นักตกปลาไทยคันไม้คันมือ หลังไต้หวันอยากจัดแข่งขันตกปลาชะโด เอลี่ยนสปีชีส์จากไทยที่กำลังระบาดในน่านน้ำไต้หวันขณะนี้ ทำสัตว์ท้องถิ่นหาย เพียง 3 เดือน จับได้กว่าสามหมื่นตัว
เรียกได้ว่า จับยังไงก็จับไม่หมดสักที จนชาวไต้หวันท้อใจ หลังหลายปีที่ผ่านมา เกิดการแพร่กระจายของปลาชะโดไทยในทะเลสาบสาบสุริยันจันทรา เมืองหนานโถว ประเทศไต้หวัน จนเจ้าหน้าที่ต้องใช้เครื่องช็อตไฟฟ้าเพื่อกำจัดปลาชะโด แต่พวกมันแข็งแกร่งเหลือเกินและดูเหมือนจะเยอะขึ้นกว่าเดิมด้วย
รายงานจาก Radio Taiwan International รายงานว่า ปี 2023 นี้ ในช่วง 3 เดือนของล่าชะโด ในฤดูร้อน ซึ่งเป็นช่วงออกหากินของปลาชะโด เจ้าหน้าที่สามารถจับชะโดได้แล้วกว่า 34,000 ตัว ซึ่งมากกว่าปีที่แล้ว
แต่จากการสังเกตของเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการ พบว่า ปลาชะโดฉลาดและมีการตื่นตัวมากขึ้น สามารถหลบซ่อนตัวจากการล่าของเจ้าหน้าที่ได้เก่งขึ้น ทำให้เจ้าหน้าที่ทำงานลำบากกว่าเดิม และยิ่งในปีนี้ ปลาชะโดเปลี่ยนพฤติกรรม เริ่มเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วง มีการแพร่พันธุ์มากขึ้นและออกหากินบ่อย ทำให้เดิมมีกำหนดการสิ้นสุดการกำจัดปลาชะโดในเดือนกันยายน ต้องขยายเวลาออกไปจนถึงช่วงปลายเดือนตุลาคม
แต่อย่างไรก็ตาม แม้จะใช้วิธีรุกด้วยการกำจัดต่อเนื่องนานนับเดือน ก็ไม่สามารถทำให้ชะโดหายไปได้หมด สมาชิกสภาเทศบาลเมืองหนานโถวจึงเสนอไอเดียว่า ในเมื่อวิธีกำจัดเดิมมันยากนัก ก็อาจลองหันไปร่วมมือกับกองส่งเสริมการท่องเที่ยว ให้จัดการแข่งขันตกปลาชะโด ให้นักตกปลาช่วยกำจัด ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมการท่องเที่ยวของเมืองไปในตัวด้วย ซึ่งเรื่องนี้ถูกรับไว้พิจารณาเรียบร้อยแล้ว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
อนึ่ง ปลาชะโดที่ระบาดอยู่ในไต้หวันนี้ เป็นเอเลี่ยนสปีชีส์ที่นำเข้ามาจากประเทศไทย เมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้ว เพื่อนำไปเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม พอนานเข้า ผู้เลี้ยงเกิดเบื่อและไม่อยากสร้างภาระเพิ่ม จึงแอบนำไปปล่อยตามแหล่งน้ำธรรมชาติและเขื่อนต่าง ๆ ซึ่งในเวลาต่อมา ปลาชะโดก็แพร่กระจายพันธุ์อย่างรวดเร็ว
ปลาชะโด เป็นปลากินเนื้อ เติบโตเร็วที่สุดในวงศ์ปลาช่อน มันอาจยาวได้ถึง 1.5 เมตร น้ำหนักถึง 20 กิโลกรัม ปลาชะโดมีความดุร้ายมาก จนชาวไต้หวันขนานนามปลาชะโดว่า “ปลาเสือ” มันดุขนาดที่ว่า ปลาตัวผู้จะทำหน้าที่ดูแลไข่และลูกอ่อน เมื่อมีสัตว์อื่นเข้ามาใกล้มันก็จะจู่โจมหรือกัดทันที ไม่เว้นแม้แต่มนุษย์
เท่านั้นไม่พอ มันมักจะแย่งอาหารสัตว์น้ำชนิดอื่น กัดปลาท้องถิ่นตาย ซึ่งสำหรับไต้หวันตอนนี้ มันกลายเป็นสัตว์น้ำเอเชี่ยนสปีชีส์เรียบร้อยแล้ว อันตรายต่อระบบนิเวศท้องถิ่น นี่จึงเป็นสิ่งที่ชาวไต้หวันกังวล เพราะเกรงว่ามันจะไล่และทำลายสัตว์น้ำท้องถิ่นของไต้หวันออกไปจนหมด
ที่มาข่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง