ไต้หวันสั่งช็อตไฟฟ้าปลาชะโดไทยในทะเลสาบ หลังมีคนนำเข้ามาเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม แต่เบื่อเลยแอบไปปล่อยในแหล่งน้ำ จนแพร่พันธุ์ทั่วไต้หวัน ทำปลาท้องถิ่นสูญพันธุ์
ปลาชะโดไทย กำลังกลายเป็นปัญหาใหม่และปัญหาใหญ่ในทะเลสาบไต้หวันอยู่ในขณะนี้ เนื่องจาก Radio Taiwan International รายงานเมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2566 ว่า กองการเกษตรเมืองหนานโถวของไต้หวัน ได้จัดเจ้าหน้าที่พร้อมอุปกรณ์ช็อตไฟฟ้า ออกไปกำจัดปลาชะโดในทะเลสาบสุริยันจันทรา
โดยในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ได้ออกปฏิบัติการแล้ว 4 ครั้ง จับปลาชะโดไทยได้กว่า 7,000 ตัว แต่นั่นยังไม่เพียงพอ เพราะตอนนี้ปลาชะโดได้ขยายพันธุ์ไปเยอะมากแล้ว จนล่าสุดทำปลาท้องถิ่นสูญพันธุ์ไปแล้วด้วย
ปลาชะโดเป็นปลากินเนื้อที่ใหญ่ที่สุด มีความดุร้าย และประสิทธิภาพในการเติบโตเร็วที่สุดในวงศ์ปลาช่อน โดยมันสามารถยาวได้ถึง 1.5 เมตร มีน้ำหนักถึง 20 กิโลกรัม
โดยในฤดูร้อนนี้ เดือนกรกฎาคมไปจนถึงเดือนกันยายน มักจะเป็นฤดูผสมพันธุ์ ซึ่งจะทำให้มันดุร้ายมากขึ้น จนชาวไต้หวันขนานนามปลาชะโดว่า “ปลาเสือ”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เพนกวินมาเจลลันตายเกยหาดในอุรุกวัยนับพันตัว สภาพซูบผอม คาดขาดแคลนอาหาร
ต้องรู้จัก ถึงรักเสือ คุยกับคนหลังบ้านเพจตามติดชีวิตเสือโคร่งป่าตะวันตก
เยลโลว์สโตน อากาศร้อนทำคนหนีเข้าป่า และคุกคามวัวไบซันมากขึ้น
มันดุขนาดที่ว่า ปลาตัวผู้จะทำหน้าที่ดูแลไข่และลูกอ่อน เมื่อมีสัตว์อื่นเข้ามาใกล้มันก็จะจู่โจมหรือกัดทันที ไม่เว้นแม้แต่มนุษย์
เท่านั้นไม่พอ มันมักจะแย่งอาหารสัตว์น้ำชนิดอื่น กัดปลาท้องถิ่นตาย ซึ่งสำหรับไต้หวันตอนนี้ มันกลายเป็นสัตว์น้ำเอเชี่ยนสปีชีส์เรียบร้อยแล้ว
นักวิจัยข้อมูลและโครงสร้างชีวภาพ มหาวิทยาลัยชิงหัว (NTHU) ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เมื่อประมาณ 20 ปีก่อน มีชาวไต้หวันนำปลาชนิดนี้เข้ามาจากประเทศไทย หวังจะเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม พอนานเข้า ผู้เลี้ยงเกิดเบื่อหน่ายไม่อยากสร้างภาระในการเลี้ยง จึงแอบไปปล่อยตามแหล่งน้ำธรรมชาติ และเขื่อนต่าง ๆ ซึ่งตอนนี้ก็เห็นผลแล้วว่า มันสร้างปัญหาให้ระบบนิเวศมากขนาดไหน
ปัจจุบัน เราสามารถพบเห็นปลาชะโดตัวอ่อนได้ถึง 30-40% ในแหล่งน้ำธรรมชาติทั่วไต้หวัน แต่แหล่งน้ำที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด คือทะเลสาบสุริยันจันทรา แม้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะร่วมกันออกกำจัดปลาชะโด ด้วยการช็อตไฟฟ้ามาตั้งแต่ปี 2563
ซึ่งในปีนั้นสามารถจับปลาชะโดลูกอ่อนได้กว่า 8,000 ตัว ละปีต่อมาก็เพิ่มเป็น 34,000 ตัว และในปี 2565 เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศหรือโลกที่ร้อนขึ้น ทำให้ปลาชะโดแพร่พันธุ์ช้า เลยจับได้น้อยลง เหลือเพียง 15,000 ตัว
ส่วนในปีนี้ ฝูงลูกอ่อนปลาชะโดจำนวนมากเริ่มออกมาแหวกว่ายหากิน ตั้งแต่ปลายเดือนมิ.ย. จึงต้องเริ่มทำการกำจัดตั้งแต่ต้นเดือนก.ค.ที่ผ่านมา สัปดาห์ละ 1 ครั้ง ซึ่งตอนนี้ทำไปแล้ว 4 ครั้ง จับได้แล้วกว่า 7,000 ตัว ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่คาดว่า กระบวนการกำจัดที่ยาวนานไปจนถึงเดือนต.ค. นี้ จะจับได้กว่า 30,000 ตัว