เกษตรกรจากจังหวัดเพชรบุรี ผุดไอเดียใหม่ จับปลาหมอคางดำมาแปรรูปเป็นน้ำปลา นอกจากจะช่วยสร้างรายได้แล้ว ยังช่วยบรรเทาปัญหาการระบาดของปลาสายพันธุ์เอเลี่ยนอีกด้วย
หากใครได้ติดตามข่าวสาร ก็อาจจะได้ยินชื่อของ ปลาหมอคางดำ ผ่านหูมาบ้าง เพราะปลาหมอคางดำเป็นปลาเอเลี่ยนสปีชี่ส์ ที่กร่อนทำลายระบบนิเวศอย่างหนักหน่วง และปัจจุบันก็ดูจะเป็นเรื่องที่สายเกินไปที่จะไปจำกัดการระบาดของมัน
เพราะขอบเขตการระบาดของเจ้าปลาชนิดนี้ ได้ลุกลามไปหลายอาณาบริเวณของประเทศไทยแล้วเช่น แม่กลอง ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และรวมถึงแถบชายฝั่งอ่าวไทยด้วย
แต่ล่าสุด ‘จิตรกร บัวดี’ เกษตรกรชาวเพชรบุรี ก็ได้ไอเดียในการนำปลาหมอคางดำที่มีอยู่มากในพื้นที่แถบนั้น มาแปรรูปเป็น น้ำปลาจากปลาหมอคางดำ และเร่ขายอยู่บริเวณชุมชน แถมยังช่วยลดจำนวนของปลาเอเลี่ยนสปีชีส์ชนิดนี้ลงอีกด้วย
เนื่องจากปลาหมอคางดำ เป็นปลาเอเลี่ยนสปีชีส์ ซึ่งเมื่อไปอยู่ที่ไหน สัตว์ระแวกนั้น หรือระบบนิเวศก็พังทลายไปหมด แต่ในมุมกลับกัน ถ้าเราสามารถนำปลาหมอคางดำ มาแปรรูปเป็นน้ำปลา และสามารถสร้างเม็ดเงินได้ ก็ถือเป็นอีกก้าวสำคัญ ที่จะเป็นแนวทางสำหรับการนำปลาที่เป็นเอเลี่ยนสปีชีส์ไปพัฒนาต่อยอดในรูปแบบต่าง ๆ ได้
จุดเริ่มต้น
จิตรกร กล่าวว่า จุดเริ่มต้นในการน้ำปลาหมอคางดำมาทำเป็นน้ำปลา มีที่มาจากพ่อและแม่ ในอดีต พ่อและแม่ได้ทำน้ำปลาเพื่อรับประทานกันเองภายในครัวเรือนอยู่แล้ว
และเนื่องจากการผลิตน้ำปลาในสมัยก่อนเป็นระบบเปิด ทำให้ในขั้นตอนการผลิต จึงมีความยุ่งยากอยู่พอสมควรเช่น เรื่องกลิ่น หรือมีแมลงจำนวนมากที่มาบินว่อนอยู่แถวบริเวณที่ผลิตน้ำปลา เขาจึงยังไม่ได้สนใจที่จะผลิตน้ำปลาใช้เอง
แต่ด้วยจำนวนของปลาหมอคางดำ ที่สามารถแพร่พันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว การเลี้ยงสัตว์ชนิดอื่น ๆ ก็พลอยล้มเหลว อีกทั้งยังส่งผลกระทบในการประกอบอาชีพอีกด้วย จึงทำให้จิตรกรหันหน้าเข้าหาปลาหมอคางดำ ที่พบได้ทั่วไปในจังหวัดเพชรบุรี แล้วนำมาแปรรูปเป็นน้ำปลา
จิตรกร กล่าวว่า ในช่วงแรก ๆ ทำกินเองก่อนภายในครอบครัว จากนั้นก็ลองไปให้บ้านใกล้เรือนเคียงชิม ให้ญาติ ๆ ชิม และระหว่างนั้นก็คอยปรับสูตรไปเรื่อย ๆ ด้วยการหาสมดุลระหว่างด้วยการปรับปริมาณเกลือและปริมาณเนื้อปลา จนกว่าจะได้รสชาติที่ถูกใจ
ได้รับการสนับสนุนจากกรมประมง
จิตรกร กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมา สำนักงานประมงจังหวัดเพชรบุรี ได้มีการประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนถึงปัญหาการระบาดของปลาหมอคางดำ จึงได้แจ้งกับทางกรมประมงไปว่า ตนได้พัฒนาน้ำปลาอยู่หนึ่งตัว ซึ่งเป็นน้ำปลาที่ทำจากปลาหมอคางดำ
ทางสำนักประมงก็เห็นแนวทางแล้วว่า น่าจะเป็นเรื่องที่ดี ถ้าน้ำปลาชนิดนี้ได้รับการส่งเสริมและผลักดัน จึงได้มีการนำน้ำปลาดังกล่าวไปตรวจหาเชื้อที่เจือปน และมีการให้ข้อมูลในเรื่องของการออกแบบผลิตภัณฑ์ จากนั้นจิตรกร ก็นำข้อมูลที่ได้รับมาไปปรับใช้ให้ตรงกับความต้องการของตนเอง
จิตรกร กล่าวเพิ่มว่า หลังจากที่ส่งน้ำปลาจากปลาหมอคางดำไปตรวจหาสารเจือปนในครั้งที่ 2 กับกรมประมง ก็ไม่พบเชื้อที่เจือปน หรือปัญหาใด ๆ ในน้ำปลา โดยขั้นตอนถัดไป ตนจะนำน้ำปลาจากปลาหมอคางดำไปขอเครื่องหมาย อ.ย. เพื่อยืนยันถึงคุณภาพให้กับน้ำปลาจากปลาหมอคางดำอีกด้วย
แม้ปลาหมอคางดำจะมีภาพจำที่ไม่ดีนัก แต่หลังจากที่จิตรกร ได้นำปลาหมอคางดำไปผ่านกระบวนการต่าง ๆ และเข้ารับการตรวจสอบแล้ว จนกระทั่งกลายมาเป็นผลิตภัณฑ์
ผลตอบรับที่ได้ ถือว่าเกินความคาดหมาย มีคนมาติดต่อขอซื้อไปลองชิม และรสชาติก็ไม่ได้แตกต่างจากน้ำปลาที่วางขายอยู่ตามท้องตลาด ถึงกระนั้น ปลาชนิดนี้ ซึ่งเป็น ปลาเอเลี่ยนสปีชีส์ ก็ยังคงถูกมองในเชิงลบอยู่ ทำให้ยังไม่มีการบริโภคในวงกว้างเท่าไร
"ปัจจุบันนี้ที่เพชรบุรี ระบบนิเวศเดิมเปลี่ยนแปลงไปแล้ว ปลาท้องถิ่นหายไปหมดแล้วเช่น ปลานิล ปลาหมอเทศ ปลาดุก หรือปลาตะเพียน มันไม่มีอยู่แล้ว" จิตรกร กล่าว
วิธีการลดจำนวนปลาหมอคางดำ
ชวนสงสัยต่อว่า ถ้าหากเราต้องลดจำนวนประชากรของปลาหมอคางดำให้น้อยลง เพื่อที่จะรักษาระบบนิเวศเอาไว้ และสัตว์อื่น ๆ ก็จะไม่ถูกระราน เราสามารถทำได้ด้วยวิธีใดได้บ้าง เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งคลุกคลีและปวดหัวกับปัญหานี้มาเป็นระยะเวลานาน มีวิธีลดจำนวนของปลาหมอคางดำดังนี้
จิตรกร กล่าวว่า วิธีลดจำนวนของปลาหมอคางดำวิธีแรกก็คือ นำไปทำเป็นอาหารเพื่อเลี้ยงปลากะพง เลี้ยงกุ้ง เลี้ยงปูทะเล หรือวิธีที่สองคือนำไปแปรรูปเป็นอาหารที่เรารู้จักเป็นอย่างดีก็คือ ปลาเค็ม หรือน้ำปลา
แต่ปัญหาก็คือ ยังไม่มีการขวนขวายที่มากพอ ที่จะไปล่าปลาหมอคางดำ เพื่อจะกำจัดก็ดี หรือเพื่อนำไปต่อยอดเป็นสิ่งอื่นก็ดี สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เมื่อชาวบ้านพบปลาชนิดนี้ในพื้นที่บ่อของตัวเอง ก็ปล่อยมันไปแพร่พันธุ์ไปตามธรรมชาติ ผลที่ตามมาทำให้ ระบบนิเวศบริเวณนั้นถูกปลาหมอคางดำทำลายไปหมด
ปัจจุบันคุณ จิตรกร บัวดี ยังไม่ได้ตั้งใจที่ขยาย น้ำปลาจากปลาหมอคางดำ ให้เป็นอุตสาหกรรมมากขนาดนั้น เขาตั้งใจจะให้เป็นธุรกิจขนาดเล็ก และดำเนินธุรกิจนี้แบบค่อยเป็นค่อยไป
หากคนในท้องถิ่นสนใจจะผลิตน้ำปลาจากปลาหมอคางดำ เขาก็ยินดีให้ข้อมูล เพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระดับชุมชนจากปลาหมอคางดำ หรือ ปลาเอเลี่ยนสปีชีส์ ที่ไม่เพียงกัดกร่อนระบบนิเวศ แต่ยังกัดกร่อนถึงสภาพทางเศรษฐกิจของคนในพื้นที่อีกด้วย