svasdssvasds

อาหารปลาหลากสี เสี่ยงต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่ดีของปลา

อาหารปลาหลากสี เสี่ยงต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่ดีของปลา

ทำบุญอย่างไรให้ทำร้ายโลก? "อาหารปลาหลากสี" ที่สายทำบุญชอบซื้อมาให้อาหารปลาตามวัดวาอารามต่าง ๆ แท้จริงแล้วกำลังสร้างบาปอย่างไม่รู้ตัวให้กับสิ่งแวดล้อม

เป็นกรณีให้พูดถึงกันมานานหลายปีแล้ว สำหรับสายทำบุญที่ชอบให้อาหารปลาด้วย “อาหารปลาหลากสี” ตามวัดวาอารามต่าง ๆ และตั้งแต่เทศกาลลอยกระทงผ่านพ้นไปก็ยังคงเห็นผู้คนนำขนมปังปลาเหล่านี้มาทำเป็นกระทงขนมปังให้ปลาทานกันอยู่ จึงอยากชวนผู้อ่านไปทำความเข้าใจกับ อาหารปลาหลากสีเหล่านี้หน่อยว่ามันมีความเสี่ยงต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของปลาอย่างไรบ้าง

สปริงนิวส์ ในคอลัมน์ Keep The World ได้สัมภาษณ์ รศ. ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในประเด็นอาหารปลาหลากสีเหล่านี้ มีความเสี่ยงต่อระบบนิเวศอย่างไร และแก้ไขอย่างไรดี

อาหารปลาหลากสีไม่ดีอย่างไร?

ในประเด็นแรก อาหารปลาหลากสีเหล่านี้ทำมาจากแป้งข้าวโพดเป็นหลัก ซึ่งสารอาหารที่ได้นั้นจะเป็นคาร์โบไฮเดรตล้วน ๆ ซึ่งในความเป็นจริง ปลาสามารถกินได้และย่อยสลายได้ แต่การกินแต่คาร์โบไฮเดรตมาก ๆ โดยไม่มีสารอาหารอื่น ๆ เสริม อาทิ ไขมัน โปรตีน วิตามิน เกลือแร่ เหมือนที่อาหารเม็ดสำหรับปลามี ก็อาจส่งผลไม่ดีต่อสุขภาพของปลาได้

และมีความเป็นไปได้ที่หากปลากินไปจำนวนมากอาจท้องอืดได้ แต่ก็ยังเป็นกรณีที่เกิดขึ้นน้อย แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นแน่ ๆ หาก ปลากินไม่หมดคือ การย่อยสลายของแป้งในแหล่งน้ำเลี้ยงปลา เช่นเดียวกับกรณีการลอยกระทงขนมปังที่เมื่อลอยอยู่ในน้ำเป็นเวลานาน ๆ เชื้อจุลินทรีย์ในน้ำจะย่อยสลายแป้ง และจุลินทรีย์จะดึงออกซิเจนมาช่วยในการย่อยสลาย ดังนั้น จึงทำให้ระดับออกซิเจนในน้ำลดลง เมื่อออกซิเจนในแหล่งน้ำมีน้อยลง โดยเฉพาะแหล่งน้ำปิด ก็จะทำให้ปลาขาดออกซิเจนจนอาจนำไปสู่ความตายได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อีกทั้ง เวลาให้อาหารปลาหลากสีเหล่านี้ ผู้คนมักซื้อเป็นกระสอบใหญ่ เพราะเชื่อว่า ยิ่งให้เยอะ ยิ่งได้บุญเยอะ แต่เปล่าเลย การให้อาหารปลาจำนวนมาก ๆ ในคราวเดียว ก็ส่งผลให้ปลากินไม่หมดได้และนำไปสู่การสะสมจนทำให้น้ำเน่าเสียในที่สุด

สีผสมอาหารนี่แหละตัวการ!

ในประเด็นที่ 2 นอกจากส่วนประกอบหลักของอาหารปลาจะเป็นแป้งล้วนแล้ว ยังมีการแต่งเติมความสนใส ความน่าดึงดูดลงไปด้วยสีผสมอาหาร ซึ่งหากหลายคนสังเกตเห็น อาหารปลาเหล่านี้มักถูกแบ่งขายเป็นถุงขนาดใหญ่เทียบเท่ากระสอบ และน้อยมากที่จะมีฉลากกำกับสินค้าหรือคำเตือนสำหรับผู้บริโภค ว่าอาหารนี้มีส่วนผสมของอะไรบ้าง มีข้อควรระวังอย่างไร

ดังนั้น สีที่ใช้ผสมลงไปในอาหารปลาเราก็ไม่อาจรู้ได้ว่ามีคุณภาพหรือมีความปลอดภัยมากแค่ไหน โดยเฉพาะเมื่อเทศกาลลอยกระทงที่ผ่านมา มีคนบางกลุ่มยังไม่เข้าใจถึงขนมเหล่านี้และทานเข้าไปเหมือนเป็นเรื่องปกติ ซึ่งก็อาจไม่ได้ผิดอะไร แต่อาจเสี่ยงต่อการบริโภคสินค้าที่ไม่ทราบที่มาของส่วนประกอบที่ผสมลงไปก็เป็นได้ และอาจส่งผลอันตรายต่อแหล่งน้ำ สัตว์น้ำ ผู้บริโภค โดยเฉพาะเด็ก ๆ

ในปี 2562 เคยมีการถกเถียงเรื่องนี้กันไปบ้างแล้ว และอาจารย์เจษฎ์ก็ได้อธิบายถึงระบบย่อยอาหารของปลา โดยอธิบายไว้ว่า อาหารปลาหลากสีเหล่านี้เหล่านี้อาจไม่ได้ส่งผลเสียให้ปลาท้องอืดได้มากขนาดนั้น แต่นั่นก้ส่วนหนึ่ง เพราะระบบการย่อยอาหารของปลาแต่ละชนิดแตกต่างกัน

ระบบการย่อยอาหารของปลาแต่ละชนิดนั้น ขึ้นกับว่าเป็นปลากินพืช หรือปลากินเนื้อ หรือปลาที่กินทั้งพืชและเนื้อ ... ปลากินพืช เช่น ปลาตะเพียน ปลานิล จะมีกระเพาะเล็ก (หรือไม่มีกระเพาะเลย) แต่มีลำไส้ยาว ขณะที่พวกปลากินเนื้อ เช่น ปลาช่อน ปลาชะโด และปลาที่กินทั้งพืชและเนื้อ เช่น ปลานิล ปลาไน ปลาสวาย จะมีระบบการกินอาหารที่สมบูรณ์ คือ มีครบทั้งกระเพาะและลำไส้

ดังนั้น ถ้าเป็นพวกปลาสวาย ที่มักอยู่ตามแหล่งน้ำที่ไปให้อาหารกัน พวกนี้จะย่อยอาหารได้ดีและกินอาหารได้มากเท่าที่มันจะกินเข้าไป .. แต่ถ้าเป็นพวกปลาที่ไม่มีกระเพาะ พวกนี้จะกินอาหารได้จำกัด เพราะการย่อยจะเกิดขึ้นได้ที่ลำไส้ หากกินอาหารมาก ส่วนที่ยังย่อยไม่หมดก็จะถูกขับถ่ายทิ้งไป (เปลืองอาหาร สำหรับคนที่เพาะเลี้ยงปลา)

และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เคยตรวจวิเคราะห์อาหารปลาจำพวกนี้ พบว่า มีการใช้สีผสมอาหารที่ไม่ได้มาตรฐาน มีค่าอันตราย เช่น พวกโลหะหนัก เกินค่ามาตรฐานถึง 5 เท่า ซึ่งเป็นอันตรายต่อตับและไตของคนได้ โดยเฉพาะเด็กเล็ก ถ้ากินเข้าไป ... หากตกค้างในแหล่งน้ำ ก็จะมีผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในแหล่งน้ำนั้นด้วย

แล้วจะแก้ไขเรื่องนี้อย่างไรดี?

วิธีที่ดีที่สุดคือการไม่ใช้อาหารปลาหลากสีเหล่านี้ต่อไป เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดมลพิษทางน้ำ เลือกใช้อาหารเม็ดสำหรับปลาที่มีสารอาหารครบถ้วน หรือถ้าหากจะให้ก็ซื้อให้แต่พอดี ที่ปลาสามารถกินหมดได้ และอยากให้อาหารประเภทนี้ในแหล่งน้ำปิด เช่น สระน้ำ หรือบ่อน้ำในวัด ควรเป็นแหล่งน้ำเปิดที่มีน้ำไหลเวียนไปเรื่อย ๆ

และในมุมของผู้เขียนเอง มองว่า อาหารใดที่ไม่มีใบกำกับการบริโภคไม่ว่าจะเป็นอาหารของคนหรือปลาก็มักมีความเสี่ยงเสมอ เนื่องจากเราไม่อาจทราบได้ว่า ส่วนที่ผสมลงไปนั้นมีอะไรบ้าง สีที่ใช้ได้มาตรฐานรับรองความปลอดภัยจากอย.หรือเปล่า ซึ่งวิธีที่ดีที่สุดคือการหลีกเลี่ยงการให้ในแหล่งน้ำต่าง ๆ 

และการทำบุญที่ดีที่สุดคือการให้ที่ต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมที่จะได้รับจากสิ่งที่เราให้ด้วย 

related