ข้อสงสัยบนสื่อโซเชียลว่าหลังเทศกาลลอยกระทง กรุงเทพฯ มีการนับกระทงอย่างไร สู่การหาคำตอบโดย Springnews พร้อมหาวิธีกำจัดกระทงของกรุงเทพฯว่าจัดการกับขยะกระทงอย่างไร?
จากการสังเกตของผู้เขียน เกี่ยวกับเทศกาลลอยกระทง และหลังจากกรุงเทพมหานครได้ประกาศตัวเลขของกระทงที่เก็บได้นั้น ก็เกิดการตั้งคำถามในโซเชียลมีเดียว่า กรุงเทพฯมีวิธีการนับกระทงอย่างไร? ด้วยเหตุนี้ Springnews จึงช่วยหาคำตอบ ด้วยการสอบถาม นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกกรุงเทพมหานคร ว่า ทางกทม.มีวิธีการนับกระทงอย่างไรหลังเทศกาลจบลง
การนับกระทง
เบื้องต้น คุณเอกกล่าวว่า วิธีการนับในปัจจุบันนี้ยังเป็นการใช้แรงงานเจ้าหน้าที่ในการนับ แต่กระบวนการนับในแต่ละเขตจะคล้ายกันคือการนับกระทงมาแยกใส่เข่ง เข่งหนึ่งมีกระทงประมาณ 25 ใบ เจ้าหน้าที่ก็จะเฉลี่ยเป็นเข่ง ๆ ไปและบันทึกลงบอร์ดหรือสมุดบันทึกตามแต่ละเขตจะใช้ อีกทั้งจะมีการนับต่อเนื่องตามช่วงเวลาเก็บคือ ตั้งแต่ 20.00 น.-ช่วงเวลาตี 5 ของในแต่ละวัน พร้อมรายงานให้ทางกทม.ทราบจำนวนอย่างต่อเนื่อง
กระทงแต่ละประเภทก็จะถูกแยกออกมาด้วยเพื่อให้การนับประเภทจะง่ายขึ้น โดยจะคัดแยกเด่นๆ เป็นกระทงใบตองกับกระทงโฟม นอกเหนือจากนี้ เช่นกระทงขนมปัง จะไม่สามารถเก็บมานับเป็นกระทงได้ เนื่องจากมีการย่อยสลายเป็นจุลินทรีย์ในน้ำ และกระทงน้ำแข็งไม่ต้องพูดถึงละลายแน่นอน นำมาเก็บมานับไม่ได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ขยะกระทง ปี 65 กทม. ปริมาณเพิ่มขึ้น ตัวเลข กระทงโฟม เพิ่มขึ้นจนน่าตกใจ
กทม. สรุปลอยกระทง 2565 จัดเก็บได้ 572,602 กระทง ประเวศ ใช้กระทงโฟมมากสุด
เปิดแผนรับมือจัดการกระทงกทม.หลังเทศกาล เช็กเลยลอยที่ไหนในกทม.ได้บ้าง?
กระทงขนมปัง-กรวยไอศกรีม ทำลายสิ่งแวดล้อมยังไง ทำไมถึงไม่ควรลอย
ลอยกระทง 65 กับจุดหมายปลายทาง กระทงกว่าแสนใบหลังข้ามคืนวันงานเทศกาล
การกำจัดกระทง
เบื้องต้นเท่าที่ทราบจะมีอยู่ 2 แบบคือ แบบเผาและแบบฝังกลบ
แบบเผาเป็นวิธีที่ใช้ค่าใช้จ่ายสูงและต้องติดต่อกับเอกชนในการนำไปเผาเป็บพลังงานอื่น ๆ เพื่อใช้ประโยชน์ต่อ และการเผาในที่ปิดเฉย ๆ เพื่อการกำจัด แต่ก็ยังคงส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม
แบบฝังกลบจะใช้การฝังกลบสำหรับกระทงทั้ง 2 แบบ แต่แบบของกระทงใบตองจะย่อยได้ง่ายกว่า และสามารถนำไปสู่กระบวนการทำปุ๋ยได้ จึงจะไม่ค่อยนำฝังกลบมากนัก แต่กระทงโฟมจำเป็นต้องฝังกลบ เนื่องจากไม่สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ หรือถ้าย่อยสลายได้ก็จะใช้เวลาหลายร้อยปี และไม่สามารถรีไซเคิลได้ จึงจำเป็นต้องฝังไว้
จะแก้ปัญหาปริมาณกระทงที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มขึ้นอย่างไร?
แน่นอนว่า ทางกทม.เองก็พยายามรณรงค์เพื่อให้ปริมาณกระทงลดลงในทุกปี กทม.เองคงไม่สามารถหักดิบวัฒนธรรมของผู้คนได้มากขนาดนั้น แต่ก็พยายามหาวิธีรณรงค์มาตลอด เช่น การขอให้ลอยกระทง 1 กระทงต่อ 1 ครอบครัว เลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลอยในพื้นที่ที่กทม.จัดสรรไว้ให้ และกทม.เองก็มีการรองรับความต้องการด้วยการจัดเก็บและจัดการกระทงของประชาชนทั้วหมดเพื่อให้ประชาชนอุ่นใจ
แต่ในอนาคต แน่นอนว่าจะวางแผนให้รัดกุมยิ่งขึ้น และกำลังหาวิธีการทำให้ประชาชนสนุกกับการเก็บกระทงที่ได้เรียนรู้เรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมไปด้วยได้ กทม.จะทำเต็มที่แน่นอน