า ไม่ลอยเลยจะดีกว่า เนื่องจากการขอขมามีหลายรูปแบบ เราสามารถขอด้วยใจอย่างเดียวก็ได้หรือจะลอยกระทงออนไลน์ก็ได้ เพราะคงคาคงไม่อยากสกปรกไปมากกว่านี้แล้วเหมือนกัน
แต่หากมองในแง่มุมของการขัดขวางด้านการกระตุ้นเศรษฐกิจหรือไม่ ก็ไม่ถึงกับขนาดนั้น ประเพณีและเทศกาลสามารถจัดได้ แต่ต้องอยู่ในการดำเนินการด้วยความยั่งยืน เราสามารถเที่ยวเทศกาลจากไปชม ไปซื้อของทานได้ตามปกติ แต่ช่วงลอยกระทงหากอยากลอยจริงๆ แนะนำว่า 1 ครอบครัวต่อ กระทง 1 ใบจะดีที่สุด และเลือกวัสดุกระทงที่สามารถย่อยสลายในเวลาอันรวดเร็ว หรือเลือกสถานที่ที่มั่นใจว่ามีการจัดเก็บกระทงอย่างเป็นระบบ ไม่สามารถริดรอดออกสู่ลำน้ำสาธารณะได้
แต่จะดีที่สุด คือไม่ลอยเลย เพื่อไม่สร้างขยะให้กับคงคา